fbpx

Hotel Consulting

รู้ให้จริง ทำให้เป็น เรื่องโรงแรม

April Fools’ Day แต่ไม่ fool yourself

เริ่มต้นเดือนใหม่ เดือนเมษายน ปี 2563 เดือนที่ร้อนที่สุด และเดือนที่มีวันหยุดยาวหลายวันที่สุด แต่ในปีนี้หลายโรงแรมประกาศหยุดกิจการ บางโรงหยุด 1-30 เมษายน เพื่อรอดูสถานการ์ณ บางโรงประกาศปิดกิจการเลย บางกลุ่มบางเชนจะเริ่มมาตรการทะยอยปิดโรงแรมในกลุ่ม ในแต่ละจังหวัด ในแต่ละประเทศทีละส่วน ทีละส่วนเพื่อลดค่าใช้จ่าย

ถ้าเราย้อนหลังไปตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมเมื่อต้นปีที่ผ่านมาเมื่อไวรัสโคโรน่าเริ่มที่เมืองหวู่ฮั่น ประเทศจีนและขยายตัวอย่างรวดเร็ว รุนแรงไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ธุรกิจท่องเที่ยวที่อยู่ในระบบนิเวศน์ค่อย ๆ ได้รับผลกระทบมาทีละธุรกิจ เนื่องจากมาตรการที่ทั่วโลกต้องช่วยกันคือ “ลดการเดินทาง” และ “ลดการติดต่อกัน” เพราะฉะนั้นเมื่อจำกัดและยกเลิกการเดินทาง ธุรกิจสายการบินรับแรงกระแทกจากมาตรการนี้แบบเต็ม ๆ และแรงกระแทกนั้นก็ส่งต่อไปยังเอเย่นต์ทัวร์ทั้งการนำเที่ยวภายในประเทศ การนำนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศ (Inbound agent) การพานักท่องเที่ยวในประเทศออกไปเที่ยวยังต่างประเทศ (Outbound agent) และลงไปในระดับนักท่องเที่ยวที่เดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเอง (FIT) และในเดือนมีนาคม ธุรกิจโรงแรมที่พักทั่วโลกก็สะท้อนภาพที่ชัดเจนมากขึ้นหลังจากในเดือนกุมภาพันธ์ที่ทุกโรงพบกับสภาวะที่อัตราการเข้าพักลดลงมากกว่า 50% หรือบางโรงแรมไม่มีลูกค้าเข้าพักเลย

จากต้นเดือนมีนาคมที่เราเริ่มนำเสนอบทความ ทางรอดโรงแรม เพื่อเตรียมไปต่อ สำหรับโรงแรมรีสอร์ทที่ยังมีเป้าหมายที่จะเดินต่อไปและรอดูสถานการ์ณไปพร้อม ๆ กัน ไปจนถึงนำภาพกิจกรรมที่โรงแรมและรีสอร์ทดำเนินการในช่วงรีโนเวตหรือปรับปรุงโรงแรมมานำเสนอ และบทความล่าสุดในเรื่องการจัดสรรงบประมาณใหม่ให้สอดคล้องกับภาพที่เป็นจริง

หากผ่านมาทั้งสามบทความแล้วและล่วงเลยมาจนถึงเดือนเมษายน หรือเข้าไตรมาสที่ 2 ซึ่งเราเห็นภาพแล้วว่าเรื่องนี้ยังคงอีกยาวขึ้นอยู่กับว่าแต่ละประเทศจะยอม “เจ็บแต่จบ” ในระดับความรุนแรงแค่ไหน ดังนั้นจากตารางประมาณการรายได้ที่เคยนำเสนอไป แต่ละโรงแรมสามารถใส่ตัวเลขแบบ Worst Case Scenario หรือจะไปถึง Doomsday Scenario ก็ควรจะเร่งทำ โดยให้คำนวณตัวเลขควบคู่ไปกับมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ และข้อกำหนดตามกฎหมายในเรื่องแรงงานสัมพันธ์ และกฎหมายแรงงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสรุปค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้น และตัดสินใจ อย่างเช่นที่เราเห็นกันตามข่าวที่โรงแรมบางแห่งเสนอมาตรการให้พนักงานเลือกว่า จะอยู่ต่อกับบริษัทและรับเงินเดือน 25% หรือยอมรับการเลิกจ้างพร้อมรับเงินเดือน 1 เดือนและการบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย เป็นต้น

สิ่งที่ควรทำ

  1. ให้ทีมการเงินใส่ตัวเลขค่าใช้จ่ายเปรียบเทียบระหว่าง “หยุดกิจการชั่วคราว” เป็นเวลา…..เดือน กับ “ปิดกิจการ”
  2. ให้ทีมการเงินอัพเดทสถานะการเงินล่าสุด ณ วันนี้ คือ 1 เมษายน เพื่อดูว่าโรงแรมอยู่ตรงไหน ทั้งเงินสดในบัญชี เงินในวงเงินเบิกเกินบัญชี(หากมี) ดูยอดคงค้างที่ต้องชำระให้เกิดการหมุนเวียน และวงเงินกู้ (หากมี) ดูยอดที่ต้องผ่อนชำระกับธนาคาร
  3. ให้ทีมการเงินตรวจสอบยอดเงินที่ยังคงค้างเรียกเก็บทั้งหมดว่ามีเท่าไหร่ และประมาณการว่ามีกี่เปอร์เซ็นต์ที่จะเรียกเก็บได้ และจะเรียกเก็บได้เมื่อไหร่
  4. หากเป็นกิจการร่วมลงทุนระหว่างเพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง หรือหุ้นส่วนทางธุรกิจ ควรหารือเพื่อหาข้อสรุป (ไม่ใช่ หารือเพื่อประวิงเวลา และไม่มีการตัดสินใจอะไร) ว่าจะไปในทิศทางใดเมื่อนำตัวเลขตามข้อ 1-3 มาพิจารณา
  5. ปรึกษาทีมกฎหมายให้รอบคอบหากจะมีการเลิกจ้าง หรือปิดกิจการว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรให้ถูกต้องตามกฎหมาย
  6. เช็คมาตรการล่าสุดที่มีการนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ช่วยเหลือธุรกิจโรงแรม รวมทั้งลูกจ้างในธุรกิจโรงแรม

แนะนำให้มองทุกอย่างจาก “ข้อเท็จจริง” ไม่ใช่ “การคิดเอาเองจากสิ่งที่ได้ยินมา” เพราะสถานการ์ณของแต่ละโรงแรมไม่เหมือนกัน การตัดสินใจของโรงแรมหนึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นการตัดสินใจของอีกโรงแรมหนึ่ง เนื่องจากประวัติการดำเนินงานของธุรกิจแต่ละโรงแรมมีที่มาที่ไปแตกต่างกัน บางแห่งถึงไม่มีสถานการ์ณไวรัสโควิด19 เขาก็ขาดทุนสะสมมานานหลายปีติดต่อกัน เมื่อมีวิกฤติเกิดขึ้นจึงยิ่งตอกย้ำว่าธุรกิจต้องปิดตัวลง เพราะฉะนั้นขอให้ “ตั้งหลักและพิจารณาธุรกิจตัวเอง” อย่างจริงจัง

#เราจะผ่านไปด้วยกัน