fbpx

Hotel Consulting

รู้ให้จริง ทำให้เป็น เรื่องโรงแรม

การแข่งขันชิงแชมป์อเมริกันฟุตบอลครั้งที่ 54 จบลงไปเรียบร้อยเมื่อช่วงสายของวันนี้ มีทั้งรอยน้ำตา และรอยยิ้มในแบบหลายอารมณ์ และเป็นการแข่งขันที่เข้มข้นอีกปีสมกับการรอคอยของแฟนฟุตบอลทั้งสองทีม รวมทั้งแฟนๆที่ชื่นชอบกีฬาประเภทนี้

ในแต่ละปี 17 สัปดาห์ในแต่ละซีซั่นแต่ละทีมมีการเตรียมตัวกันมาอย่างดีตั้งแต่การคัดตัวผู้เล่น การซื้อตัวผู้เล่น การย้ายทีม การฝึกซ้อม การบาดเจ็บ การเปลี่ยนโค้ชทีมรับ ทีมรุก โค้ชใหญ่ ไปจนถึงการวางแผนโฆษณามูลค่ามหาศาลตลอดฤดูกาลในแต่ละปี

ปีนี้ทีมแคนซัสซิตี้ชีฟเล่นได้ดี เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นที่ต้องการจะเป็นแชมป์ให้สมกับการรอคอยมาถึง 50 ฤดูกาลแข่งขัน ทีมรุก ทีมรับ และความโดดเด่นเฉพาะตัวของผู้ขว้างลูกหรือ “ควอเตอร์แบ็ค” ที่ได้ทั้งขว้างลูก วิ่งทำระยะเอง ไปจนถึงการวิ่งทำทัชดาวน์

เอาเป็นว่าการแข่งขันตั้งแต่ 6.30-10.30 น.เมื่อเช้าวันนี้สนุกครบเครื่อง ถึงแม้จะผิดหวังกับทีม Sanfrancisco 49ers ที่ทำสถิติดีมาตลอดฤดูกาลก็ตาม

ที่เล่ามายืดยาวพอสมควรเพราะอยากให้เปรียบเทียบการเตรียมตัวและการแข่งขันอเมริกันฟุตบอลกับการทำงานในทุก ๆ เรื่องที่เราสามารถนำข้อดีในการแข่งกีฬาประเภทนี้มาปรับใช้กับการทำงานของเราได้ มาดูกันไปเป็นข้อ ๆ ตามนี้ได้เลยค่ะ

  • การแข่งอเมริกันฟุตบอล ไม่มีการถอดใจ แม้จะเหลือเวลาอีกไม่ถึง 5 วินาที ทุกคนไม่ว่าจะทีมรุก ทีมรับ เล่นกันอย่างเต็มที่ ราวกับการเริ่มต้นเล่นในวินาทีที่ 1 เลยทีเดียว
  • โค้ชใหญ่ของทีมจะมีแผนการเล่นถือติดตัวตลอดเวลา แผนการเล่นจะเขียนละเอียดว่าจะเล่นเกมส์แบบไหน อย่างไร เมื่อเกิดสถานการ์ณต่าง ๆ พร้อมที่จะหยิบขึ้นมาใช้ และต่อให้เป็นโค้ชมาเป็นเวลายาวนานกี่สิบปี เขาก็ยังใช้วิธีบันทึกแผนการเล่นอย่างเป็นระบบลงบนกระดาษ หรือบนอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่นไอแพดตามความสะดวก แต่เขาไม่ใช้ “การจำ” หรือเชื่อมั่นในความเป็นโค้ชใหญ่ประสบการ์ณมานับไม่ถ้วนมาเป็นตัวชี้ชะตาของผู้เล่นในทีมเป็นอันขาด
  • อเมริกันฟุตบอลมีการเก็บสถิติที่ละเอียดมากถึงมากที่สุดทั้งในแง่ สถิติของทีม และสถิติของตัวผู้เล่นแต่ละคนทั้งทีมรุกและทีมรับ และแยกแต่ละฤดูกาลแข่งขัน เมื่อมีการคัดตัวผู้เล่น เขาไล่ประวัติย้อนไปตั้งแต่มัธยม มหาวิทยาลัย ซึ่งก็จะมีการเก็บประวัติหรือการทำโพรไฟล์ของผู้เล่นเป็นอย่างดี
  • การเรียกการเล่นแต่ละครั้ง บางทีมโค้ชเป็นผู้กำหนดแผนการเล่นแต่เพียงผู้เดียว แต่บางทีมเปิดโอกาสให้ควอเตอร์แบ็คร่วมออกแบบการเล่น และเรียกแผนเฉพาะกิจได้เช่นกัน
  • การเก็บสถิติการเล่นแต่ละครั้ง การทำทัชดาวน์แต่ละครั้งจะบอกรายละเอียดว่าใช้การเล่นทั้งหมดกี่ครั้งกว่าจะทำทัชดาวน์ได้ เป็นการทำระยะวิ่งกี่ครั้งเป็นกี่หลา การขว้างกี่ครั้งรวมเป็นกี่หลา ภายใต้สภาวะอากาศและความเร็วลมในสนามที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และหากจะนำการเล่นแบบเดิมกลับมาใช้ก็ต้องวิเคราะห์อย่างละเอียด
  • ทีมโค้ชที่อยู่ริมสนามจะทำงานอย่างสอดประสานกับทีมวิเคราะห์การเล่นที่นั่งอยู่ในมุมสูง ในห้องควบคุม วิเคราะห์ภาพจากจอมอนิเตอร์ ภาพจากการถ่ายทอดทีวี เพื่อให้ได้มุมมองที่ครบถ้วน และรายงานกลับมายังโค้ชใหญ่เพื่อทราบจะได้มีข้อมูลที่แม่นยำในการตัดสินใจเรียกการเล่นต่อไป
  • ควอเตอร์แบ็คเองบางคนก็จะมีปลอกแขนที่เสียบกระดาษแผนการเล่นไว้และจะใช้ดูเพื่อให้แน่ใจก่อนการเล่นเสมอ
  • สถิติที่การเล่นที่เก็บไว้ ไม่ใช่เก็บไว้นิ่ง ๆ แต่เขาจะนำมาใช้วางแผนการเล่นเสมอ เช่น ถ้าปกติการทำทัชดาวน์แต่ละครั้งใช้การเล่น 3-4 ครั้งรวมเวลาตั้งแต่ 5-10 นาที ถึงจะทำแต้มได้ เมื่อเวลาใกล้จะหมดควอเตอร์ (แต่ละควอเตอร์มี 15 นาที) โค้ชจะกำหนดแผนการเล่นที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้เสียการครอบครองบอลไปยังฝ่ายตรงข้ามซึ่งอาจส่งผลให้เสียหายถ้าลูกตกไปอยู่ในมือฝ่ายตรงข้ามเมื่อเวลาเหลือไม่เพียงพอที่จะทำการเล่นที่จะสร้างทัชดาวน์ได้ ซึ่งจะทำให้เสียโอกาส โชคดีอาจได้เพียงลูกเตะฟิลด์โกลด์เมื่อบุกไปใกล้เส้นทัชดาวน์ซึ่งก็จะได้เพียง 3 คะแนน แทนที่จะได้ 7 คะแนนจากการทัชดาวน์และเตะฟิลด์โกลด์
  • เมื่อเลือกแผนการเล่นผิด แทนที่จะวิ่งเพื่อให้เวลาหมุนไปเรื่อย ๆ แต่กลับเสี่ยงที่จะขว้างไกล และเสียการครอบครองในที่สุด ทีมที่ตัดสินใจผิดก็ต้องยอมรับในผลนั้น แต่เขาจะสู้ต่อไป

 

นี่เป็นเพียงตัวอย่างบางประเด็นที่ทำไมอเมริกันฟุตบอลที่ได้รับความนิยมอย่างมาก มีมูลค่าทางธุรกิจมหาศาล ค่าบัตรเข้าชมราคาหลักหมื่น หลักแสน ค่าโฆษณานาทีละหลายสิบล้านบาทเป็นอย่างต่ำ

 

ธุรกิจโรงแรมก็เช่นกัน ………

เรามีการเก็บสถิติกันตลอดไม่ว่าจะเก็บแบบลงตารางเอ๊กเซลเพราะเป็นที่พักขนาดเล็ก หรือให้ระบบบริหารจัดการ (PMS) เป็นผู้จัดเก็บ แต่มักไม่เคยนำมาวิเคราะห์ให้เกิดประโยชน์ บางโรงเวลาจะซื้อระบบ เลือกจะเอาโน่นนี่เต็มไปหมด แต่พอนำมาใช้จริง มีการใช้งานฟังก์ชั่นต่างๆไม่ถึง 30% ของฟังก์ชั่นทั้งหมดที่ระบบทำได้ บางโรงไม่ทราบแม้กระทั่งว่าจะนำข้อมูลออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร อิมพอร์ต เอ๊กซ์พอร์ตไฟล์ไม่เป็น ไม่มีการฝึกฝนกันในทีม และหัวหน้าทีมก็วิเคราะห์ข้อมูลไม่เป็น จึงเหมือนการทำงานแบบคนที่มองอะไรไม่ชัด วิ่งไปข้างหน้าเรื่อยๆ กับการลดราคา หวังว่าจะทำให้เกิดการจองห้องพักเพิ่มขึ้น และยังคงใช้มาตรการเรื่องราคาอย่างเดียวเสมอมา

พฤติกรรมลูกค้าผู้เข้าพัก มักไม่มีการจัดเก็บอย่างเป็นระบบเพื่อหาข้อสรุปความต้องการ และพฤติกรรมของลูกค้าแต่ละประเทศว่าแตกต่างกันอย่างไร จึงทำให้ไม่มีการทำการตลาดที่เหมาะสมและโดนใจ ตอบโจทย์ลูกค้าในประเทศนั้น ๆ แต่กลับเลือกที่จะใช้มาตรการลดราคาหว่านไปทั่ว ๆ ทุกตลาด ใครวิ่งมาชน ก็(คิดเอาเอง)ว่าทำสำเร็จ และเก่ง  เชื่อแบบนั้น ก็จึงเลือกใช้แต่แบบนั้น

เมื่อเลือกแผนไม่ถูก ไม่เหมาะ ไม่ได้จังหวะเวลา ผลที่ออกมาก็ไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ก็มักจะโทษทีมงานรุ่นก่อน ๆ เสมอว่าทำมาไม่ดี ต้องมาแก้ไข ก็เสียเวลาแก้ไขไปอีก …….มักเป็นแบบนี้เสมอ ๆ ในหลายโรงแรม

ประเด็นสุดท้าย คือ เวลาเจอทีมงานที่มีความรู้จริง รอบรู้จริงให้คำแนะนำ แต่เจ้าของไม่เชื่อในคำแนะนำ ไม่ให้งบประมาณเพื่อทำการตลาด การสร้างแบรนด์ การเพิ่มคุณค่าให้สินค้าเพื่อสร้างราคา แน่นอน ก็เท่ากับว่าเวลาที่จะเกิดผลสำเร็จก็ล่าช้าออกไป…..ตัวอย่างเช่นนี้มีอยู่มากมาย และได้เคยยกตัวอย่างให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง  และเมื่อจะกลับตัวกลับใจมายกระดับสินค้าตัวเองอีกครั้ง ลูกค้าก็ไปจดจำภาพลักษณ์เดิมที่ทำเสียหาย ซึ่งก็ต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะทำกลับมาได้

 

วันนี้ฝากข้อคิดจากอเมริกันฟุตบอลไว้แต่เพียงเท่านี้ หวังว่าเราทุกคน “จะไม่ยอมแพ้” กันง่าย ๆ แม้ว่าสถานการ์ณจะดูยากลำบากในอีก 11 เดือนข้างหน้า

ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนผ่านตรงนี้ไปได้อย่างราบรื่นค่ะ