fbpx

Hotel Consulting

รู้ให้จริง ทำให้เป็น เรื่องโรงแรม

Screen Shot 2561-05-08 at 7.42.11 AM

GDRP ย่อมาจาก General Data Protection Regulation เป็นกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่สหภาพยุโรปได้ผ่านกฎหมายไปตั้งแต่ปี 2559/2016  นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในกลุ่มสหภาพยุโรปนับตั้งแต่ปี 2538/1995 เป็นต้นมา ทั้งนี้หลังจากที่ได้ผ่านกฎหมายฉบับนี้แล้ว ที่ประชุมกำหนดให้ผู้ประกอบการธุรกิจต่างเป็นเวลา 2 ปีในการปรับตัวและจะมีผลบังคับใช้จริงในวันที่ 25 พฤษภาคม 2561/2018 นี้

แล้วกฎหมายนี้เกี่ยวอะไรกับธุรกิจโรงแรม ?

หลักการในการให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ก็เพื่อไม่ให้มีการนำข้อมูลส่วนตัวของแต่ละคนไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต  โดยขยายความคุ้มครองให้ชัดเจนเป็นมาตรฐานเดียวกันกับพลเมืองยุโรป ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะถูกเก็บอยู่ ณ ที่ใด ถ้าเป็นข้อมูลของพลเมืองในยุโรปก็อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้

สรุปแบบนี้ แน่นอนว่าส่งผลกระทบกับโรงแรมและธุรกิจท่องเที่ยวอย่างแน่นอน โดยเฉพาะโรงแรมที่มีกลุ่มลูกค้าที่เป็นพลเมืองในยุโรป หรือทำธุรกิจกับตัวแทนท่องเที่ยวในยุโรป เพราะข้อมูลของลูกค้าไม่ว่าจะเป็นชื่อ นามสกุล ที่อยู่ เบอร์โทร อีเมล์ พาสปอร์ต บัตรเครดิตการ์ด ข้อมูลเหล่านี้ล้วนเป็นข้อมูลที่ตัวแทนท่องเที่ยว และโรงแรมจะต้องขอจากลูกค้าในการทำธุรกรรม

ย้ำ ไม่เกี่ยวว่า โรงแรมตั้งอยู่ในประเทศไหนนะคะ ถ้าใช้ข้อมูลของพลเมืองในยุโรป ต้องตกอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ทั้งสิ้น

ขอให้ลองนึกย้อนกลับไปเวลาที่เราเข้าไปตามเว็บไซต์ต่างๆของโรงแรม หรือเว็บไซต์อะไรก็ตามบางครั้งการที่เราไม่ได้อ่านอะไรให้ละเอียดและกด “OK” ผ่านๆไป กลับทำให้รายชื่อเรา ข้อมูลของเราที่อยู่ในคอมพิวเตอร์ถูกเก็บเข้าไปในระบบการส่งอีเมล์ หรือจดหมาย (Newsletter) ต่างๆไปโดยไม่รู้ตัว เรามารู้อีกทีก็เห็นอีเมล์ต่างๆเหล่านี้เข้ามาในกล่องรับข้อความไปเสียแล้ว  และเรายังไม่รู้อีกว่า ธุรกิจเหล่านั้นจะนำข้อมูลเราไปทำอะไรต่อไปอีก

โรงแรมก็เช่นกัน โดยเฉพาะโรงแรมขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ไปจนถึงเครือโรงแรมขนาดใหญ่ที่ทำการตลาดในแบบ email marketing ส่งจดหมายต่างๆถึงลูกค้า

กฎหมายนี้เปลี่ยนทุกอย่างใหม่อย่างสิ้นเชิง คือ กำหนดให้ธุรกิจต้องเปิดเผยข้อมูลและอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจว่าข้อมูลที่คุณเก็บไปจะนำไปใช้ทำอะไร เก็บข้อมูลประเภทไหน ใครเป็นคนควบคุมดูแลข้อมูลต่างๆที่เก็บไป ใครที่เป็นคนที่ต้องการเก็บข้อมูลเหล่านี้ และใครบ้างที่สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆที่เก็บไปได้บ้าง

ในทางปฏิบัติที่ผ่านมา ผู้ประกอบการก็ใช้วิธีทำแบบฟอร์มยินยอม (Consent Form) ให้ลูกค้ากรอกข้อมูลแบบง่ายๆว่ายินยอมให้ใช้ข้อมูลเหล่านั้นเหล่านี้ เช่น การเข้ามาที่เว็บไซต์นี้ ลูกค้ายินยอมให้เว็บสามารถเข้าถึงข้อมูลของคุณได้ เป็นต้น ซึ่งเราก็มักจะกด “OK” ผ่านไปอีกเช่นกัน

แต่เมื่อกฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับในทางปฎิบัติที่ถูกต้องแล้ว โรงแรมจะไม่สามารถนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ได้ตลอดไปหลังจากที่ลูกค้าตกลงยินยอม เพราะจะต้องชี้แจงและเปิดเผยวัตถุประสงค์ในการเก็บข้อมูลในแต่ละครั้งให้ชัดเจน เช่น จะทำแคมเปญผ่านทางอีเมล์แต่ละแคมเปญก็ต้องให้ลูกค้ายินยอมทุกครั้งไป

นอกจากนี้โรงแรมที่มีการใช้ระบบ CMS ที่ใช้เก็บและวิเคราะห์ข้อมูลที่สามารถแยกที่มาที่ไปของลูกค้าที่เข้ามาที่เว็บไซต์ของโรงแรม ถ้าเป็นข้อมูลที่มาจากยุโรป ก็ต้องได้รับความยินยอมจากลูกค้าพร้อมแจกแจงวัตถุประสงค์ รายละเอียดอื่นๆด้วยเช่นกัน

จะเห็นว่ามีผลกระทบกับทุกธุรกรรมของโรงแรมและธุรกิจท่องเที่ยวจริงๆ โดยเฉพาะในโลกแห่งดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งในปัจจุบัน เพราะจะทำให้ประสบการ์ณของลูกค้าในการเข้าเว็บไซต์ของแต่ละโรงแรม แต่ละตัวแทนท่องเที่ยวเปลี่ยนไป

แล้ววิธีปฎิบัติในบ้านเรามีข้อสรุปอะไรบ้างแล้วหรือยัง?

อย่างที่สรุปข้างต้นว่ากฎหมายนี้ให้ความคุ้มครองแก่พลเมืองยุโรป ไม่สนใจว่าข้อมูลเก็บอยู่ที่ใด หรือโรงแรมตั้งอยู่ใน หรือนอกพื้นที่ยุโรป ดังนั้น ประเทศไทย ก็ต้องปฎิบัติตามหากเราใช้ข้อมูลของพลเมืองในยุโรป

ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่บังคับใช้แบบเป็นการทั่วไป มีแต่เพียงกฎหมายเฉพาะของบางหน่วย เช่น คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ใช้ในหน่วยงานราชการ หรือข้อมูลสุขภาพ หรือข้อมูลบัตรเครดิต

สำหรับร่างกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลแบบทั่วไปยังอยู่ระหว่างการพิจารณา

เพราะฉะนั้น เรายังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในส่วนของวิธีปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม

แต่ในเบื้องต้นสามารถ

  • ออกแบบยินยอม (Consent Form) ส่งให้ลูกค้าได้ก่อน หรือ
  • อาจจะแยกข้อมูลลูกค้า (Guest database) ออกมาให้ชัดเจนก่อนว่ามีลูกค้าที่เป็นพลเมืองยุโรปกี่ข้อมูล แบ่งข้อมูลลูกค้าให้ชัดเจนเพื่อที่จะส่งแบบฟอร์มยินยอมให้
  • สร้างหน้าต่างเพิ่มขึ้นบนเว็บไซต์ อาจเป็น pop-up window เพื่อชี้แจงหรือให้ข้อมูลในเรื่องนี้ พร้อมมีแบบฟอร์มให้กรอกง่ายๆเบื้องต้น

 

ขอบคุณข้อมูลจาก ehotelier.com และภาพประกอบจาก valuebound.com