ปรากฎการ์ณช่วยเหลือและกู้ภัยทีมหมูป่าอะคาเดมี่ตลอด 2 สัปดาห์กว่าที่ผ่านมา สอนให้เราเรียนรู้ในหลายๆเรื่องที่เชื่อมั่นว่าสามารถนำมาใช้กับการบริหารจัดการในเรื่องต่างๆได้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ต้องก้าวข้ามผ่านอุปสรรคต่างๆ ด้วยข้อจำกัดมากมาย ทั้งที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้
หากจะไล่เรียงเหตุการ์ณตั้งแต่เกิดเหตุจนถึงภารกิจช่วยชีวิต (Save and Rescue) สำเร็จเป็นตอนๆช่วงๆ ก็พอจะสรุปและถอดบทเรียนเพื่อแบ่งปันให้ผู้บริหารงานโรงแรมและชาวโรงแรม ก็อาจจะพอสรุปได้ตามนี้ค่ะ
เมื่อทราบข่าวว่ามีเด็กๆและโค้ชเข้าไปติดในถ้ำ
มีการติดต่อประสานงานทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่อย่างเร่งด่วนเพื่อให้เข้ามาในพื้นที่ถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน บุคคลสำคัญคนหนึ่งในเหตุการ์ณนี้คือ Mr. Vern Unsworth ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงรายและได้เคยเข้าไปสำรวจถ้ำหลวงมาแล้ว เข้ามาถึงพื้นที่และเรียบเขียนโน้ตใส่กระดาษขนาดเล็ก ระบุชื่อผู้เชี่ยวชาญในการดำน้ำในถ้ำชาวอังกฤษ 3 คนที่จะสามารถให้ความช่วยเหลือได้ และยังมีข้อความย้ำว่า “The time is running out” แปลว่า เวลาใกล้จะหมดแล้ว เพื่อตอกย้ำถึงภารกิจที่เร่งด่วนกำลังรออยู่
กระดาษแผ่นเล็กๆนี้จะไม่มีความหมายอะไรเลย ถ้าบุคคลที่ได้รับเลือกที่จะไม่ใส่ใจ หรือคิดเอาเองว่าไม่สำคัญ ก็เป็นเพียงแค่ความเห็นของคนๆหนึ่งเท่านั้น แต่คนที่ได้รับสารนี้เลือกที่จะประสานงานต่อไปทางสถานทูตอังกฤษทันที นั่นจึงเป็นที่มาว่าทำไมนักดำน้ำผู้เชี่ยวชาญในการดำในถ้ำอันดับต้นๆของโลกถึงเข้ามามีส่วนร่วมในภารกิจครั้งนี้
++ข้อคิด++ อย่าละเลยหรือมองข้ามความสำคัญของแต่ละคน ความเห็นของทุกคนในทีมมีค่าเสมอเพราะจะช่วยเปิดมุมมองในเรื่องต่างๆให้ผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจสามารถนำข้อมูลหรือความเห็นต่างๆไปปรับใช้ให้เข้ากับสถานการ์ณที่กำลังเผชิญอยู่
ช่วงการค้นหาผู้สูญหาย
เป้าหมายหลักของภารกิจคือ ช่วยผู้ประสบภัยออกจากถ้ำให้ได้อย่างปลอดภัย
เนื่องจากสภาพพื้นที่ภายในถ้ำหลวงมีความซับซ้อน และมีข้อจำกัดทั้งเรื่องแสง เส้นทางที่เต็มไปด้วยหินและโคลน ระดับน้ำภายในถ้ำที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลาเนื่องจากการซึมของน้ำจากภูเขา ประกอบกับฝนที่ตกลงมาเป็นระยะเนื่องจากเริ่มเข้าฤดูฝนแล้ว ทำให้ทีมงานประสบปัญหามากมาย และส่วนใหญ่เป็นข้อจำกัดทางธรรมชาติ เท่ากับว่าทีมจะต้องต่อสู้กับธรรมชาติซึ่งเป็นเรื่องที่ “แทบจะเป็นไปไม่ได้” แต่หัวหน้าทีมใหญ่คืออดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ก็สามารถจัดการงานประสานกับทีมต่างๆทั้งส่วนราชการ และเอกชน ตลอดจนทีมจิตอาสาในการดำเนินการในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสูบน้ำออกจากถ้ำ การเบี่ยงทางน้ำ การสำรวจโพรงบนเขาเพื่อเพิ่มโอกาสในการค้นหา การวางระบบเข้าไปในถ้ำทั้งแสงไฟส่องสว่าง และสัญญาณโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต เพื่อให้ทีมค้นหาสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันจิตอาสาในส่วนต่างๆก็เริ่มทยอยเข้าพื้นที่ให้บริการในด้านต่างๆที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน ยาต่างๆ ไปจนถึงเป็นหน่วยสนับสนุนหากมีการร้องขอ
จากการทำงานอย่างหนักของทุกฝ่าย เราก็พบเด็กๆในวันที่ 9 ของการค้นหา
++ข้อคิด++
(1) ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นมือประสานงาน จะต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถในการสื่อสารที่ตรงไปตรงมา ชัดเจนและเป็นขั้นเป็นตอน สามารถทำให้ผู้ร่วมทีมทุกคนเห็นภาพเดียวกันในการเดินไปข้างหน้า ในขณะเดียวกันเมื่อต้องมีการตัดสินใจ การนำเสนอทางเลือกต่างๆจากทีมภายใต้บังคับบัญชาที่ชัดเจน บอกถึงข้อดี ข้อเสีย และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นโดยละเอียดก็จะช่วยให้ผู้ที่ต้องตัดสินใจสามารถตัดสินใจได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
(2) กล้าที่จะขอความช่วยเหลือจากผู้ที่มีประสบการณ์ในด้านต่างๆ โดยใช้ความอ่อนน้อมถ่อมตน และไม่มีอัตตาในการทำงานร่วมกันและยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น
(3) การเรียงลำดับความสำคัญของงานตามความจำเป็นเร่งด่วน และในขณะเดียวกันก็มีความยืดหยุ่นในการปรับจังหวะการทำงานตามสภาพหน้างานที่เกิดขึ้น
ยกตัวอย่างการทำงานในปัจจุบันเรามักจะส่งต่อข้อความกันโดยไม่คำนึงว่าข้อความนั้นจำเป็นหรือไม่จำเป็นสำหรับผู้รับ สังเกตจากการสำเนา (cc.)ให้ผู้อื่นราวกับว่า “ทุกคนต้องรู้นะ ฉันทำอันนี้แล้วนะ” ทั้งๆที่บางเรื่องก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องส่ง cc ไปถึงคนจำนวนมากขนาดนั้น เท่ากับไปเพิ่มจำนวน email ให้แก่ผู้รับโดยไม่จำเป็น ดังนั้นการที่เราช่วยกันสกรีนเรื่อง ใส่ความเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนที่จะกดปุ่ม “ส่ง” ออกไป น่าจะทำให้ขั้นตอนการทำงานรวดเร็วขึ้น คนอ่านแล้วก็ตัดสินใจได้ทันที ไม่ใช่อย่างที่มักจะทำกันในปัจจุบันราวกับว่า “เรื่องของแก…อ่านซะ”นอกจากนี้การสื่อสารทั้งการพูด และการเขียน เราคงต้องฝึกกันให้มากๆให้สามารถถ่ายทอดเรื่องราวหรือข้อความให้สั้น กระชับที่สุด ข้อสังเกตคือ “ถ้าเราเข้าใจ เราจะถ่ายทอดออกมาได้” คำอธิบายก็จะไม่ยืดยาว แต่จะสั้นและกระชับ ลองนำหลัก “KEEP IT SHORT AND SIMPLE” หรือ KISS ไปใช้กันนะคะ ส่วนเรื่องการเขียน ยิ่งต้องฝึกหนัก ถ้าเราอ่านมาก เราก็จะเขียนได้ดีขึ้น เพราะฉะนั้นต้องฝึกอ่านกันมากๆ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ยิ่งทำงานโรงแรมเราต้องสื่อสารภาษาอังกฤษมากขึ้น ก็ยิ่งต้องฝึกมากขึ้น ใครที่ทำหน้าที่ติดต่อประสานงานกับต่างประเทศ ทักษะทั้งการพูดและการเขียนเป็นสิ่งจำเป็นมากๆ
การช่วยเหลือออกจากถ้ำ
ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ต้องมีความชัดเจนในรายละเอียดตั้งแต่ขั้นตอนแรกไปจนถึงขั้นตอนสุดท้าย ต้องมีการฝึกฝน ซักซ้อม และต้องมีแผนรองรับในกรณีที่การทำงานเจออุปสรรค เพราะฉะนั้นทุกคนที่อยู่ในทีมจะต้องเห็นภาพขั้นตอนแต่ละขั้นตอนรวมทั้งเวลาที่ใช้ในแต่ละส่วนอย่างชัดเจน เพราะเป็นเรื่องของความปลอดภัยในชีวิตของทุกคน นอกจากนี้ การวางแผนการปฏิบัติงานยังต้องคำนึงถึงกำลังคน กำลังทรัพยากรด้านต่างๆ ความพร้อมของเครื่องมือเครื่องไม้ที่มีอยู่ด้วยเช่นกัน แผนการช่วยเหลือจึงต้องแบ่งออกเป็น 3 วันเพื่อให้เหมาะสมกับปัจจัยต่างๆข้างต้น
การประสานงานและส่งต่อตัวผู้ประสบภัยจากทีมหนึ่งไปยังอีกทีมหนึ่งก็ต้องแข่งกับเวลา ในขณะเดียวกันก็ต้องส่งต่อข้อมูลที่กระชับแต่ชัดเจนเพื่อให้สามารถประเมินสถานะของเด็กๆที่พาออกมาได้ เราจึงได้เห็นภาพการปฏิบัติ
++ข้อคิด++
(1)การประเมินศักยภาพของทีมและเครื่องมือในการทำงานให้เหมาะสมกับหน้างานจะช่วยให้งานเดินหน้าได้ตามแผน
(2) การจัดสรรกำลังคนและแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ โดยทุกทีมมีเป้าหมายเดียวกัน และตระหนักในความสำคัญของเวลา การตรงต่อเวลาถือเป็นวินัยหลักในการทำงาน
สุดท้ายคือ “การมีสติ” อยู่กับตัวตลอดเวลา รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้น และหาทางแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นตอนอย่างละเอียดรอบคอบ
หวังว่าเราจะได้เรียนรู้จากทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และนำมาปรับใช้กับการทำงาน การสร้างทีมที่แข็งแกร่งกับองค์กร
ภาพประกอบจาก google