fbpx

Hotel Consulting

รู้ให้จริง ทำให้เป็น เรื่องโรงแรม

วันนี้มี 2 ตัวอย่างมาเล่าให้ฟังเป็นตัวอย่างของโครงการกำลังก่อสร้างทั้งคู่ ตามมาดูกัน

โครงการแรกวางแนวคิดย้อนอดีตกลับไปสมัยที่บ้านไม้ยังพบเห็นอยู่ได้ทั่วไป งานที่ออกมาจึงใช้ไม้เป็นหลัก ระหว่างการก่อสร้าง เจ้าของไม่ค่อยเข้ามาดูเพราะเห็นว่ามีหัวหน้าช่างที่ว่าจ้างไว้ให้คอยคุมงานอยู่แล้ว แต่วันหนึ่งเมื่อได้เดินเข้าไปตรวจงานก็เห็นว่าบ้านหลังหนึ่งที่กำลังจะปิดผนังไม้บนโครงที่ติดตั้งงานระบบเดินท่อน้ำ สายไฟ และสายต่างๆ ก็เห็นการต่อสายไฟที่ไม่เรียบร้อย มีการตัดต่อใช้เทปพันสายไฟทำแบบง่ายๆเหมือนต่อไฟชั่วคราวในแคมป์คนงาน จึงเรียกช่างมาถามว่าทำไมเป็นแบบนี้ ช่างก็ตอบไม่ได้อึกอักเพราะเห็นอยู่ว่าทำงานไม่ดี ไม่ปลอดภัย หัวหน้าช่างที่จ้างไว้ก็ไม่ได้เข้าหน้างานทุกวัน หรือเข้ามาก็เลยขั้นตอนที่จะได้เห็นถึงความบกพร่องนี้ไปแล้วเพราะผนังปิดไปเรียบร้อย

โครงการที่สอง ก่อสร้างใกล้จะเสร็จคือเป็นรูปห้องพัก ฉาบปูนผนังเรียบร้อย กำลังทาสีผนังเตรียมติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ทีวี ตู้เย็น ชั้นวางของต่างๆ โครงการนี้คอนเซ็ปต์และรายละเอียดค่อนข้างแน่น ทุกอย่างในเรื่องการออกแบบเป๊ะ ผนังห้องตรงไหนต้องเรียบก็เรียบ ยาแนวเรียบร้อย ตรงไหนต้องการเป็นคลื่นเหมือนรีสอร์ทริมทะเลในต่างประเทศ ช่างก็สามารถทำได้ตามแบบไม่มีปัญหา สีที่ใช้ถูกต้องตามที่กำหนด แต่…ตอนจะติดตั้งทีวีแขวนผนังเพื่อประหยัดพื้นที่ทางเดินภายในห้องพัก ช่างสามารถติดตั้งได้งานเรียบร้อย มีการวางตำแหน่งที่เสียบปลั๊ก สายเข้า สายออกเพื่อรองรับเรียบร้อย แต่(ที่สอง)…ปัญหาคือ ทางโรงแรมจะต้องติดตั้งกลัองรับสัญญาณดาวเทียม/เคเบิ้ลทีวีเพื่อให้บริการลูกค้าที่เข้าพัก กลับไม่มีที่วางกล่องรับสัญญาณ และคอนเซ็ปต์ก็ไม่ต้องการให้ผนังมีการเจาะหรือแขวนอะไรรุงรัง สายไฟต้องเก็บเรียบร้อย ในที่สุด ช่างแก้ไขปัญหาด้วยการนำกล่องรับสัญญาณซุกไว้หลังทีวี

.

.

.

จะเห็นว่าทั้งสองโครงการให้ความสำคัญเรื่องการออกแบบ แนวคิดการออกแบบที่ดี แต่บางจุดอาจต้องคำนึงถึงการใช้งาน และหาทางปรับให้การออกแบบสามารถใช้งานและอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้งานโดยยังคงเอกลักษณ์ในการออกแบบที่ดีตามคอนเซ็ปต์ที่วางไว้

ทุกอย่างเกิดจากการทำงานร่วมกันทั้งสิ้น ช่วยกันเก็บตกในรายละเอียด และแบ่งปันประสบการณ์ที่พบเจอร่วมกันเพื่อให้งานออกมาตอบโจทย์ให้ได้มากที่สุด

งานบางอย่างแก้ไขได้ด้วยการปรับแบบหากยังมีเวลา แต่งานบางอย่างเมื่อผ่านช่วงก่อสร้างไปแล้ว ย่อมไม่มีใครอยากที่จะทุบ รื้อ แก้ไขใหม่ เพราะทั้งเสียเวลาและเสียงบประมาณ ดังนั้น “การออกแบบการให้บริการ” จึงอาจต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นหน้างานเนื่องจากไม่สามารถแก้ไขด้านงานก่อสร้างหรือตกแต่งภายในได้ เพื่อให้การใช้งาน และการให้บริการเกิดขึ้นได้จริง และเหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า คอนเซ็ปต์ของโครงการ และอัตรากำลังของทีมงานที่มี

ท้ายสุด อยากฝากว่า งานที่ออกแบบมาแล้วก็ควรจะใช้งานได้จริง ตามวัตถุประสงค์การใช้งาน การจัดวางตำแหน่งที่ติดตั้ง บางครั้งเราก็ควรเริ่มต้นกระบวนการรีวิวแบบให้ละเอียดก่อนที่จะเริ่มลงมือก่อสร้างไม่ใช่แค่รีวิวในมุมมองของการก่อสร้างหรือวิธีการก่อสร้าง แต่ควรรีวิวไปถึงการใช้งาน วิธีการใช้งาน เส้นทางการเดินทั้งลูกค้าและทีมงานและระหว่างทางก็ต้องกำกับควบคุมงานให้ละเอียดเพื่อความปลอดภัย และใช้งานได้จริงด้วย

การทำสิ่งปลูกสร้างให้ใช้ได้จริงนั้น จะเกิดขึ้นได้ เพียงแค่ทุกฝ่ายเรียนรู้ที่จะ “ฟัง” มากขึ้น แค่นั้นเอง