fbpx

Hotel Consulting

รู้ให้จริง ทำให้เป็น เรื่องโรงแรม

ถ้าอยากรับประทานส้มรสเข้มกลมกล่อม แบบ “ส้มคือส้ม” ไม่ใช่ส้มที่มีวางขายอยู่ทั่วไปที่หารสชาตและความอร่อยแบบส้มจริงๆยากขึ้นทุกวันแล้วล่ะก็ ต้อง “ส้มบางมด” เท่านั้นค่ะ

ย่านบางมดเคยขึ้นชื่อในเรื่องสวนผลไม้โดยเฉพาะ “ส้มบางมด” ถ้าได้มาแถบนี้เมื่อ 15-20 ปีก่อนจะเห็นแต่สวนส้ม สวนมะพร้าว และผลไม้มากมาย แต่ปัจจุบันสวนทั้งหลายกลายเป็นหมู่บ้านจัดสรรไปจนแทบจะไม่เหลือสวนผลไม้ให้เราเห็นแล้ว หากใครนึกไม่ออกว่าบางมดที่ว่านั้นอยู่แถวไหน…เรากำลังพูดถึงแถวถนนพุทธบูชา 36 ค่ะ

เมื่อวานมีโอกาสแวะไปเที่ยวชุมชนมุสลิมในย่านบางมดที่มีการรวมตัวกันในหมู่บ้านอย่างเข้มแข็งในการจัด “ตลาดมดตะนอย” ตลาดที่ร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชนที่ต้องการที่จะช่วยเหลือชุมชนด้วยกันและนำเสนอสิ่งดีๆ ผลผลิตในชุมชนที่น่าสนใจให้เราได้รู้จักกัน

สิ่งที่สัมผัสได้อย่างชัดเจนคือ “ความตั้งใจ” ของคนในชุมชนที่สะท้อนผ่านให้เห็นจากสิ่งต่างๆ ตั้งแต่การต้อนรับ การทำของที่ระลึกแจกนักท่องเที่ยว เช่นถุงผ้าสกรีนเอง การวาดแผนที่เส้นทางท่องเที่ยว แนะนำอาหารที่แต่ละบ้านสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำในแต่ละครั้ง และสิ่งที่สำคัญคือ การทำกิจกรรมให้เหมาะกับจังหวะความพร้อมของคนในชุมชนและผลผลิต คือจัดแค่เดือนละครั้ง

สำหรับคนที่สนใจจะนั่งเรือล่องไปตามคลองบางมด แนะนำให้ลงชื่อจองล่วงหน้าเพราะเรือในชุมชนมีจำกัดค่ะ

ความคิดสร้างสรรค์ที่น่าสนใจคือค่าใช้จ่ายที่นักท่องเที่ยวชำระล่วงหน้าคนละ 259 บาทนั้น เปลี่ยนเป็นสิ่งที่ตั้งใจทำคือถุงผ้า และคูปองแลกอาหาร เครื่องดื่ม และการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆเช่น ทำลูกชุบ เพ้นท์ผ้าเป็นต้น หรือแม้การแวะเยี่ยมสวนส้มบางมดของลุงแดงก็ได้รับแจกส้มคนละ 2 ลูกจากคูปอง หรือเมื่อแวะสวนมะพร้าว ก็ใช้คูปองแลกมะพร้าวน้ำหอมชื่นใจคนละลูกให้คลายร้อนยามบ่าย นั่งกินมะพร้าวรับลมเย็นๆริมท้องร่องสวนกันไป สนุกและชื่นใจไปอีกแบบ

เล่ามายืดยาว ทำให้นึกถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่ว่าไปจังหวัดไหนก็ต้องเห็น “ถนนคนเดิน” มีทุกที่จริงๆ แรกๆก็อาจจะชัดเจนในการรวบรวมของดีที่น่าสนใจในพื้นที่ แต่พอผ่านไปสักพักก็กลายเป็นที่รวมของการขายอาหารที่เดินสายขายไปทุกที่ หรือเสื้อผ้าของประดับเล็กๆน้อยๆเต็มไปหมดจนของที่เป็นของท้องถิ่นจริงๆไม่ว่าจะเป็นอาหารหรืองานฝีมือหรือผลผลิตในท้องถิ่นค่อยๆหายไปจนแทบไม่เหลืออะไร

ท่องเที่ยวชุมชนนั้นจะเกิดขึ้นและยืนได้อย่างเข้มแข็งนั้น อย่าไปเร่งกระบวนการ และยังคงมีส่วนประกอบอีกหลายอย่าง ได้แก่

  • ความภูมิใจของคนในชุมชน ภูมิใจว่าเรามีสิ่งที่มีคุณค่าที่อยากนำเสนอ เล่าเรื่องและส่งต่อใหคนรุ่นต่อไปได้รู้จักและเห็นคุณค่า
  • การร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน ไม่ใช่แค่เป็นคนในพื้นที่ แต่ทุกคนรู้สึกว่ามีส่วนได้ส่วนเสียในการช่วยกันทำให้ชุมชนมีชีวิตชีวาอย่างเต็มที่
  • การเสียสละของกลุ่มคนในชุมชนที่จะมาช่วยกันสร้างสรรค์และขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆให้เกิดขึ้น

กระแสรักธรรมชาติ การกลับสู่ธรรมชาติ ส่งเสริมวิถีเกษตร การทำเกษตรอินทรีย์เป็นกระแสกิจกรรมดี แต่คงต้องรู้จักทำในแบบยั่งยืน ไม่ใช่วิ่งตามกระแสและทุกอย่างก็จะผ่านไปตามเวลา

อยากให้ทุกพื้นที่ที่ยังมีทรัพยากรที่มีคุณค่าช่วยกันทำให้ถิ่นที่อยู่ของตนเองกลับมามีชีวิตชีวาในแบบยั่งยืนกันมากขึ้น