


เวลาผ่านมาเกือบ 3 เดือนเราพอเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นว่าในอีก 9 เดือนที่เหลือเราควรจะทำอย่างไรกับโรงแรมที่พักของเรา หลายคนยังตกอยู่ในภาวะ “หาคนผิด” ไม่ก็ “โทษคนอื่น” ยังก้าวออกมาไม่ได้ ในขณะที่อีกหลายคนก็ออกก้าวเดินด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง ฮึดสู้ต่อไปด้วยภาระหน้าที่ต่าง ๆ ที่รออยู่
เรามาลงมือทำตัวเลขประมาณการของโรงแรมกันใหม่ดีกว่า มาดูตัวอย่างตามตารางนี้ไปทีละขั้น ทีละตอนกัน เพื่อที่เราจะได้เร่งลงมือแก้ไข และพร้อมกับสถานการ์ณข้างหน้าต่อไป



จากตารางข้างบน สมมติว่าเป็นโรงแรมประเภทบูติกโฮเต็ลในระดับพรีเมี่ยม มีจำนวนห้อง 35 ห้อง มีจำนวนพนักงาน 25 คน เดิมตั้งเป้าหมายอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 70% ทั้งปี และตั้งเป้าหมายมีอัตราค่าห้องพักเฉลี่ยที่ 2,975 บาทต่อห้อง
ตั้งแต่ต้นปีเมื่อมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 ตัวเลขตกลงอย่างต่อเนื่องในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วส่งผลให้รายได้ในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมลดลงมากกว่า 50% จากเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ เนื่องจากในช่วงไตรมาสที่ 1 เป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว หรือ ไฮซีซั่น
ในขณะที่ฝั่งค่าใช้จ่ายในช่วง 3 เดือนแรกที่ผ่านมายังคงอยู่ในสัดส่วน 35% ของรายได้รวม เนื่องจากยังไม่มีการปรับลดพนักงานแต่อย่างใด เฉลี่ยเดือนละ 9 แสนกว่าบาท แบ่งเป็น 70% เป็นเงินเดือนค่าจ้าง 25% เป็นเรื่องพลังงานและสาธารณูปโภคต่าง ๆ และอื่นๆ 5%
ถ้าค่าใช้จ่าย 70% คือเงินเดือนค่าจ้างของพนักงาน 25 คน เท่ากับว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวของพนักงานประมาณหัวละ 25,500 บาท (ตัวเลขกลม ๆ) ภายใต้การทำงาน 22 วันต่อเดือน (โรงแรมนี้สวัสดิการดี ให้พนักงานหยุดสัปดาห์ละ 2 วัน……หายากมากกก)
.
.
คราวนี้เรากลับมาดูฝั่งรายได้ของ 9 เดือนที่เหลือในปี 2563 นี้ สถานการ์ณจะเป็นอย่างไร
ถ้าเราสมมติว่าอัตราการเข้าพักยังสามารถประคองอยู่ได้ที่ 35% รายได้จะลดลงจากเป้าหมายที่เดือนละ 2.2 ล้านบาท เหลือเพียงเดือนละ 0.67 ล้านบาท หรือ 6 แสนกว่าบาทต่อเดือนเท่านั้น
ดังนั้นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เดิมกำหนดไว้ที่ 35% เฉลี่ยเดือนละ 7 แสนกว่าบาท ในภาวะที่รายได้ลดลงสูงถึง 70% เหลือเพียงเดือนละ 6 แสนกว่าบาท แน่นอนว่าไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นแน่นอน
สิ่งที่ควรทำคือ…
- เรียกประชุมพนักงานเพื่อหาทางออกร่วมกัน ผลที่ได้รับย่อมแตกต่างไปในแต่ละโรงแรมขึ้นอยู่กับว่าที่ผ่านมา “คุณดูแลเขาอย่างไร” บางโรงแรมดูแลพนักงานอย่างดีตลอดมา พนักงานมีข้อเสนอแนะมาทันทีหลังประชุม เช่น เขายินดีลดวันทำงานไม่รับเงินเดือนสัปดาห์ละ ….วันเพื่อให้ทุกคนได้ทำงานต่อ หรือเขายินดีที่จะลาพักแบบไม่รับเงินเดือนเป็นเวลา ….วันต่อเดือนเพื่อช่วยโรงแรมลดค่าใช้จ่าย และเราจะได้ไปต่อด้วยกัน
- ปรับรอบการทำงาน และจำนวนพนักงานต่อรอบให้เหมาะสมกับปริมาณลูกค้าที่คาดว่าจะเกิดขึ้น และคำนวณออกมาเป็นค่าใช้จ่ายที่สามารถปรับลดได้
- ปรับลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็นในบริเวณต่าง ๆ ของโรงแรมให้ได้มากที่สุด
- ปรับลดค่าใช้จ่ายในการจัดซืัอข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับอัตราการเข้าพัก
ในขณะเดียวกันกับที่ปรับลดค่าใช้จ่าย คุณควรทำสิ่งเหล่านี้เพิ่มเติมด้วย
ใช้ช่องทางสื่อสารทางโซเชี่ยล และหน้าเว็บไซต์ อัพเดทบริการต่าง ๆ ของโรงแรมคุณ พร้อมทั้งช่วงเวลาที่เปิดให้บริการ และหากมีการปรับเปลี่ยนอะไรอื่น ๆ ก็ควรอัพเดทให้ลูกค้ารับทราบด้วยเช่นกัน
- รูปแบบการให้บริการในส่วนต่าง ๆ ทั้งห้องพัก ห้องอาหาร สปา อื่น ๆ อะไรปิด ก็แจ้งว่าปิด และปิดถึงช่วงเวลาไหน วัน เดือน อะไร
- ถ้ายังให้บริการอยู่ รูปแบบบริการที่เปลี่ยนไปเนื่องจากมาตรการป้องกันความเสี่ยงและการแพร่ระบาด เปลี่ยนไปอย่างไร เช่น การเข้าออกโรงแรม การพักค้าง การให้บริการของทีมแม่บ้าน และอื่น ๆ
- มาตรการอื่น ๆ ที่โรงแรมคุณนำมาใช้เพื่อสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยให้ผู้ใช้บริการ
- กิจกรรมที่คุณมีส่วนร่วมเพื่อช่วยสังคมในช่วงวิกฤต คุณทำอะไรบ้าง หรือมีแผนจะทำอะไร และคอยอัพเดทความคืบหน้าด้วย
เราจะผ่านวิกฤตไปได้แน่ถ้าทุกคน
มีวินัยต่อตัวเอง และส่วนรวม
ช่วยเหลือในสิ่งที่ตนทำได้ คนละไม้คนละมือ
รู้ “หน้าที่” ของตนเอง