หลายสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ลองไปสำรวจการให้บริการตามโชว์รูมรถยนต์หลายๆยี่ห้อ ทั้งญี่ปุ่นและยุโรป ซึ่งไม่ว่าจะเป็นรถยนต์มาจากประเทศไหน ตัวแทนจำหน่ายในประเทศซึ่งก็คือทีมงานคนไทยนี่แหละเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ลูกค้าเชื่อมั่น และตัดสินใจซื้อ
โชว์รูมที่ 1 – โชว์รูมโอ่อ่า สวยงาม สะอาดสะอ้าน แบ่งสัดส่วนการโชว์รถ ส่วนต้อนรับ ส่วนพักผ่อน ส่วนนั่งพูดคุยเป็นสัดส่วน พนักงานขายมีความกระตือรือร้นในการให้บริการ รู้จักใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่กับตัวคือโทรศัพท์มือถือในการนำเสนอสินค้า คำนวณโปรโมชั่นต่างๆด้วยความรวดเร็ว และจะชักชวนให้ลูกค้าทดลองขับ เพื่อพิสูจน์สมรรถนะของรถ
โชว์รูมที่ 2 – โชว์รูมโอ่อ่า สวยงาม สะอาดสะอ้าน แบ่งสัดส่วนการให้บริการที่ชัดเจนเช่นกัน แต่พนักงานขาดความพร้อมในการให้บริการ และไม่สามารถให้ข้อมูลหรือตอบข้อซักถามของลูกค้าได้ด้วยความมั่นใจในคำตอบของตัวเอง มุ่งเน้นแต่จะขอเบอร์โทร.ของลูกค้า ไม่มีการชักชวนให้ลูกค้าทดลองขับแต่อย่างใด
โชว์รูมที่ 3 – โชว์รูมโอ่อ่า สวยงาม สะอาดสะอ้าน แบ่งสัดส่วนการให้บริการที่ชัดเจนเช่นกันตามมาตรฐานของแบรนด์นั้นๆ แต่พนักงานเริ่มต้นทักทายลูกค้าที่เปิดประตูเข้าโชว์รูมมาด้วยคำว่า “พี่เข้ามาทางไหนอ่ะ” จนลูกค้าเป็นงง และต้องสอบถามกลับไปว่า “แล้วทางโชว์รูมมีทางเข้าทางด้านอื่นอีกหรือคะ”
คำว่า “แบรนด์” คงไม่ใช่แค่ความสวยงามของโลโก้ หรือตราสัญญลักษณ์ ตัวหนังสือ โทนสีที่ใช้เท่านั้น แต่เครื่องมือที่จะสื่อสาร ส่งต่อหลักการและหัวใจที่เป็นแกนกลางสำคัญของความเป็นแบรนด์ที่แตกต่างจากสินค้าประเภทเดียวกันในตลาดต่างหากที่จะทำให้ลูกค้ามีความเข้าใจ ชื่นชอบ ประทับใจในสินค้าของคุณ
ความรู้สึกของลูกค้าที่ได้รับการให้บริการของคุณเป็นสิ่งสำคัญ
จากตัวอย่างข้างต้น โชว์รูมทุกแบรนด์ล้วนมีความโอ่อ่า สวยงามตามมาตรฐานของแบรนด์นั้นๆ เพราะเจ้าของผลิตภัณฑ์ต้องการวางมาตรฐานเบื้องต้นในส่วนของภาพลักษณ์ให้ลูกค้าได้จดจำ ส่วนการให้บริการภายในเป็นเรื่องที่เจ้าของกิจการหรือผู้บริหารโชว์รูมเหล่านั้นต้องมาทำความเข้าใจและตีโจทย์ให้ออกว่า สินค้าของคุณมีตำแหน่งทางการตลาดอยู่ตรงไหน กลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นใคร และลูกค้าเหล่านั้นมีรูปแบบการใช้ชีวิตอย่างไร ชอบและไม่ชอบอะไร ไปจนถึงความคาดหวังของลูกค้ามีอะไร
แต่ถ้าไม่สามารถตีโจทย์ตรงนี้ออก ขอให้เริ่มจาก “ความรู้ในสินค้าและบริการ” เป็นลำดับแรก พนักงานทุกคนต้องมีความเข้าใจในสินค้าและบริการอย่างถ่องแท้ จุดเด่นของสินค้าคืออะไร แตกต่างจากรายอื่นอย่างไร แล้วจึงตามมาด้วยทักษะการขาย การเจรจาต่อรอง และความรอบรู้ในเรื่องอื่นๆถ้าคุณสามารถอบรมและพัฒนาบุคคลากรของคุณให้มีคุณสมบัติที่ใกล้เคียงกับตัวแบรนด์ การสื่อสาร การส่งต่อข้อมูลและการให้บริการระหว่างทีมงานและลูกค้าก็จะมีความราบรื่น และลูกค้าก็มั่นใจว่าสินค้านี้เป็นสินค้าที่ต้องการจริงๆ แต่ถ้าทีมงานคุณมีพนักงานแบบโชว์รูมที่ 3 ทั้งๆที่ลูกค้ามีความชื่นชอบในแบรนด์คุณอยู่แล้ว การเปลี่ยนใจก็อาจจะเกิดขึ้นได้เช่นกันความเป็นแบรนด์คงไม่ใช่แค่รูปลักษณ์ภายนอก แต่คือสิ่งที่ลูกค้าจะพูดถึงคุณต่อไปในอนาคต