


ถ้าเราจะมาดูว่าโรงแรมของเราจะไปต่อได้อีกกี่เดือน หลังจากที่ปิดกิจการชั่วคราว ผู้บริหารโรงแรมควรพิจารณาประเด็นอะไรบ้าง
เรามาถอดบทเรียนการวิเคราะห์สถานะการเงินของกลุ่มโรงแรมในตลาดหลักทรัพย์แล้วกลับมาปรับใช้กับโรงแรมที่พักขนาดเล็กกันค่ะ
เริ่มจากทำความเข้าใจข้อเท็จจริงจากข้อมูลการเงินของกลุ่มโรงแรมขนาดใหญ่กันก่อนว่าถ้าตัวเลขเป็นไปตามนี้ อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง และมีผลอย่างไร
ธุรกิจโรงแรมขนาดโดยทั่วไปจะมีค่าใช้จ่ายแบ่งออกเป็น 2 ส่วนอย่างละ 50% คือ
(1) ค่าใช้จ่ายประจำ (Fixed Cost) และ
(2) ค่าใช้จ่ายผันแปร (Variable Cost)
สำหรับค่าใช้จ่ายนั้นในส่วนค่าใช้จ่ายประจำ 50% จะแบ่งเป็นค่าเงินเดือนค่าจ้าง 25% และค่าเช่าและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอื่น ๆ อีก 25%
และถ้าเมื่อไหร่ที่อัตราการเข้าพักหรือ Occupancy Rate ต่ำว่า 40% แปลว่า EBITA (Earning Before Interest Expenses Tax, and Amortization) หรือ กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดจ่าย จะแสดงตัวเลขติดลบ
ดังนั้นเมื่อโรงแรมต้องปิดชั่วคราว สิ่งที่เกิดขึ้นคือ
- ค่าใช้จ่ายพนักงาน 25% นั้นจะปรับลดได้เพียงบางส่วนก่อนที่รัฐบาลจะมีคำสั่งปิดโรงแรม เพราะผู้ว่าจ้างยังคงต้องจ่ายค่าจ้าง 75% อยู่แต่เมื่อผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดทยอยประกาศปิดโรงแรม ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ของผู้ว่าจ้างก็จะลดลง
- ส่วนกรณีที่โรงแรมเช่าที่ดินในการทำโรงแรม ค่าเช่าที่โรงแรมเช่าที่ดินระยะยาวเพื่อสร้างโรงแรมในช่วงเวลานี้ก็อาจเจรจากับเจ้าของที่ดินเพื่อขอลดค่าเช่าลดเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย ก็อาจลดไปได้บางส่วน
เพราะฉะนั้นหากข้อมูลเป็นประมาณนี้ โรงแรมจะสามารถลดค่าใช้จ่ายได้อย่างน้อย 50% หากปิดกิจการชั่วคราว
คราวนี้เมื่อปิดกิจการชั่วคราวแล้ว กระแสเงินสดจะมาจากไหนเพื่อใช้จ่ายค่าใช้จ่ายส่วนที่เหลืออีก 50% เพราะไม่มีรายได้จากค่าห้องพักเข้ามาแล้ว และโรงแรมจะอยู่ต่อไปได้อีกกี่เดือน
เรื่องนี้มีเงินทุนอยู่ 2 ส่วน คือ
- ใช้เงินทุนส่วนตัวของเจ้าของ/ ผู้ลงทุน หรือ เงินสดคงเหลือในบัญชี
- วงเงินสนับสนุนจากสถาบันการเงิน
ในโมเดลธุรกิจโรงแรมขนาดใหญ่ หรือ กลุ่มโรงแรมที่มีโรงแรมในเครือแบบมีจำนวน คือมีโรงแรมหลายแห่งอยู่ในกลุ่มนั้น การทำธุรกิจย่อมใช้เงินทุนจากสถาบันการเงินเพื่อสนับสนุนตั้งแต่การก่อสร้างและการดำเนินธุรกิจ ดังนั้นโรงแรมในลักษณะนี้จะมีสิ่งที่เรียกว่า Credit Facilities หรือวงเงินที่ธนาคารพาณิชย์สนับสนุนอยู่ และวงเงินเพิ่มเติมที่พร้อมจะปล่อยให้ทันทีเมื่อมีการร้องขอจากผู้ประกอบการโรงแรม
ในกรณีเช่นนี้ ถ้าไม่ใช้เงินสนับสนุนจากสถาบันการเงินโรงแรมอาจอยู่ได้อีก 3-6 เดือนขึ้นอยู่กับสถานะการเงินของแต่ละโรงแรม ส่วนถ้าใช้วงเงินสนับสนุนจากสถาบันการเงินจะช่วยต่ออายุไปได้มากกว่า 6 เดือน หรือประมาณ 6-12 เดือน ขึ้นอยู่กับสถานะทางการเงิน
ในส่วนความสามารถในการก่อหนี้ หมายความว่า ถ้าโรงแรมใดมีหนี้คงค้างที่ต้องผ่อนชำระในสัดส่วนที่สูงอยู่แล้ว จำนวนเงินหรือวงเงินที่จะได้รับจากสถาบันการเงินก็จะลดลง แต่ถ้าโรงแรมใดไม่ได้มีภาระหนี้คงค้างมาก ก็จะได้รับวงเงินสนับสนุนในปริมาณที่มากขึ้น เพราะสถาบันการเงินก็ต้องพิจารณาสัดส่วนหนี้ต่อส่วนทุนของแต่ละโรงแรม เพื่อป้องกันความเสี่ยง
ถ้าเรามาพิจารณาดูตัวเลขสัดส่วนหนี้ต่อทุนจากกลุ่มโรงแรมที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ 3 กลุ่มใหญ่
กลุ่มเซ็นทรัล มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน ณ สิ้นสุดปี 62 อยู่ที่ 0.54 เท่า
กลุ่มเอราวัณ มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน ณ สิ้นสุดปี 62 อยู่ที่ 1.71 เท่า
กลุ่มไมเนอร์กรุ๊ป มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน ณ สิ้นสุดปี 62 อยู่ที่ 1.31 เท่า
จะเห็นว่ากลุ่มเอราวัณมีอัตราส่วนที่สูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ เพราะทรัพย์สินส่วนใหญ่ หมายถึงโรงแรมที่อยู่ในกลุ่มจะเป็นการสร้าง ลงทุนสร้างและบริหารเอง ต่างจากกลุ่มอื่น ๆ ที่มีทั้งสร้างและบริหารเอง และเข้าไปบริหารธุรกิจให้กับเจ้าของโรงแรมอื่นที่ลงทุนสร้างโรงแรมแต่ต้องการให้เชนเข้ามาบริหาร
คราวนี้ถ้าเรานำข้อมูลนี้กลับมาเทียบเคียงกับโรงแรมที่พักขนาดเล็กบ้างว่าจะนำมาใช้อย่างไร
จริง ๆ มีลักษณะคล้ายกันอยู่แล้ว สามารถนำมาปรับใช้ได้ เพียงแต่ว่าสิ่งที่คุณควรจะพิจารณา มีดังต่อไปนี้
- เมื่อไหร่ที่รายได้คุณจะติดลบในสถานการ์ณปกติข้อนี้คุณควรกลับไปคำนวณว่าภายใต้สถานการ์ณปกติบนค่าใช้จ่ายประจำเดือนที่คุณมีภาระอยู่ คุณควรมีอัตราการเข้าพักที่เท่าไหร่
ในข้อนี้สำหรับโรงแรมเล็กจำนวนน้อยห้อง ส่วนใหญ่อัตราการเข้าพักอาจไม่สูงมาก แต่ราคาเฉลี่ยต่อห้องหรือ Average Room Rate ทำได้ในอัตราสูงกว่าโรงแรมทั่วไปอยู่แล้ว โดยเฉพาะโรงแรมประเภท Boutique Hotel แต่อย่างไรก็ดีก็สามารถปรับใช้เกณฑ์ในการทำธุรกิจทั่วไปมาพิจารณาก็ได้ หมายถึงว่า เวลาเราทำธุรกิจอัตรากำไรเบื้องต้น หรือ GOP (Gross Operating Profit) อย่างน้อยที่เราควรทำได้คือ 35% ซึ่งโดยปกติโรงแรมก็ควรทำได้สูงว่าอัตรานี้
2. สัดส่วนค่าใช้จ่ายเป็นอย่างไร ระหว่างค่าใช้จ่ายประจำ(Fix Cost) กับค่าใช้จ่ายผันแปร (Variable Cost) หลัก ๆ ของโรงแรมเล็กคือค่าใช้จ่ายเงินเดือนค่าจ้างพนักงานและค่าไฟฟ้า ลองคำนวณออกมาว่าเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ และคงเหลือเป็นค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เท่าไหร่
3. ความสามารถในการก่อหนี้ของคุณมีอยู่เท่าไหร่ข้อนี้ดูจากภาระหนี้คงค้างในปัจจุบันของคุณว่ามีอยู่เท่าไหร่ บางโรงแรมมีหนี้ที่ต้องผ่อนชำระอยู่แล้ว เช่น มีเงินกู้ระยะยาวที่กู้ยืมมาเพื่อก่อสร้างโรงแรมบางส่วน จะมีภาระหนี้ที่ต้องผ่อนชำระต่อเดือน เวลาไปขอเงินกู้เพิ่มเติม สถาบันการเงินจะดูความสามารถในการผ่อนชำระหนี้โดยรวมยอดหนี้เดิม และยอดหนี้ใหม่ที่จะกู้ และเทียบสัดส่วนกับส่วนทุน และจะปรับลดวงเงินที่จะกู้ยอดใหม่เพื่อไม่ให้ผู้กู้มีภาระหนี้หนักเกินไป
ลองดูตัวอย่างง่าย ๆ
สมมติคุณมีโรงแรมขนาดเล็ก 15 ห้อง ราคาห้องพักเฉลี่ย 1,800 บาท และพนักงานรวม 6 คน มีค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน 200,000 บาท เป็นค่าเงินเดือนค่าจ้าง 50% ค่าไฟฟ้า 50,000 และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการอื่นๆอีก 50,000 บาท
นอกจากนี้คุณมีภาระหนี้จากเงินกู้ระยะยาว 15.0 ล้านบาท เพื่อมาทำโครงการโดยมียอดต้องผ่อนชำระธนาคารอีกเดือนละ 230,000 บาท เท่ากับว่าแต่ละเดือนคุณมีค่าใช้จ่ายประมาณ 430,000 บาท แปลว่าในแต่ละเดือนคุณควรมีอัตราการเข้าพักไม่ต่ำกว่า55% ถึงจะเพียงพอที่ไม่ต้องควักส่วนทุนในกระเป๋าของคุณ สมมติว่าคุณไปเจรจากับธนาคารพักชำระหนี้ได้ 6 เดือน ลดค่าใช้จ่ายพนักงานไปได้ 50% จาก 100,000 เหลือ 50,000 บาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ลดไปได้อีก 80% จากเดือนละ 100,000 บาทเหลือ 20,000 บาท เท่ากับว่าภาระต่อเดือนคุณจะลดลงเหลือ 70,000 บาท คราวนี้คุณก็ต้องกลับมาดูว่าบนภาระ 70,000 บาทต่อเดือนที่คุณจะต้องประคองต่อไปในระหว่างที่โควิดยังไม่จบ คุณเหลือเงินที่จะไปต่อในช่วงนี้ได้อีกกี่เดือน ถ้าคุณมีเงินสำรองอยู่ 500,000 บาท เท่ากับว่าคุณอยู่ได้อีก 7 เดือน (500,000 / 7)
|
แต่อยากแนะนำว่าให้เผื่อเงินไว้เพิ่มเติมกรณีสมมติโควิดจบและคุณต้องรีบกลับมาเปิดให้บริการ จะมีค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูธุรกิจ ทำโรงแรมให้เตรียมพร้อมต้อนรับลูกค้าอีกครั้งเพิ่มเติม
ลองกลับไปคำนวณตัวเลขของโรงแรมคุณดูนะคะว่าเป็นอย่างไร
#เราจะผ่านไปด้วยกัน


