เริ่มต้นสัปดาห์ใหม่กับบรรยากาศมาคุชนิดฟ้าคำรามสลับกับฟ้าแลบเป็นระยะ วางแผนการเดินทางกันให้ดี และสำหรับคนที่นั่งทำงานที่บ้านได้ หรือประเภท Work Anywhere ได้ ก็ขอแสดงความยินดีด้วยค่ะ
เอาล่ะเรื่องอากาศ ฟ้าฝนก็ว่ากันไป เขาว่ากันว่าการเริ่มต้นการสนทนาถ้าไม่รู้จะคุยอะไรก็คุยเรื่องอากาศกันไปก่อน
เข้าเรื่องกันดีกว่า…..
อยากทำโรงแรม….อยากทำโรงแรม
อาการคล้ายๆเด็กๆที่อยากได้ของเล่นใหม่ เวลาเดินผ่านเคาน์เตอร์ของเล่นในห้างสรรพสินค้าก็จะหยุดดูอยู่นาน และก็จะพูดประโยคซ้ำๆว่า “อยากได้…อยากได้….” แต่ในวัยผู้ใหญ่ ก็จะเก็บอาการแตกต่างกันไป แต่มีนัยยะและความหมายเดียวกันคือ “อยากทำโรงแรม ….อยากเป็นเจ้าของโรงแรม”
สำหรับลูกค้าที่ตั้งต้นมาด้วยอาการประมาณนี้ ถึงแม้จะไม่ได้พูดออกมา เรามักจะค่อยๆช่วยผ่อนคันเร่งให้ความเร็วลดลง ให้ข้อคิด ข้อควรระวังหลายๆด้าน และลูกค้าประเภทนี้จริงๆแล้วต้องการแค่คำยืนยัน คำสนับสนุนความคิดที่มุ่งมั่นของเขาว่าจะต้องเดินหน้าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ยิ่งเป็นกรณีเช่นนี้ ก็จะยิ่งต้องเหยียบเบรคเป็นระยะ ๆ โยนโจทย์ให้มีเวลากลับไปทบทวนให้มั่นใจจริงๆก่อน แล้วค่อยมาว่ากัน
บางคนมีคำตอบในใจอยู่แล้ว และวิ่งตามหาความมั่นใจจากพวกงานสัมนาต่างๆที่มีมากเหลือเกิน จะต้องการด้านไหนล่ะ มีหมดทุกอย่าง โลเคชั่นไม่ดีก็ทำได้ นั่น..ว่าเข้าไป คือ มันไม่ได้ทำได้ทุกกรณีเสมอไป และปัจจัยของพื้นที่หนึ่ง หรืออีกประเทศหนึ่ง ก็ไม่ใช่จะสามารถนำมาปรับใช้กับโครงการใหม่ได้เสมอไป อย่าไปเคลิบเคลิ้มกับคำบรรยายมากจนเกินไป บางราย คนบรรยายไหน บรรยายถูกใจ โดนใจ ก็เลือกคนนั้นแหละเพราะรู้ว่าจะต้องเข้าข้างความคิดของเขาตลอดแน่ๆ แต่เขาอาจลืมคิดไปว่า “คนที่พูด ไม่ใช่คนที่จะอยู่กับโครงการเราไปตลอดชั่วอายุโครงการนะ เราต่างหาก”
บางรายอยู่ในธุรกิจบริหารจัดการสิ่งปลูกสร้าง เช่น ทำบ้านจัดสรรขาย แบ่งที่ดินขาย พัฒนาโครงการขาย หรือแม้กระทั่งทำธุรกิจค้าขายวัสดุก่อสร้าง แต่อยากจะมาทำโรงแรม ถามว่า “ทำได้มั้ย” ตอบว่า “ทำได้” แต่ประเด็นคือ “คุณอยากทำจริงๆหรือเปล่า” เพราะจะมีกรณีว่า พอมาทำธุรกิจโรงแรมจริงๆ ซึ่งเป็น “ธุรกิจการให้บริการ” จึงต้องว่าด้วย “คน…คน…และคน” มีปัญหาอุปสรรคจุกจิกกับเรื่องคน ไหนจะคนของเราเอง ไหนจะความต้องการลูกค้า จึงเกิดความเบื่อหน่าย และเริ่มรู้สึกว่า “เราไม่เหมาะกับธุรกิจนี้” เอาเมื่อตอนโรงแรมเปิดไปได้ยังไม่ถึงปี ยังไม่ทันเข้าที่เข้าทาง
เมื่อเจอกรณีแบบนี้ เราก็จะมักจะแตะเบรคเบาๆเสมอว่า ลองกลับไปคิดดูอีกที คุณทำแต่ซื้อมาขายไป จบโครงการก็จบไป แต่ถ้าจะทำโรงแรม มันไม่มีวันจบนะ ไม่ใช่แบบวันต่อวันด้วย มันจะต่อเนื่องกันยาวไปยาวไปเลยทีเดียวถ้าเรารู้จักทำการตลาดจริงๆจังๆ ถ้าไม่อยากวุ่นวาย ทำโครงการขายดีกว่าไหม วุ่นวายตอนเปิดขายไม่กี่เดือน ปิดโครงการได้ ก็จบ อาจมีรีเทนชั่นนิดหน่อยต่อเนื่องแต่ก็ไม่ใช่แบบโรงแรม ก็มีหลายรายชงักไปและกลับไปคิดทบทวนดู ซึ่งทางเราก็ดีใจมากๆ แต่ลูกค้าอาจจะงง ๆ นิดหน่อย ว่า “นี่เอ็งไม่เอาลูกค้าเลยเหรอ”
เพราะฉะนั้นจะทำอะไร คิดไตร่ตรองให้รอบคอบเสียก่อน
สิ่งที่ต้องคำนึงในประเด็นใหญ่ๆ มี 3 ด้าน
-
เงินทุนและสายป่าน
อย่าคิดแต่เรื่องค่าก่อสร้างเท่านั้น พยายามแบ่งค่าใช้จ่ายออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
- ค่าใช้จ่ายก่อนเริ่มโครงการ เช่น ค่าว่าจ้างสถาปนิก นักตกแต่งภายใน นักจัดสวน นักวางระบบสาธารณูปโภค ค่าดำเนินการเกี่ยวกับสถานที่ ค่าถางหญ้า ค่าถมดิน ค่าปรับปรุงที่ดิน ค่าจ้างที่ปรึกษา กรณีต้องการคนช่วยชี้แนะ หรือคนให้กำลังใจ (ก็เลือกประเภทได้ตามต้องการ) ค่าติดต่อหน่วยงานราชการต่างๆที่จำเป็น เหล่านี้ล้วนเป็นค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น
- ค่าก่อสร้าง ก็ชัดเจนคือ ค่าก่อสร้างโครงการทั้งหมด ตั้งแต่ฐานราก จนแล้วเสร็จเป็นรูปร่าง ขอให้คิดไปให้ยาวจนถึงตกแต่งภายในให้เรียบร้อยชนิดที่ “พร้อมใช้งาน” เช่น ห้องพักต้องติดผ้าม่าน ผ้าบังแสง ห้องน้ำต้องมีม่านอาบน้ำ ขอให้คิดไปถึงรายการข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เพื่อเตรียมเปิดโครงการ ที่นอน หมอนมุ้ง จานชาม ช้อนส้อม แก้วน้ำ ในหัวข้อนี้สามารถแยกย่อยได้เป็น ค่าก่อสร้าง และค่าใช้จ่ายในการเตรียมเปิดโครงการ
- ค่าใช้จ่ายด้านการตลาดและการขาย เมื่อเราเตรียมสินค้าและบริการเรียบร้อยตามข้อ 2 แล้ว แน่นอนเราก็ต้องทำให้ลูกค้ารู้จักเรา ซึ่งก็คือการทำการตลาด และค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ในยุคสมัยปัจจุบันที่ว่าด้วยการตลาดออนไลน์ ก็แน่นอนว่าเราควรจะตั้งงบประมาณไว้ให้เพียงพอ และเหมาะสมกับยอดขายที่เราตั้งเป้าหมายเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นค่าทำเว็บไซต์ การทำการตลาดออนไลน์ หรือดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง การทำระบบบริหารจัดการห้องพัก หากยอดขายของคุณตั้งเป้าหมายรายได้จากการจองผ่านทางออนไลน์มากกว่า 50% ระบบการจัดการของคุณก็ควรจะมีเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ
การบริหารจัดการงบประมาณในแต่ละส่วนนั้น ขึ้นอยู่กับประเภทของโรงแรมที่พักของคุณ จำนวนห้องพัก ตำแหน่งการตลาด รูปแบบสิ่งอำนวยความสะดวก กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ไม่มีอะไรตายตัว แต่ต้องกลับมาที่ตัวคุณเองเสมอ
-
ทีมงาน
เตรียมทีมงานไว้อย่างไร จะทำเอง สร้างทีมเอง หาคนเอง อบรมเอง หรือมีทีมเข้ามาบริหารจัดการ ไม่ว่าจะกรณีไหน ก็ต้องคิดคำนวนเรื่องงบประมาณที่จะใช้จ่ายต่อเดือนให้เหมาะสมกับรูปแบบของสินค้าและบริการ และในจำนวนที่เราสามารถรับผิดชอบตัวเองได้ ไม่ใช่พอเปิดมาไม่ถึง 6 เดือน เริ่มหมุนตัวเป็นเกลียวหัวเป็นน๊อต และแก้ไขปัญหาด้วยการตัด ตัด ตัด ซึ่งแน่นอนส่งผลกระทบต่อการให้บริการ และทำให้สถานการ์ณยิ่งย่ำแย่เข้าไปใหญ่ เพราะเมื่อลูกค้ามาใช้บริการและไม่ได้รับบริการอย่างที่คาดหวัง
การสร้างทีมงานนั้น ก็ควรจะมีคอนเซ็ปต์ที่ชัดเจน อบรมให้พนักงานคิดให้เป็น แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ ถ้าคุณนั่งเป็นผู้บริหารเอง ก็ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกทีมเสมอ (ย้ำ…ว่า “เสมอ” แปลว่า ทำบ่อยๆ ทำเป็นประจำ)
-
ระบบการบริหารจัดการ
ว่าด้วยระบบ ไม่ได้แปลว่าจะต้องใช้เงินลงทุนกับระบบมากมายมหาศาล อย่าไปมองแต่เรื่องสิ่งที่จับต้องได้ หรือ ฮาร์ดแวร์ แต่เพียงอย่างเดียว แต่อยากให้หันมา “สร้างระบบภายใน” ที่เข้มแข็งเพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินไปได้ ไม่ว่าจะมีใครมานั่งทำงานตรงนี้ ไม่ใช่พอเปลี่ยนคน ก็เปลี่ยนทุกอย่าง แต่ละคนนำสิ่งที่ตัวเองชอบมาใส่ในงานเพราะตัวเองจะได้ทำงานได้สะดวก แต่ไม่มีระบบ เพราะฉะนั้น เมื่อพนักงานคนหนึ่งลาออกไป ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป และก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามลักษณะของคนที่เข้ามานั่งในตำแหน่งนั้นๆดังนั้นคุณควรจะคิด และสร้างระบบการบริหารจัดการที่มั่นคง เข้มแข็ง และอยู่บนหลักเหตุและผล อธิบายให้ทีมงานเข้าใจ เพื่อให้ทำงานแบบ “รู้จักคิด” ไม่ใช่ ทำตามคำสั่ง ไม่ต้องเริ่มที่ใคร เริ่มที่ตัวคุณเอง