เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว ประเดี๋ยวเดียวก็จะสิ้นเดือนอีกแล้ว แต่ทำไม….
+ ยอดจองห้องพักถึงได้ขยับตัวช้าจังเลย
+ ทำไมไม่มีบุ๊กกิ้งเข้ามาเลย
+ ลูกค้าหายไปไหนกันหมด
แล้วจะทำอย่างไรกันดี???
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจธรรมชาติของ Last Minute Booking หรือการจองห้องพักนาทีสุดท้าย กันก่อนว่าเป็นอย่างไร?
เรื่องนี้เป็นประเด็นที่โยงกับพฤติกรรมของลูกค้าที่มีหลากหลาย ขึ้นอยู่กับสถานการ์ณ ความชอบ นิสัยส่วนตัว และสภาพอากาศที่เป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ กล่าวคือ ลูกค้าบางคนมักไม่ชอบการวางแผนการเดินทางล่วงหน้า โดยเฉพาะถ้าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่ใกล้กรุงเทพในระยะขับรถไม่เกิน 3 ชั่วโมงก็ถึง อาจจะมีกรณีที่มีการจองห้องพักนาทีสุดท้ายก็เป็นได้ หรือบางครั้งมีความจำเป็นจริงๆ มีเหตุฉุกเฉินต้องไปในพื้นที่นั้น หรือมีการจองห้องพักให้เพื่อนหรือญาติที่บอกมากระทันหัน เป็นต้น
นอกจากนี้ประเด็นในเรื่องสถานที่ตั้ง หรือทำเลที่ตั้งของโรงแรมที่พัก ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้เกิดโอกาสที่จะมีการจองห้องพักนาทีสุดท้ายเช่นกัน เช่น หากโรงแรมที่พักของคุณตั้งอยู่ติดถนน ใจกลางเมือง การเดินทางสะดวก โอกาสที่จะมีการจองห้องพักในนาทีสุดท้ายก็ย่อมมีมากกว่า ที่พักที่ตั้งอยู่บนเกาะ ที่ต้องอาศัยการเดินทางหลายทอดกว่าจะเดินทางไปถึง และยังขึ้นกับตารางการเดินเรือ เพราะฉนั้นโอกาสที่จะเกิดการจองนาทีสุดท้าย ประเภทจองเช้า เข้าพักเย็น ย่อมเกิดได้ยากกว่า
คราวนี้ย้อนกลับมาดูทางฝั่งโรงแรม คุณในฐานะผู้บริหารจัดการ หรือเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องการจองห้องพัก เคยเก็บสถิติบ้างหรือไม่ว่า มียอดการจองประเภทนาทีสุดท้ายนี้มากน้อยอย่างไร คิดเป็นเปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับยอดจากจองห้องพักรวมในแต่ละเดือนเป็นเท่าไหร่ มีใครมียอดจองประเภทนี้เกิน 5% บ้าง?
และคุณกำหนดอัตราการเข้าพักของราคาห้องพักประเภทนี้อย่างไร ? สูงกว่าหรือต่ำกว่าราคาขายทั่วไป ควรกำหนดเงื่อนไขการจองอย่างไร ? เหตุผลของคุณคืออะไร
ประเด็นนี้ ควรกลับมาพิจารณาถึงข้อเท็จจริงว่า
- คนที่จองล่วงหน้า ควรได้สิทธิประโยชน์และราคาที่ดีกว่าคนที่จองนาทีสุดท้ายหรือไม่ ? เพราะอะไร?
- คนที่จองล่วงหน้า ช่วยโรงแรมในการบริหารจัดการห้องพักหรือเปล่า
- คนที่จองล่วงหน้า ช่วยให้โรงแรมมีรายรับที่แน่นอนล่วงหน้าหรือไม่
- ระยะเวลาในการปล่อยห้องพักของคุณเป็นอย่างไร (Lead time) ปกติระยะเวลาจองห้องพักเฉลี่ยของโรงแรมที่พักของคุณเป็นอย่างไร เช่น เฉลี่ยจองล่วงหน้า 30 วันประมาณ 20% จองล่วงหน้า 15 วัน 25% จองล่วงหน้า 7 วัน 30% เป็นต้น ช่วงระยะเวลานี้จะเป็นตัวกำหนดว่าคุณจะกำหนดระยะเวลาที่จะเข้าข่าย “การจองนาทีสุดท้าย” เป็นกี่วัน เช่น Last Minute ของโรงแรมแบบคุณอาจเป็น 3 วัน ที่พักอีกประเภทอาจเป็น 1 วันล่วงหน้า เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการปล่อยห้องพักขายต่อภายในระยะเวลาที่แตกต่างกัน
- เงื่อนไขการชำระเงินสำหรับห้องพักประเภทนี้ ควรเรียกชำระเงินทันที
เพราะฉนั้น จากที่อธิบายมาข้างต้น สัดส่วนของการจองห้องพักประเภทนี้ มีน้อยมาก ๆ ดังนั้น แทนที่โรงแรมจะมานั่งโวยวายหรือวิตกกังวลว่าเหลือเวลาอีก 15 วันจะสิ้นเดือน ยังไม่มีการจองเข้ามานั้น ควรหันกลับไปเริ่มใหม่ในการทำการตลาดล่วงหน้า จบการขายล่วงหน้าให้ได้จะดีกว่า ไม่ใช่มาหวังว่าจะทำอย่างไรกับยอดจองในนาทีสุดท้าย
- ทุกอย่างมีระยะเวลาของแต่ละกิจกรรม ไม่ใช่คิดลงมือทำวันนี้ จะเห็นผลวันนี้
- ระยะเวลาหรือ Lead Time นั้น ไม่ใช่เราจะควบคุมได้เสมอไป เพราะขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของผู้บริโภค เราอาจกระตุ้นได้นิดหน่อยจากราคาและเงื่อนไขการจอง และการชำระเงินที่น่าสนใจ
- โรงแรมควรสร้างจุดยืน และสร้างการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างโรงแรมและลูกค้าถึงประโยชน์ และข้อดีของการจองห้องพักโดยตรง และล่วงหน้ากับทางโรงแรม
คำตอบสุดท้ายสำหรับเรื่องนี้คือ ทำงานแบบมองภาพรวมไปข้างหน้า อย่าทำอะไรนาทีสุดท้าย