fbpx

Hotel Consulting

รู้ให้จริง ทำให้เป็น เรื่องโรงแรม

หลายคนคงยังพอจำได้ว่าเวลาเราต้องสอบแข่งขันเข้าโรงเรียน หรือที่ทำงานบางแห่งจะมีการทดสอบความสามารถทางเชาว์ปัญญา (Aptitude Test)  ที่อาจจะเป็นเลือกรูปภาพ หรือคิดเลข หรือเลือกข้อความ แต่หลักๆคือ One Odd Out หรือ “อะไรเอ่ย ที่ไม่เข้าพวก” ให้เลือกออก เช่น

มีคำตอบมาให้เลือก 4 ข้อ   อะไรเอ่ยที่ไม่เข้าพวก

(1) คีย์บอร์ด

(2) เม้าส์

(3) จอยสติ๊ก

(4) พริ้นเตอร์

คุณว่าคำตอบคือข้อไหน ?

การวางคอนเซ็ปต์โรงแรม หรือร้านอาหารก็เช่นกัน เวลาที่เราจะบอกความต้องการให้กับสถาปนิก หรือนักตกแต่งภายใน เราก็ควรบอกให้ชัดเจนถึงความต้องการ รวมไปถึงเรื่องเป้าหมายทางการตลาดด้วย ในขณะเดียวกันผู้ออกแบบไม่ว่าจะเป็นสถาปนิก นักตกแต่งภายใน นักจัดสวน ผู้ออกแบบงานระบบ ผู้ออกแบบครัว ก็ควรจะรับฟังความต้องการในด้านธุรกิจและการตลาดเพิ่มเติม นอกเหนือจากความต้องการของลูกค้าด้วยเช่นกัน เพื่อให้งานออกมาได้อย่างครบถ้วนและธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ในแบบองค์รวม ไม่ใช่สวยแต่รูปแต่ภายในไม่สามารถทำงานได้ หรือออกแบบมาเป็นแบบ “อะไรเอ่ย ไม่เข้าพวก” ขาดความต่อเนื่องในพื้นที่ส่วนต่างๆ หรือไม่มีจุดเชื่อมโยงสิ่งต่างๆเข้าด้วยกัน ขาดที่มาที่ไป

สิ่งที่มักเห็นบ่อย หากตั้งข้อสังเกต คือ ความตั้งใจที่จะสร้างเรื่องราวให้มีที่มาที่ไปมากจนเกินไป จนทำให้โรงแรมนั้นขาดชีวิตชีวา และกลายเป็นดูไม่มีที่มาที่ไป แต่มีเพียงความต้องการของเจ้าของโครงการ หรือผู้ออกแบบที่ต้องการที่จะนำเสนองานออกมาในรูปแบบนั้น

ยกตัวอย่างเช่น การปรับปรุงพื้นที่เก่า อาคารเก่าให้เป็นโรงแรม และอาคารนั้นมีประวัติเดิมเคยทำธุรกิจอื่นมาก่อนมีอายุยาวนาน 50-80 ปี และเจ้าของต้องการที่จะคงเรื่องราวในอดีตไว้ และตั้งเป็นคอนเซ็ปต์หลัก แต่เมื่อทำออกมากลับกลายเป็นการแสดงออกของแบรนด์ที่ขาดเสน่ห์ ขาดความกลมกลืนต่อเนื่อง คือเหมือนเป็นการยัดเยียดสิ่งต่างๆให้กับลูกค้า และในบางครั้งดูกลายเป็นการ “ไม่ให้เกียรติ” กับลูกค้าไปเลยด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะในประเด็นที่ค่อนข้างจะอ่อนไหวกับเรื่องศีลธรรมอันดีงาม เรื่องนี้ต้องให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เห็นตัวอย่างโครงการหนึ่งแล้ว ความเห็นส่วนตัว (อันนี้ต้องย้ำว่า ความเห็นส่วนตัว) คือถือว่าไม่ให้เกียรติลูกค้ามาก เพราะถือเป็นการนำรสนิยมส่วนตัวที่ล่อแหลมมาแสดงออกแบบไม่เหมาะสม

อีกตัวอย่างคือ ร้านอาหาร ที่มีการออกแบบและทำเมนูร้านใหม่ บางครั้งเชฟอาจจะมีความตั้งใจในการนำเสนอแบบจานต่อจาน คือ จานนี้จะนำเสนอแบบนี้ อีกจานจะนำเสนอแบบนี้ แต่เมื่อนำมาวางบนโต๊ะพร้อมๆกัน กลายเป็น “อะไรเอ่ย ไม่เข้าพวก”  เหมือนอาหารแต่ละจานมาจากคนละร้าน หรืออีกตัวอย่าง เจ้าของตั้งใจจะขายอาหารแบบเต็มรูปแบบ แต่ผู้ออกแบบทำโต๊ะมาแค่ขายกาแฟและเบเกอรี่ อาจลืมนึกไปว่า “เอ…จริงๆขนาดของโต๊ะอาหารที่ร้านเรามันแค่นี้เองนะ” แล้วจานอาหารที่ออกแบบมาจะสามารถวางบนโต๊ะได้หรือเปล่า อาจจะวางได้แค่ 2 จานเพราะที่เต็ม ไหนจะเครื่องมือต่างๆบนโต๊ะ เครื่องปรุง ป้ายต่างๆ กลายเป็นเสียของ โต๊ะก็สั่งไปแล้ว แก้ไขไม่ได้ ในที่สุดคนที่เสียหายคือเจ้าของ ลูกค้ามาใช้บริการก็อีหลักอีเหลื่อ

บางร้านปล่อยให้ผู้ออกแบบ ทำการออกแบบโต๊ะอาหารและเก้าอี้มา โดยไม่มีการมานั่งคุยหรือมารับฟังคอนเซ็ปต์ของร้านอาหารและเมนูอาหารเลย จึงทำให้การออกแบบและจัดจานอาหารต้องเจอกับข้อจำกัดเรื่องขนาดของโต๊ะอาหาร ความสูงของโต๊ะอาหาร ประเภทของเก้าอี้ ระดับความสูงระหว่างโต๊ะและเก้าอี้ที่ลูกค้าควรจะนั่งรับประทานอาหารแล้วสบาย กลับกลายเป็นต้องนั่งชะเง้อ คือเก้าอี้มีระดับต่ำกว่าโต๊ะมาก ทำให้นั่งไม่สบาย

สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนต้องประกอบเข้าด้วยกัน ทำงานร่วมกันอย่างกลมกลืน ไม่เช่นนั้น เราก็จะเห็น “อะไรเอ่ย ไม่เข้าพวก” ตามที่ต่างๆ อยู่เสมอ

อันที่จริง การทำงานร่วมกันระหว่างผู้วางคอนเซ็ปต์ และผู้ออกแบบ ควรส่งเสริมซึ่งกันและกัน เพราะผู้ที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุดคือ “ลูกค้า” ที่จะสามารถนำพาธุรกิจให้เดินหน้าไปได้อย่างมีเรื่องราวที่น่าสนใจ และแสดงออกในด้านต่างๆได้อย่างลงตัว

สรุปข้อแนะนำในการวางคอนเซ็ปต์

  • คิดให้ตกผลึก อย่าคิดแค่จุดใดจุดหนึ่ง ให้มองให้ภาพรวม ให้มีความต่อเนื่องกลมกลืน
  • คอนเซ็ปต์ที่เป็นรสนิยมส่วนตัวในทางที่ล่อแหลม หรือเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่ม ควรเลือกการแสดงออกที่มีความรอบคอบและให้เกียรติลูกค้า  เพราะการแสดงออกสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ หลากหลายสไตล์ แต่หากเลือกการแสดงออกแบบชนิดที่เรียกว่า “โต้งๆ” มากเกินไป จะกลายเป็นดูไม่มีรสนิยมและไม่ให้เกียรติลูกค้า
  • อย่าใช้คำว่า “ไม่เป็นไร” ในการคิด  การออกแบบ และการแสดงออก
  • ผู้วางคอนเซ็ปต์และผู้ออกแบบควรทำงานร่วมกันในลักษณะที่เรียกว่า “สนับสนุน” ซึ่งกันและกัน ไม่ใช่ทำงานกันแบบกลัวว่าตัวเองจะไม่มีโปรไฟล์ ไม่ได้พอร์ตที่ดี เป้าหมายที่สำคัญคือ “ลูกค้า” อยู่รอดต่างหาก ไม่ใช่เรื่องอื่น
  • ข้อจำกัดที่สำคัญประการคือเรื่อง “เงินทุน” หรือ “งบประมาณ” ในประเด็นนี้ ผู้ออกแบบควรเคร่งครัดในเรื่องตัวเลขงบประมาณอย่างจริงจัง มิฉะนั้นจะทำให้เกิดงบบานปลายและเสียหายต่อการเริ่มดำเนินธุรกิจได้

คิดให้รอบคอบ อย่าให้เป็น “อะไรเอ่ย ไม่เข้าพวก”