ธุรกิจโรงแรมขนาดเล็กมักประสบปัญหาในเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพราะมีอุปสรรคมากมายทั้งความเข้าใจที่ไม่ตรงกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ และข้อติดขัดในเรื่องกฎระเบียบที่กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ ทำให้โครงการโรงแรมที่พักหลายแห่งเสียโอกาสตั้งแต่ยังไม่เริ่มโครงการ ในขณะเดียวกันข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์ที่แจ้งเรื่องนโยบายการสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อม แต่ในภาคปฎิบัติจริง ๆ เมื่อไปติดต่อกับธนาคารพาณิชย์ กลับไม่สามารถให้คำตอบ และแนวทางที่ชัดเจนได้เพราะขาดความเข้าใจในวงจรธุรกิจของโรงแรมที่พัก และก็ถูกกำกับการดำเนินธุรกิจอย่างเข้มงวดจากธนาคารแห่งประเทศไทย จะเห็นว่าความติดขัดนั้นเกิดขึ้นเป็นทอด ๆ ต่อกันมา และโยงกันไปจนยากที่จะขยับ
บทความนี้จึงอยากนำเสนอเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องจังหวะและเวลาในการทำธุรกิจของโรงแรม ในขณะเดียวกันทางฝั่งธนาคารพาณิชย์ก็จะได้เพิ่มช่องทางในการสร้างธุรกิจในแนวทางที่สนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อมตามโฆษณาที่ออกมา เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กสามารถเดินก้าวต่อไปได้
วงจรธุรกิจโรงแรม
เริ่มตั้งแต่ผู้ลงทุนหรือเจ้าของโครงการต้องการที่จะทำโครงการโรงแรมที่พัก ซึ่งแต่ละโครงการก็มีสัดส่วนเงินลงทุนระหว่างเงินของตนเอง กับส่วนที่ต้องการสนับสนุนเพิ่มเติมที่แตกต่างกัน ซึ่งการประมาณการและทำตัวเลขของโครงการนั้น มักจะขาดในส่วนของการเตรียมการก่อนเปิดโรงแรม ซึ่งไม่ใช่แต่เฉพาะในส่วนของอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ หากแต่กิจกรรมทางการตลาดและการขายที่รออยู่เพื่อทำให้โครงการสามารถเปิดตัวให้เป็นที่รู้จักได้ก็รออยู่อีกมากมายเช่นกัน
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการที่ธนาคารพาณิชย์จะสามารถเข้ามาให้การสนับสนุนได้ ได้แก่
-
เงินลงทุนค่าก่อสร้าง
– ธนาคารสามารถสนับสนุนเงินกู้ระยะยาว แบ่งจ่ายตามงวดงาน พร้อมระยะปลอดเงินต้น (Grace Period) ให้กับโครงการได้
– การกำหนดงวดผ่อนชำระ ให้คำนึงถึงประมาณการรายได้ตามฤดูกาลท่องเที่ยว เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจของโรงแรม ไม่ใช่ กำหนดการผ่อนชำระเป็นแบบอัตราเดียวเท่ากันทั้งปี เพราะในบางจังหวัดท่องเที่ยว ฤดูท่องเที่ยวกับฤดูมรสุม อาจแบ่งเป็นฤดูละ 6 เดือน หรือบางแห่งก็ฝน 8 แดด 4 กันเลยทีเดียว ดังนั้น การกำหนดการผ่อนชำระแบบคงที่ทำให้ภาระของผู้ประกอบการมีปัญหาในช่วงฤดูกาลที่ไม่ใช่ฤดูกาลท่องเที่ยว หรือในช่วงโลว์ซีซั่น
2. การเตรียมการเปิดโรงแรม มีตั้งแต่การจัดซื้ออุปกรณ์ทางด้านไอทีต่างๆ ระบบจัดการบริหารโรงแรม (PMS) ไปจนถึงอุปกรณ์เครื่องใช้ของแต่ละแผนก ไปจนถึงเรื่องการเตรียมงานด้านการขายและการตลาด ซึ่งมีตั้งแต่การออกแบบสิ่งพิมพ์ ค่าสั่งพิมพ์ สื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ การออกเดินทางไปเปิดตลาดการขายในต่างประเทศ การเจรจาธุรกิจตามประเทศต่างๆ เพื่อดึงลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการ ซึ่งในส่วนนี้มีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงพอสมควร
– ธนาคารสามารถเข้ามาช่วยเสริมสภาพคล่องได้ ไม่ใช่แต่มุ่งจะให้ลูกค้าใช้แต่วงเงินเบิกเงินเกินบัญชี หรือ O/D (Overdraft line) แต่สามารถกำหนดเป็นวงเงินระยะสั้นเพื่อช่วยเหลือได้ คือธนาคารควรทบทวนว่าการที่ทำให้ลูกค้าเปิดให้บริการได้ ธนาคารก็จะได้รับชำระหนี้ตรงตามเงื่อนไขเช่นกัน
– การเปิดบัญชีพนักงานให้กับโรงแรม พร้อมเงื่อนไขอื่นๆที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการโอนจ่ายเงินเดือนของเจ้าของกิจการให้พนักงาน เช่น เรียกเก็บค่าโอนในอัตราที่เหมาะสมต่อการโอนแต่ละครั้ง (Transaction Fee) เพราะค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เกิดขึ้นเป็นประจำทุกเดือน เท่ากับว่าธนาคารจะได้รายได้จากค่าธรรมเนียมจากโรงแรมในส่วนนี้ทุกเดือน นอกจากนี้ การให้บริการบัตร ATM ก็ควรนำเสนอบัตรที่มีราคาย่อมเยาเหมาะกับพนักงานทุกระดับชั้น บางธนาคารเล่นเสนอแกมบังคับให้จ่ายค่าบัตรคนละ 300-450 บาท อันนี้พนักงานระดับล่าง (Ranked & File) ก็ลำบากเกินไป เพราะจริงๆแล้วความต้องการของพนักงานคือแค่ใช้กดถอนเงินเป็นหลักใหญ่ จึงไม่มีความจำเป็นในส่วนอื่นๆ
3. ช่วงเปิดให้บริการแล้ว ซึ่งต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อเสริมสภาพคล่องในกรณีที่ตัวเลขอัตราการเข้าพักไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
– ในส่วนนี้อยากแนะนำให้ธนาคารบริหารจัดการจากตัวเลขการคาดการ์ณรายรับในอนาคต และนำมาประเมินใช้เหมือนเป็นหลักประกันประเภทสินค้าคงคลังในธุรกิจอื่นๆ เช่น หากดูตัวเลขการคาดการ์ณในอีก 3 เดือนข้างหน้า มีอัตราเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 65% รออยู่แล้ว ธนาคารอาจคิดออกมาในอัตรา 70-80% ของจำนวนการจองที่มีอยู่ (On the Book) และตีออกมาเป็นเงินเพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องก็ได้ ซึ่งหากทำได้เช่นนี้จะทำให้ได้ประโยชน์ทั้งสองทาง คือทางผู้ประกอบการก็ต้องเร่งหาธุรกิจล่วงหน้า เพราะรู้ว่าสามารถนำมาใช้ประโยชน์เป็นเงินทุนหมุนเวียนได้ และถ้าหากธนาคารไม่มั่นใจว่าเงินที่ได้จากการจองห้องพักจะไม่เข้ามาชำระหนี้ ก็สามารถแบ่งสัดส่วนทำเป็นตัดเข้าบัญชีโดยตรงเพื่อชำระหนี้ได้ คล้ายกับการทำ Escrow account คือมีทางเลือกและขยับให้ผู้ประกอบการได้หายใจหายคอกันบ้าง
สำหรับในเรื่องใบอนุญาต
ตั้งแต่มีการประกาศบังคับใช้กฎกระทรวงกำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2559 ผู้ประกอบการโรงแรมที่พักหลายแห่งก็เร่งดำเนินการติดต่อหน่วยงานในเขตพื้นที่ที่ตั้งโรงแรมเพื่อดำเนินการขอใบอนุญาตให้เรียบร้อย บางแห่งก็ไปติดต่อแล้วแต่ยังไม่ได้ความกระจ่าง เนื่องจากเป็นกฎระเบียบใหม่ ยังไม่มีแนวทางที่ปฏิบัติที่ชัดเจน ในส่วนนี้ก็ทำให้โครงการล่าช้าไปอีกเช่นกัน
ในแง่แหล่งเงินทุนจากธนาคารแล้ว ผู้ประกอบการก็เข้าใจว่าทุกธนาคารพาณิชย์ต้องอยู่ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทยในการปล่อยสินเชื่อทุกประเภท หากไม่มีใบอนุญาตที่ถูกต้องก็มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นหนี้ที่มีปัญหาได้ ในข้อนี้ก็ถือเป็นมาตรการการป้องกัน
แต่อย่างไรก็ดี ทางธนาคารพาณิชย์ที่หากต้องการสนับสนุนธุรกิจ SME สายโรงแรมเพื่อสนับสนุนการเติบโตของการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศเราจริงๆ ก็ควรจะทำแนวทางเลือกเพื่อนำเสนอธนาคารแห่งประเทศไทย และยังได้สร้างแรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการด้วย เช่น
– หากโรงแรมได้มีเอกสารยืนยันว่าได้ทำเรื่อง และยื่นขอใบอนุญาตเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ได้รับใบอนุญาต สามารถปล่อยสินเชื่อให้ได้ จะปล่อยในสัดส่วนเท่าไหร่ก็แล้วแต่จะพิจารณาในเรื่องหลักประกันและตัวเลขความเป็นไปได้ของธุรกิจ หรือประมาณการ์ณรายได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
– หากโรงแรมได้มีใบอนุญาตโรงแรมแล้ว หรือใบอนุญาตใช้อาคารเพื่อการเข้าพักอาศัยแล้ว ก็สามารถสนับสนุนได้อย่างเต็มที่
บางครั้งธนาคารพาณิชย์ก็อาจต้องบริหารเรื่องระยะเวลา (Lead time) ของการติดต่องานราชการ กับความจำเป็นบนความเป็นจริงของการทำธุรกิจเข้าด้วยกัน และบริหารความเสี่ยงในส่วนหลักประกัน และเงื่อนไขการผ่อนชำระไป
การทำความเข้าใจปัจจัยต่างๆ ให้ครบถ้วน บนพื้นฐานของการเดินหน้าไปด้วยกัน จะ WIN-WIN ด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์ ไม่เพียงแต่ธนาคารจะมียอดหนี้ที่มีปัญหา (Non-Performing Loans) เพิ่มมากขึ้น แต่ตัวธุรกิจขนาดเล็กเองก็จะค่อยๆต้องออกไปจากธุรกิจทีละรายสองรายไปเรื่อยๆ เช่นที่เราเห็นประกาศขายโรงแรมในปัจจุบันที่มีออกมามากมาย
ช่วยกันทำให้คำว่า “สนับสนุนธุรกิจ SME” เป็นรูปธรรมกันจริงๆ ดีกว่า