แบรนด์สินค้าและบริการ ไม่ต่างอะไรจาก คนหนึ่งคน ถ้าแบรนด์ของสินค้าและบริการนั้นๆสามารถทำให้เรารู้สึกและรับรู้กับตัวสินค้าและบริการนั้นได้ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกภูมิใจที่ได้ใส่เสื้อผ้ายี่ห้อนี้ ความรู้สึกเท่เมื่อใส่นาฬิกายี่ห้อนี้ หรือความรู้สึกอิ่มเอมใจเมื่อเห็นสินค้าที่เราใช้ทำกิจกรรมจิตอาสาส่งต่อความดีต่างๆ
แล้วสินค้าและบริการจะแสดงออกอย่างไร ?
คงต้องกลับมาตั้งต้นไปตั้งแต่จุดเริ่มต้น คือการก่อตั้งสร้างแบรนด์ ว่าเรามีวัตถุประสงค์อย่างไร กำหนดรูปแบบหน้าตา และองค์ประกอบต่างๆในความเป็นแบรนด์นั้นอย่างไร ไม่ใช่แต่เฉพาะในส่วนของตราสัญญลักษณ์หรือโลโก้ และสีสันของตัวอักษรที่ใช้แต่เพียงอย่างเดียว หากแต่เราวางลักษณะหรือบุคคลิกลักษณะ (Personality / Character) ของแบรนด์เป็นอย่างไร ซึ่งก็หมายรวมไปถึงว่า เราอยากให้ลูกค้ารู้สึกอย่างไรต่อภาพลักษณ์ของเรา หรือเมื่อลูกค้าใช้สินค้าและบริการของเรา เช่น อยากให้รู้สึกดี รู้สึกสบาย รู้สึกผ่อนคลาย รู้สึกภูมิใจ เป็นต้น
การที่เราจะให้ลูกค้ามีความรู้สึกต่างๆที่เราอยากให้ลูกค้ารู้สึกนั้น เราก็ต้องกลับมาที่ตัวสินค้าและบริการของเราว่าควรจะมีคุณลักษณะอย่างไร ถึงจะทำให้ลูกค้ารู้สึกอย่างนั้น เช่น การเลือกใช้สีสันสดใสในตัวผลิตภัณฑ์ เพื่อต้องการให้ลูกค้าสดชื่น สดใสเมื่อใช้งาน สีก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกสดชื่น สดใสได้ เป็นต้น หรือการเลือกใช้ตัวอักษรที่ดูทึบ หนา สีเข้ม อาจต้องการให้ลูกค้ามั่นใจในสินค้าว่ามีความแข็งแรง ทนทาน เป็นต้น หรือสินค้าที่มีการใช้งานง่าย สะดวก ไม่สลับซับซ้อน ลูกค้าก็จะรู้สึกว่าเป็นสินค้าที่เข้าถึงได้ง่าย ไม่ต้องมีข้อกำหนดหรือพื้นฐานในการใช้งานก็สะดวกสบาย
การกำหนดรูปแบบ ภาพลักษณ์ และคุณลักษณะต่างๆของแบรนด์สินค้าเหล่านี้ ควรจะถูกส่งผ่านไปยังส่วนงานที่รับผิดชอบในการผลิตสินค้า หรือออกแบบการให้บริการ กรณีเป็นธุรกิจการให้บริการเพื่อให้ออกแบบให้เหมาะสมและตรงกับเป้าหมายที่เราต้องการ และเมื่อผลิตออกมาแล้วก็ต้องมีการทำความเข้าใจกับทีมขาย การตลาดและทีมปฏิบัติการต่างๆให้เข้าใจว่าเราจะนำเสนอ และส่งต่อภาพลักษณ์ของสินค้าและบริการนั้นอย่างไร เพื่อให้ลูกค้าได้รู้สึกอย่างที่เราต้องการ
ดังนั้น การคัดเลือกทีมงาน จึงมีส่วนสำคัญมาก เพราะทำหน้าที่เป็น “ผู้ส่งต่อ” หรือเป็น “ผู้ถ่ายทอด” ความเป็นแบรนด์ไปสู่ลูกค้าเพื่อให้ลูกค้าได้รับความรู้สึกตามเป้าหมาย ซึ่งคงไม่ใช่การทำงานเพียงครั้งเดียว แต่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง และใช้ระยะเวลา
ในกรณีที่สินค้าออกสู่ตลาดเรียบร้อย และมีเหตุการ์ณต่างๆที่เป็นปัจจัยภายนอกไม่ว่าจะเป็นทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการเมือง และแบรนด์นั้นๆต้องการจะแสดงออกเพื่อให้สังคมรับรู้ในวงกว้าง ก็สามารถทำได้เช่นกันในหลายรูปแบบ แต่ก็ต้องอยู่บนความเหมาะสม และควรสอดคล้องกับอัตตลักษณ์ของแบรนด์นั้นๆ
ยกตัวอย่างสิ่งที่ได้พบเห็นมาที่เป็นการแสดงออกของแบรนด์กรณีหนึ่ง ได้แก่ ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่ง ปกติการทำงานของปั๊มนี้จะมีรูปแบบการให้บริการที่ต่างจากปั๊มอื่นๆ คือเน้นความทันสมัย สะอาด รวดเร็ว โดยจะใช้แท๊บเล็ตมาเปิดให้ลูกค้าดูที่รถในขณะที่กำลังเติมน้ำมัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าไม่ต้องคอยเหลียวหลังไปดูหน้าจอที่หัวจ่ายน้ำมัน และเมื่อเติมน้ำมันเสร็จเรียบร้อย ก็จะนำเครื่องรูดบัตรมาให้รูดบัตรเครดิตให้ลูกค้าถึงที่รถ ในส่วนเครื่องแบบของพนักงานก็เน้นความสะอาด ใส่เสื้อคลุมมีแถบสะท้อนแสงสีเหลืองชัดเจนเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ ต่อมาเมื่อมีเหตุการ์ณเสด็จสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทางปั๊มแห่งนี้ นอกจากจะตกแต่งสถานที่ด้วยผ้าสีดำขาวที่ตัวอาคาร ติดภาพพระบรมฉายาลักษณ์ พร้อมข้อความไว้อาลัย พนักงานเติมน้ำมันติดแถบผ้าสีดำที่แขนเสื้อ และเปลี่ยนเสื้อคลุมสะท้อนแสงเป็นสีขาวนวลสะท้อนแสงแทน นับว่าปั๊มน้ำมันแห่งนี้แสดงออกชัดเจนในช่วงเวลาปัจจุบันในขณะที่สินค้าบางแบรนด์กลับใช้ช่วงเวลาที่ทุกคนโศกเศร้า ทำการตลาดออนไลน์ เช่น ให้ลงชื่อ เบอร์โทรศัพท์ พร้อมอีเมลล์ หากต้องการเสื้อดำแจกฟรี แต่กลับนำรายชื่อเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ของตนเองหรือการจัดกิจกรรมเพื่อประชาสัมพันธ์องค์กรในเชิงจิตอาสา หรือเน้นการช่วยเหลือสังคมและชุมชน แต่มีประโยชน์อื่นๆแอบแฝงการแสดงออกของแบรนด์ ถ้าไม่มีความเป็นธรรมชาติ หมายถึง ถ้าไม่ได้แสดงออกมาจากใจด้วยความจริงใจ ลูกค้าก็จะสามารถรับรู้ได้ และจดจำในสิ่งที่แบรนด์นั้นๆแสดงออก เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งที่ลูกค้ารับรู้และจดจำในแบรนด์สินค้าและบริการนั้นๆ ก็จะเป็นไปตามสิ่งที่แบรนด์แสดงออก ซึ่งอาจจะไม่ใช่สิ่งที่แบรนด์นั้นต้องการตั้งแต่ก่อตั้งแบรนด์นั้นก็ได้