ถ้าเขียนติดกันแบบนี้ “handover” จะหมายถึงการยื่นส่งของสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ เช่น ยื่นกุญแจให้อีกคนหนึ่งแต่ถ้าเขียนแยกกันแบบนี้ “hand over” จะหมายถึงการส่งมอบความรับผิดชอบให้บุคคลอีกคนหนึ่ง คราวนี้มันก็ขึ้นอยู่กับว่า “การส่งมอบ” ของคุณเป็นแบบไหน และต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้างที่ต้องนำมาพิจารณา
การส่งมอบงาน ส่งต่องานให้บุคคลอื่นที่จะมารับผิดชอบงานต่อ หากจะยกตัวอย่างอาจแยกออกเป็น 3 ระดับเพื่อให้เห็นภาพชัดเจน กล่าวคือ
- ส่งมอบในระดับนโยบาย
- ส่งมอบในระดับกำกับควบคุมงาน
- ส่งมอบในระดับปฏิบัติงาน
สิ่งที่เรามักจะเห็นกันชัดเจน ได้แก่ การส่งมอบงานก่อสร้างโครงการ เมื่อมีการก่อสร้างแล้วเสร็จ ซึ่งมีการเดินตรวจงานร่วมกันระหว่างผู้รับเหมาและเจ้าของโครงการหรือตัวแทนที่ได้รับมอบหมายเพื่อดูว่างานออกมาตามสัญญาหรือไม่อย่างไร รวมไปถึงการทดสอบการใช้งานต่างๆในห้องพัก ห้องน้ำ และบริเวณต่างๆ เช่น ไฟส่องสว่างเปิดปิดได้หรือไม่ วาล์วน้ำแต่ละจุดสามารถใช้งานได้จริงหรือไม่ การติดตั้งพัดลมดูดอากาศ ระบบการระบายอากาศ ระยะทางลาดเอียงได้องศาหรือไม่ วงกบประตูหน้าต่างเรียบร้อยติดสนิทไม่มีช่องว่าง ระบบบำบัดน้ำเสีย ปั๊มน้ำ ระบบสำรองไฟฟ้า เป็นต้น หากงานไม่เรียบร้อย โดยปกติตามสัญญาก็จะมีระยะรับประกันผลงานที่ผู้รับเหมาจะต้องมาจัดการแก้ไขงานให้เรียบร้อยตามกำหนด ก่อนที่จะได้รับเงินประกันตามสัญญากลับคืน
คราวนี้มาดูในส่วนของการส่งมอบงานบริหารจัดการของโรงแรม ในกรณีที่มีการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา หรือผู้บริหารมาบริหารงานโรงแรมบ้าง ว่าควรจะส่งมอบงานกันอย่างไร
โดยหลักแล้ว การส่งมอบงานระหว่างผู้บริหาร ต่อผู้บริหาร มักจะเป็นการส่งมอบในเรื่องของนโยบาย ทิศทางและแผนธุรกิจที่ได้วางไว้ เพื่อให้เห็นภาพว่าธุรกิจจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรตามแผนงานที่ได้วางไว้ ส่วนเมื่อเจ้าของโครงการรับไปแล้วจะไปดำเนินการตามแผนต่อหรือไม่ อย่างไร อันนั้นขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของเจ้าของแต่ละคน
ในระดับกำกับควบคุมงาน เช่น ระดับผู้จัดการต่อผู้จัดการ ก็จะมีการส่งมอบแผนปฏิบัติการ รายงานต่างๆ ตัวเลขในรายงาน สิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้ว สิ่งที่ดำเนินการอยู่แต่ยังปฏิบัติไม่แล้วเสร็จ และแผนงานที่วางไว้ว่าจะดำเนินงาน พร้อมรายการติดต่อและโต้ตอบทางธุรกิจ
ในระดับปฎิบัติงาน ก็จะเป็นระดับปฎิบัติงานจริงๆ กล่าวคือ วิธีปฏิบัติงานตามมาตรฐานการทำงาน (SOP : Standard Operating Procedure) เครื่องมือ เครื่องใช้ อุปกรณ์ต่างๆ สต๊อกสินค้า วัตถุดิบที่ใช้งาน วิธีการทำงานร่วมกับแผนกอื่นๆ เช่น การจัดซื้อ การรับของ การเก็บของ การโอนของ
ถ้าเราสามารถแยกการส่งมอบงานได้เป็น 3 ระดับดังกล่าวข้างต้น การส่งมอบ ส่งต่องานก็จะครบถ้วน แต่ปัญหาที่มักเกิดขึ้นเมื่อมีการส่งมอบงานก็คือ เจ้าของโครงการที่ไม่เคยมีประสบการ์ณในการทำงานในธุรกิจโรงแรม และต้องเข้ามานั่งบริหารงานเลยโดยที่ไม่ทราบวิธีปฏิบัติหรือขั้นตอนการทำงานขององค์กร และไม่เคยเข้ามานั่งสังเกตุการ์ณวิธีการทำงานของทีมงานเพื่อให้เห็นภาพในแต่ละส่วน หรือเพิ่งจบการเรียนภาคทฤษฎีมาหมาดๆ กำลังไฟแรง ตามตำราต้องทำแบบนี้แบบนั้น ยังประยุกต์ไม่เป็น เมื่อต้องเข้ามาปฏิบัติงานจริง จึงมักจะเกิดปัญหา และยิ่งเป็นกรณีธุรกิจของครอบครัว และมีสมาชิกในครอบครัวร่วมบริหารงาน ปัญหาก็จะมีให้เห็นมากขึ้น เช่น
- การสั่งงานซ้ำซ้อน เจ้านายคนหนึ่งต้องการแบบหนึ่ง พอเจ้านายอีกคนหนึ่งก็ต้องการอีกแบบหนึ่ง พนักงานไม่รู้ว่าจะต้องทำตามคำสั่งใคร ใครสั่งอะไรก็ต้องทำตามหมด ปฏิเสธไม่ได้ เพราะเป็นเจ้าของ เป็นลูกเจ้าของ เป็นญาติเจ้าของ เป็นหลานเจ้าของ และในสมาชิกครอบครัวทั้งหมดก็อาจจะไม่ได้หารือกันมาก่อนว่าจะทำอย่างไรในทิศทางใด จึงทำให้เมื่อแต่ละคนเข้ามาที่โครงการ จึงสั่งงานกันไปคนละทิศ คนละทาง
- สไตล์การทำงานที่ไม่สอดคล้องกับประเภทของธุรกิจและตำแหน่งทางการตลาด อันที่จริง สไตล์การทำงานไม่ได้เป็นประเด็นอะไร เพราะต่างคนต่างสไตล์การทำงาน ขอเพียงแต่เดินทางไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ก็พอ แต่ในทางปฎิบัติมักไม่เป็นเช่นนั้น เพราะการเรียงลำดับความสำคัญของงานของแต่ละคน แตกต่างกัน ถึงจะเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน แต่บางคนก็มองว่างานนี้เร่งด่วนกว่างานนั้น เพราะตนเองไม่รู้ว่าจริงๆแล้วกว่าจะได้งานนี้ จะต้องทำงานโน้นให้แล้วเสร็จก่อน เป็นต้น
- ไม่รู้และไม่ถาม ด้วยความถือทิฐิว่า “ฉันเป็นเจ้าของ ฉันจะเอาแบบนี้แหละ” เมื่อไม่ถาม ก็มีปัญหาแน่นอน เพราะอาจไปทำลายระบบงานบริการที่ควรจะเป็น ที่เป็นแนวทางปฏิบัติงานของทีมให้บริการ เพื่อให้สามารถตรวจสอบกันได้ระหว่างแผนก ปัญหานี้พบเห็นบ่อยทีเดียว
- มารยาทในการสื่อสารกับพนักงาน คือ การที่คุณเป็นเจ้าของ หรือผู้บริหาร ไม่ได้ให้สิทธิ์คุณในการที่จะปฏิบัติไม่ดีกับพนักงานที่คุณเป็นคนจ่ายเงินเดือน แต่บางครั้งรูปแบบการทำงานในระบบครอบครัว มักมองข้ามจุดนี้ไป เพราะถูกหล่อหลอมวิธีคิด วิธีปฏิบัติมาแบบนี้ จึงทำให้มาแสดงออกกับพนักงานในแบบที่ไม่สมควร หรืออาจถึงขั้นไม่มีมารยาท กรณีนี้ก็มีให้เห็นเช่นกัน ผลลัพธ์ที่ได้ ก็แน่นอน พนักงานก็ลาออกไปทำงานที่อื่น เพราะทุกคนมีสิทธิ์เลือก
ปัญหาการส่งมอบ การส่งต่อ และการเปลี่ยนผ่านที่คลาสิคที่สุดคือ การส่งต่องานจากรุ่นหนึ่ง ไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง บางโครงการมีการเปลี่ยนผ่านที่ราบรื่น บางโครงการมีการเปลี่ยนผ่านที่สะดุดติดขัด กระทบกับการดำเนินงาน ไปจนถึงสั่นคลอนความมั่นใจของพนักงานและทีมงานในโรงแรม จนถึงขั้นต้องขอลาออก ถ้าหากมีคนเก็บสถิติการลาออกในช่วงการเปลี่ยนผ่านธุรกิจ น่าจะเห็นตัวเลขชัดเจนบ้างไม่มากก็น้อย
ความจริงแล้ว การส่งต่องานจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง มีอยู่ 2 ปัจจัยที่กระทบต่อการทำงานคือ “ความไม่มั่นใจ” กับ “ความเป็นห่วง” มีแค่ 2 ข้อนี้จริงๆ
ฝั่งที่แสดงออกถึงความไม่มั่นใจ ก็จะไม่ยอมปล่อย เพราะไม่คิดว่ารุ่นลูกตัวเองจะทำได้ หรือบ้างก็ยังยึดติดว่า “สมัยก่อนชั้นทำแบบนี้ ชั้นก็อยู่รอดมาได้ ทำไมจะต้องมาลงทุนทำอะไรโน่นนี่ให้มากมาย” อันนี้ก็ต้องขอบอกเลยว่า ยุคสมัยมันเปลี่ยนไปแล้ว และเปลี่ยนไปมากจริงๆ หากยังทำธุรกิจในแบบเดิมๆ บนเวทีแข่งขันที่มีความเข้มข้นขึ้น การที่คุณจะได้ลูกค้าก็จะยากมากขึ้น
ส่วนฝั่งที่แสดงออกถึงความเป็นห่วง อันนี้ก็คงต้องขอให้แปลงความเป็นห่วงเป็นการทำหน้าที่เป็น “ที่ปรึกษา” ให้ลูกๆหลานๆ เมื่อยามที่เขาต้องการคำปรึกษา หรือต้องการมุมมองจากรุ่นพ่อแม่ การทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาที่ดี แปลว่า ลูกๆหลานๆ สามารถเข้ามาขอคำแนะนำได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องกลัวว่าจะโดนว่า โดนตำหนิ
ถ้าทั้งสองฝั่ง สองรุ่น สองเจนเนอเรชั่น ทำงานร่วมกันได้ มีการวางกรอบกันไว้กว้างๆ ทิศทางธุรกิจชัดเจน งบประมาณชัดเจน ตัวชี้วัดผลชัดเจน ก็ต้องปล่อยให้รุ่นที่มารับมอบงานได้ทดลองทำงานกันไป และดูอยู่ห่างๆ ผ่านทางรายงานประจำเดือน ประจำไตรมาส หรือหากยังต้องเซ็นต์เช็คอนุมัติการสั่งจ่ายอยู่ในบางรายการ คุณก็จะได้เห็นความเคลื่อนไหวของธุรกิจอยู่แล้ว จึงไม่ควรจะต้องกังวลใจ
ส่วนฝั่งที่ได้รับมอบหมายความรับผิดชอบใหม่ ก็อย่าเพิ่งผลีผลามทำอะไรด้วยความรวดเร็วจนเกินไป หรือรวดเร็วจนไม่ได้มองปัจจัยรอบๆอื่นๆ หรือไม่ได้คำนึงถึงผลที่จะตามมา ต้องอย่าลืมว่า “ทุกการกระทำ มีผลของการกระทำนั้นเสมอ” เพราะฉนั้น เมื่อเกิดอะไรขึ้น อย่าไปโทษใคร ให้ย้อนกลับมาที่ตัวเราเสมอว่า เพราะว่าเราทำอะไรลงไป เราถึงได้รับผลเช่นนั้น
ความจริง คือ ความจริง เสมอ
ลองปรับจูนกันใหม่ เชื่อว่าทุกโครงการมีทางออกเสมอ
โชคดีค่ะ