เวลามีคนมาบอกคุณว่า “จะทำโครงการโรงแรมหรือที่พักให้คืนทุนภายใน 3 ปี”
คุณเชื่อหรือ ?
หยุดคิดและตั้งคำถามซักนิด ดีไหม ?
โลกออนไลน์ที่รวดเร็วในการสื่อสาร เรียกร้องความสนใจจากลูกค้าเพื่อให้เข้ามาดูสินค้าหรือบริการของตน จึงอาจจะมีการใช้คำที่เกินจริงไปบ้าง ดังนั้นจึงควรต้องเพิ่มความระมัดระวังเพิ่มขึ้น
เรามาเริ่มดูกันดีกว่าว่ามีอะไรที่เราควรจะตั้งข้อสังเกตและระมัดระวังเพิ่มขึ้นกันบ้าง
ตัวเลขวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการ หรือ Feasibility Study นั้น จะทำให้ออกมาเป็นอย่างไรก็ได้ตามความต้องการและวัตถุประสงค์ที่ต้องการจะนำไปใช้ เช่น ถ้าจะนำไปขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน อาจทำตัวเลขแบบหนึ่ง ถ้าทำไว้เพื่อดูทางเลือกอื่นๆ ก็อาจจะทำในอีกแบบหนึ่ง แต่เพื่อความรอบคอบแล้ว การทำตัวเลขเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ควรจะทำไว้ 3 ทางเลือก ได้แก่
- Base Case ได้แก่ ตัวเลขที่ใช้เป็นมาตรฐานกลางๆ เป็นตัวเลขที่ใช้อ้างอิงได้ กรณีนี้ใช้คำว่า Base นะคะ ไม่ใช่ Best ที่เป็นตัวเลขที่ดูดีมากกกกก จนอาจจะดูดีจนเกินจริง
- Most Likely Case ได้แก่ ตัวเลขที่น่าจะมีความเป็นไปได้มากที่สุด กรณีต้องกลับมาคิดและพิจารณาถึงปัจจัยในด้านต่างๆของตัวเราและตัวโครงการให้มากที่สุด
- Less Likely Case ได้แก่ ตัวเลขที่น่าจะเป็นไปได้ต่ำที่สุด หรือ ไม่น่าจะเกิดขึ้น หรือ อาจจะไปถึง Worst Case หรือ กรณีเลวร้ายที่สุด สำหรับตัวเลขในกรณีควรจะต้องมาพร้อมกับ “แผนรองรับ” หรืออาจจะไปไกลถึง “แผนการออกจากธุรกิจ” ( Exit Plan) เลยทีเดียว
การพิจารณาแต่ตัวเลขอย่างเดียวคงไม่พอ อย่าเพิ่งเชื่อโดยเด็ดขาด ยังมีปัจจัยที่ต้องพิจารณาอีก ได้แก่
- แผนการตลาดและการขาย – แผนนี้สำคัญมากเพราะจะเป็นสิ่งที่มายืนยันหรือหักล้างตัวเลขที่ทำวิเคราะห์โครงการกันเลยทีเดียว และเวลาเราอ่านแผนงาน เราควรจะดูให้ละเอียดไปถึงกิจกรรมด้านการตลาดและการขายด้วย เพื่อให้เห็นจังหวะและเวลาในการทำกิจกรรม และลองประมาณการว่ากิจกรรมเหล่านั้นจะส่งผลให้เห็นเมื่อไหร่ ใช้เวลาเท่าไหร่
- งบประมาณ – ตัวเลขงบประมาณที่ตั้งไว้สอดคล้องกับแผนกิจกรรมทางการตลาดและการขายหรือไม่อย่างไร ตัวเลขผลประกอบการในปีที่ดี หรือในเดือนที่ดี เกิดขึ้นเพราะอะไร มีงบประมาณจัดสรรไปลงเพื่อให้กิจกรรมนั้นเกิดได้หรือเปล่า ถ้าดูตัวเลขในเดือนใดเดือนหนึ่ง หรือปีใดปีหนึ่งแล้ว ปรากฎว่าไม่เห็นจะมีกิจกรรมการตลาดอะไรที่มาส่งเสริมให้เกิดตัวเลขได้เลย อันนี้ก็ต้องตั้งข้อสังเกต ทำวงกลมสีแดงไว้เลย เพื่อซักถามให้เข้าใจ
- ทีมงาน – แน่นอนว่าธุรกิจโรงแรมที่พักเป็นเรื่องการให้บริการ ดังนั้น จำนวนทีมงานจึงควรสอดคล้องกับปริมาณงานและปริมาณธุรกิจที่จะเข้ามา ซึ่งในเรื่องนี้อาจจะดูควบคู่ไปกับวิธีการให้บริการ หรือแผนการให้บริการร่วมด้วย เพราะบางกรณีการออกแบบการให้บริการที่ดี อาจช่วยลดจำนวนทีมงานไปได้บางส่วน
- ข้อสมมติฐาน ที่ใช้ในการทำตัวเลขอยู่บนพื้นฐานอะไร มีความเป็นไปได้หรือไม่อย่างไร เช่น เศรษฐกิจในภาพรวมจะเติบโต 10% แต่ในความเป็นจริงสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ประเทศไทยเติบโตแบบตัวเลขหลักเดียวและต่ำกว่า 5% มานานหลายปีแล้ว หรือตั้งตัวเลขนักท่องเที่ยวในจังหวัดสูงเกินจริง ไม่มีตัวเลขอ้างอิงที่เชื่อถือได้ หรือ กำหนดอัตราเข้าพักเฉลี่ยสูงเกินความสามารถของโครงการที่จะรองรับได้ เป็นต้น
- ปัจจัยภายนอก ไม่ใช่แต่ในระดับภายในประเทศ หากคุณจะทำโรงแรมที่พักที่รองรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นหลัก คุณก็ควรศึกษาสภาพเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศนั้นๆ ด้วย ยกตัวอย่างเช่น เศรษฐกิจในยุโรปยังไม่ฟื้นตัว ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติปรับเปลี่ยนการเดินทางจากเดินทางท่องเที่ยวระยะไกลปีละ 2 ครั้ง เปลี่ยนเป็นท่องเที่ยวระยะไกลเพียงปีละ 1 ครั้ง และที่เหลือท่องเที่ยวในประเทศใกล้เคียงเพื่อที่จะได้สามารถเดินทางไปเที่ยวกันได้ทั้งครอบครัว
ทีมขายและการตลาดของโรงแรม หากสามารถขอดูแผนธุรกิจของโรงแรมตั้งแต่เริ่มก่อตั้งโครงการ อาจลองนำรายงานมานั่งอ่านดูว่าแต่ก่อนนั้นตั้งเป้าหมายไว้อย่างไร ทำไมมาถึงยุคปัจจุบันจึงเปลี่ยนแปลงไปมาก หรืออาจจะเปลี่ยนทิศทางกันไปเลยทีเดียว
การเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต หาที่มาที่ไป เหตุและผลเพื่อทำความเข้าใจ จะช่วยให้คุณรอบคอบขึ้นในการวางแผนการตลาดและการขายไปจนถึงกิจกรรมต่างๆให้เหมาะสมมากขึ้น
บางครั้งสิ่งที่ทีมขายและการตลาดอยากจะทำ อาจจะไม่ได้ทำ เพราะผู้ลงทุนอาจมีเหตุผลหรือความจำเป็นบางอย่างที่ทำให้ทุกอย่างอาจล่าช้า หรือต้องชะลอออกไป ในข้อนี้ทั้งสองฝ่ายก็ควรพูดความจริงต่อกัน เพื่อให้ทีมงานที่มีความมุ่งมั่นและตั้งใจทำงานไม่เกิดความท้อ หรือเข้าใจผิดว่า “เสนออะไรไป ไม่เคยได้ทำ แต่จะเอาตัวเลขตามเป้าหมาย…จะบ้าหรือเปล่า”
เงื่อนไขเรื่องเวลาในแต่ละยุคแต่ละสมัยก็เป็นปัจจัย บางโครงการอาจทำได้เมื่อปีนั้น แต่ไม่ได้แปลว่าจะทำได้ตลอดหากปัจจัยข้างต้นไม่มีความสอดคล้องกัน
ท้ายสุด….อยากตอกย้ำว่า “ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ ทุกอย่างต้องผ่านการลงมือทำอย่างมุ่งมั่นและต่อเนื่อง”
หันกลับมามองจากตัวเราสู่ภายนอกกันบ้าง