fbpx

Hotel Consulting

รู้ให้จริง ทำให้เป็น เรื่องโรงแรม

“เราอยากทำความรู้จักประเทศไหน ให้เฝ้ามองผู้คนในประเทศนั้น”

ภูฏานเป็นอีกประเทศที่เขื่อว่าอยู่ในรายการประเทศที่อยากไปสัมผัสสักครั้งหนึ่งในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นสายธรรม สายธรรมชาติ สายจิตวิญญาณ สายท่องเที่ยว สายวัฒนธรรม และสายอื่นๆอีกมากมาย

การเดินทาง

เครื่องบินตรงจากกรุงเทพไปยังเมืองพาโร ภูฏานมีทุกวันใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงนิดหน่อย หรือจะชอบแบบบินแวะเมืองกัลกาตา อินเดีย นั่งรอในเครื่อง 35 นาทีเพื่อบินต่อไปยังภูฏานก็มีให้เลือกเช่นกัน เพราะฉะนั้นการเดินทางเข้าออกไม่มีปัญหา สะดวกสบาย แค่ต้องยื่นขอวีซ่าก่อนเดินทางเข้าประเทศให้เรียบร้อย คุณจะได้อิเล็กทรอนิกส์วีซ่า ถ้าไปกับทัวร์ เขาก็จัดการให้หมดทุกอย่าง

สนามบินตั้งอยู่ในเมืองเล็กๆชื่อ พาโร ในช่วงที่ไปกำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงขยายพื้นที่ โดยรอบมีแม่น้ำไหลผ่านข้างๆสนามบิน การขึ้น-ลงของเครื่องบินต้องใช้ความสามารถของกัปตันในการบินลัดเลาะหุบเขาเพื่อนำเครื่องลงและขึ้น ชวนให้ตื่นเต้นตั้งแต่เท้ายังไม่ได้แตะแผ่นดินภูฏานทีเดียว

ก่อนเครื่องจะลง จะบินผ่านเทือกเขาหิมาลัยอันยิ่งใหญ่ ตั้งตระหง่านอยู่ตรงหน้าเราทีเดียว ทั้งๆที่กัปตันประกาศว่า “เรากำลังบินอยู่ห่างจากหิมาลัยประมาณ 3 กิโลเมตร”

บรรยากาศโดยรอบของเมืองพาโร ไม่ว่าจะขับรถไปทางใดจะเห็นแม่น้ำขนาบข้างทางไปตลอด และถ้ามองไปบนภูเขาที่ห้อมล้อมเราก็จะเห็นบ้านเรือนที่ก่อสร้างในลักษณะตึก 3 ชั้นทาสีพาสเทลจาง ๆ ลดหลั่นกันตามเทือกเขาสลับกับป้อมปราการเก่าที่ปัจจุบันแปลงสภาพการใช้งานมาเป็นพิพิธภัณฑ์บ้าง สถานที่ทำงานของหน่วยงานราชการบ้าง นอกจากนี้ก็มีวัดขนาดต่างๆทั้งของส่วนกลางและวัดส่วนบุคคล….ว่าแล้วก็ออกไปยืนนอกรถแล้วสูดอากาศได้เต็มปอด พร้อมกับฟังเสียงน้ำในแม่น้ำที่ไหลผ่านก้อนหินทรงกลมขนาดต่างๆให้ชื่นใจ

นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาที่ภูฏานมีทั้งเพื่อนบ้านใกล้เคียงที่สนิทที่สุดของประเทศคือ ชาวอินเดียที่มาไหว้พระ ทำบุญตามเมืองต่างๆ รวมทั้งนักท่องเที่ยวในเอเซียอย่างบ้านเรา หรือญี่ปุ่น และไกลออกไปก็คือชาวยุโรปและอเมริกาที่นิยมชมชอบวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวภูฏาน เห็นได้จากทราเวลเอเย่นต์รายใหญ่ๆมีการตั้งสำนักงานในเมือง เช่น Cox & King ของอเมริกา หรือ Look JTB ของญี่ปุ่น เป็นต้น แต่อย่างไรก็ดี จำนวนนักท่องเที่ยวก็จะถูกจำกัดด้วยจำนวนเที่ยวบินในแต่ละวัน ถึงแม้จะไม่ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่า “จำกัดนักท่องเที่ยว”

ข้อสังเกตคือ รายได้จากการท่องเที่ยวของภูฏานจัดเป็นแหล่งที่มาของรายได้ของประเทศในลำดับที่ 2

ผู้คนโดยทั่วไป ถ้าเป็นคนรุ่นใหม่จะสามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้ดี ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านค้า หรือโรงแรมที่พักต่างๆ

วิถีชีวิต ถ้าเป็นเมืองหลวงคือ ทิมพู (Timphu) ก็จะไม่ต่างจากเมืองหลวงทั่วไป คือ เช้าและเย็นการจราจรจะติดขัด เนื่องจากถนนในเมืองมีถนนเส้นหลัก 2 เส้น คือ ถนนบน และถนนล่าง และแยกขึ้นไปตามเขาต่างๆ ที่เต็มไปด้วยอาคารที่พัก ร้านค้า และโรงแรม แต่ท่ามกลางความรีบเร่ง มุมที่น่ารักของวิถีชีวิตที่จะสัมผัสได้ก็คือเวลาที่เด็กเลิกเรียน เราก็จะได้เห็นเด็กๆเดินกลับบ้าน แวะเล่นกันระหว่างทางตามสนามเด็กเล่น เล่นชิงช้า ไม่กระดก หรือเล่นไล่จับกันพื้นที่โล่ง ความสนุกของเด็กวัยประถมที่ยังสัมผัสได้ เด็กบางคนก็มีผู้ปกครองขับรถมารับทำให้การจราจรติดขัดบริเวณหน้าโรงเรียน แต่ภาพที่น่ารัก ๆ ก็ยังเห็นได้ทั่วไป

บรรยากาศประทับใจอีกอย่าง คือ ความศรัทธาต่อสิ่งที่นับถือ ผู้คนยังไปวัด ถือลูกประคำ สวดมนต์และเดินวนตามเข็มนาฬิกาตามวัดและสถานที่สำคัญ เช่น Memorial Choten โดยกราบแบบอัษฎางคประดิษฐ์ ให้ร่างกายสัมผัสพื้น 8 จุด

สิ่งที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงและการเติบโตของเมืองค่อนข้างเด่นชัดในการเยี่ยมเยือนภูฏานครั้งนี้คือ การก่อสร้าง

ทุกถนนจะเต็มไปด้วยการก่อสร้าง มีรถบรรทุกวิ่งขนอุปกรณ์ก่อสร้าง อิฐ หิน ปูน ทราย เหล็กเส้นเต็มไปหมดด้วยความรีบเร่ง โดยแรงงานส่วนใหญ่ที่เห็นจะเป็นคนอินเดีย ไม่ใช่คนภูฏาน

ทางการของภูฏานมีการกำหนดอาชีพที่สงวนไว้ให้เฉพาะคนภูฏานทำเช่นกัน ปัจจุบันสงวนอาชีพไว้ 28 ประเภท (Closed Occupation List) เพื่อสร้างโอกาสในการทำงานให้กับคนในประเทศ และไม่พึ่งพาชาวต่างชาติมากจนเกินไป (ปัจจุบันมีแรงงานต่างชาติ 53,000 คน )

สำหรับเด็กที่เรียนจบในระดับวิชาชีพหรือปริญญาตรีที่ไม่มีงานทำมีอยู่มากพอสมควร จึงออกไปทำงานยังต่างประเทศกันส่วนหนึ่ง ส่วนคนที่อยู่ในประเทศนั้น อาชีพที่เด็กจบใหม่อยากจะทำคืออาชีพไกด์นำเที่ยว เพราะสามารถทำรายได้ที่ดีเพราะมีทิปจากนักท่องเที่ยวมาเสริมช่วยสร้างรายได้ให้ครอบครัวในระดับที่ดีทีเดียว

ตอนแรกขอเล่าในภาพรวมก่อน และตอนต่อไปจะมาเล่าเรื่องโรงแรมที่พักต่างๆให้ฟังค่ะ