ปรากฎการ์ณกระแสจากละคร บุพเพสันนิวาส มาแรงและเร็วและกินพื้นที่ในทุกวงการทีเดียวในช่วงนี้ จากการออกอากาศมาเพียง 5 ตอนมีผลตอบรับที่ดีมากๆ เรียกได้ว่า ใครไม่พูดถึงละครเรื่องนี้ ถือว่าตกเทรนด์ทีเดียว
อันที่จริงการแสดงออกของผู้ชมมีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ละครเรื่องนี้ออกอากาศ และระหว่างที่ละครออนแอร์ทุกตอนเราก็จะได้เห็นปฎิกิริยาของโลโซเชียลทั้งในด้านผู้ชมที่มีความรู้สึกร่วม และในด้านแบรนด์ที่จับโอกาสในช่วงนี้ในการสื่อสารกับลูกค้าเช่นเดียวกัน
เช้านี้ตื่นมาลองเข้าไปเช็คในโลก Twitter พบว่ามีการใช้แฮชแทค #บุพเพสันนิวาส มากถึง 1.5 ล้านทวีตทีเดียว ติดอันดับ 1 ในหัวข้อ Trend for you
ส่วนใน Facebook แน่นอนว่าบ้านเรามีผู้ใช้งานมากถึง 46 ล้านคน ปฏิกิริยาย่อมรุนแรงและกินวงกว้างมากๆ เรียกได้ว่าแทบจะทุกวงการที่มีสินค้าและบริการที่จะสามารถโยงกับเนื้อหาในละครได้ ไม่มีใครพลาดที่จะนำเสนอ ตั้งแต่ มะม่วงน้ำปลาหวาน กุ้งแม่น้ำย่าง หมูกะทะ และจะมีสินค้าอื่นๆต่อเนื่องมาอีกแน่นอน
ตัวอย่างที่เกิดขึ้น เช่น
+ เพจที่เกี่ยวกับเรื่องกิน เช่น maeban (แม่บ้าน) ซึ่งเป็นสื่อที่รวมความรู้ในเรื่องการทำกับข้าวและเคล็ดลับต่างๆ นำเสนอสูตรน้ำปลาหวาน ต่อมาก็เป็น wongnai – cooking ที่แตกออกมาจาก wongnai ก็นำเสนอสูตรการทำน้ำปลาหวานเช่นเดียวกัน
+ เพจร้านสะดวกซื้อ Seven-Eleven นำเสนอชุดมะม่วงน้ำปลาหวานที่มีจำหน่ายในร้าน
+ เพจให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัย Street Hero Project นำวิธีการช่วยเหลือชีวิตด้วยวิธี CPR มาทำในเวอร์ชั่น แม่หญิงการะเกด และพี่หมื่น
+ เพจสาระความรู้ สำนักพิมพ์ และห้องสมุดตามสถาบันต่างๆ นำเสนอหนังสือที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บางเพจมีรายการหนังสือ สรุปเนื้อหาย่อ พร้อมลิงก์เชื่อมโยง เรียกได้ว่าครบถ้วนทีเดียว
+ ร้านอาหาร เช่น บาร์บีคิวพลาซ่า ย่อมไม่พลาดโอกาสนี้แน่นอน กับการนำเสนอสินค้าเด่นของร้านคือหมูกะทะ
+ ร้านค้า เช่น Foodland Supermarket ยังเกาะกระแสนำเสนอว่าที่ฟู้ดแลนด์ก็มีน้ำปลาหวานขายนะ ในราคาพิเศษด้วยเช่นกัน
สิ่งที่อยากชวนให้ตั้งข้อสังเกตจากการแสดงออกของแต่ละแบรนด์ที่เกิดขึ้นบนโลกโซเชียล คือ
-
ความรวดเร็ว – ความรวดเร็ว สะท้อนการมอบหมายงาน การให้อำนาจในการบริหารจัดการสื่อโซเชี่ยล และไหวพริบในการทำงานของแอดมินเพจว่าสามารถใช้และสร้างโอกาสในการสื่อสารเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) กับลูกค้าภายใต้เวลาที่จำกัดอย่างรวดเร็ว
-
ข้อความที่ใช้สื่อสาร – ข้อความที่ใช้สื่อสาร สะท้อนการทำงานภายใต้กรอบแนวคิดหลัก หรือคอนเซ็ปต์ของสินค้าและบริการเจ้าของแบรนด์นั้นๆ รวมทั้งกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักที่แบรนด์ต้องการสื่อสาร เพราะภาษาที่ใช้ การเรียบเรียงข้อความ หรือสไตล์การเขียน
-
รูปภาพหรือกราฟิกที่ใช้ในการนำเสนอ-รูปภาพและกราฟิกต่างๆ สะท้อนความคล่องตัวของแอดมินและการทำงานร่วมกันระหว่างแอดมินและทีมกราฟิก ว่าสามารถสื่อสารกัน และผลิตงานออกมาได้อย่างรวดเร็วขนาดไหน หรือแอดมินเดี่ยวมีความสามารถในการใช้แอพลิเคชั่นต่างๆด้านกราฟิกมากน้อยอย่างไร
-
การเชื่อมโยง-การเชื่อมโยง บางแบรนด์รู้จักเชื่อมโยง หรือเรียกว่า การอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าเข้าถึงสินค้าและบริการของตนได้อย่างรวดเร็ว
แบรนด์ เลือกที่จะแสดงออกได้เสมอ แล้วแบรนด์ของคุณแสดงออกอย่างไร?
จะแสดงออกหรือไม่แสดงออก หรือจะเกาะกระแส ใช้จังหวะและโอกาสทางการตลาดในการเชื่อมโยงให้มีความน่าสนใจอย่างไร อันนี้แล้วแต่ความเหมาะสมของแต่ละแบรนด์จะต้องพิจารณา
สิ่งที่ไม่ควรลืมคือ แบรนด์ คือ ตัวตนของสินค้าและบริการ ส่วน แอดมิน คือ ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้จัดการสื่อสารบนโลกออนไลน์และสื่อโซเชี่ยล เพราะฉนั้นตัวตนของแอดมิน ควรสอดคล้องกับคอนเซ็ปต์ของแบรนด์