
นั่นสินะ…หลายคนคงตั้งคำถามว่า Travel Bubble หายไปไหน?
ถ้าไล่เรียงเวลาย้อนหลังไป 3 เดือนที่ผ่านมาหรือราวๆเดือนพฤษภาคม คำว่า “Travel Bubble” บนพาดหัวข่าว บนงานสัมมนาออนไลน์งานไหนงานนั้นต้องมีการพูดถึงคำนี้กัน และด้วยกระแสความเร็วของโลกออนไลน์คำๆนี้ก็ติดเทรนด์บนโลกทวิตเตอร์ในช่วงเวลาหนึ่ง เรียกได้ว่าทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวมีความหวังขึ้นมาพอสมควรทีเดียวในช่วงนั้น
เรามาตามหากันว่าทำไมคำว่า “Travel Bubble” จึงค่อยๆแผ่วและหายไปจากธุรกิจท่องเที่ยว
- แนวคิดในการฟื้นฟูการท่องเที่ยวแบบ Travel Bubble เริ่มจากการที่ประเทศที่มีพื้นที่ติดต่อกัน มีตัวเลขผู้ติดเชื้อในระดับต่ำใกล้เคียงกันค่อยๆการเปิดพรมแดนให้มีการเดินทางระหว่างประเทศกันได้โดยไม่ต้องมีการกักตัวหรือ Quarantine เพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวเช่น เยอรมันกับออสเตรีย นิวซีแลนด์กับออสเตรเลีย ให้ความสนใจและเร่งที่จะดำเนินการให้เกิดขึ้น
- การที่จะนำแนวคิดนี้ไปปรับใช้และปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมนั้น คงไม่ใช่แค่การเทียบจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อของแต่ละประเทศ แต่ประเทศเหล่านั้นควรมีมาตรการของภาครัฐในการจัดการ ดูแล และบริหารงานด้านสาธารณสุขที่ใกล้เคียงกันทั้งมาตรการเร่งด่วน มาตรการระยะสั้น ปานกลาง และระยะยาวที่ใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะมาตรการฉุกเฉินในการที่จะควบคุมเมื่อเกิดการระบาดขึ้น ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญที่สะท้อนให้เราเห็นอยู่บนหน้าข่าวทุกสัปดาห์
- ประเทศที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อต่ำสามารถควบคุมตัวเลขได้เป็นอย่างดี ไม่มีการติดเชื้อภายในประเทศติดต่อกันหลายวันย่อมต้องการที่จะให้เป็นแบบนั้นต่อไป แต่เมื่อมีการกลับมาระบาดอีกครั้งก็ทำให้ความมั่นใจที่จะใช้มาตรการเปิดพรมแดนก็ค่อยๆลดลง
- ตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศต่างๆกลับมาเพิ่มขึ้นทั้งในยุโรป และเอเชีย โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา อินเดีย และบราซิลทำให้ตัวเลขภาพรวมของทั้งโลกพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วจนทะลุ 15.0 ล้านคนเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม
- การกลับมามีตัวเลขผู้ติดเชื้อในเมืองดานัง เวียดนาม หรือล่าสุดในเมืองโอ๊คแลนด์ของนิวซีแลนด์ที่ต้องใช้มาตรการล๊อคดาวน์อีกครั้ง ยิ่งตอกย้ำว่าเรายังไม่ควรเปิดประเทศแต่อย่างใด ตราบใดที่เรายังไม่มีวัคซีนรักษาโควิด-19ที่ใช้แบบแพร่หลายได้
ประเทศไทยก็เช่นกัน เมื่อไล่เรียงเหตุการ์ณต่างๆที่เกิดขึ้นแล้ว การจะนำ Travel Bubble มาใช้อย่างจริงจังท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันคงเป็นไปได้ยาก
การเลือกเมืองท่องเที่ยวหลักที่จะมานำร่องในการจัดการท่องเที่ยวแบบกลุ่มเฉพาะอย่างเช่นภูเก็ต หรือเกาะสมุย จึงถูกหยิบยกมานำเสนอโดยมองประเด็นในแง่การกำหนดพื้นที่เฉพาะ และวางมาตรการกำกับในวงเล็กเฉพาะพื้นที่ที่คิดว่าบริหารจัดการได้จึงเกิดขึ้น
อย่างไรก็ดี การออกมาตรการต่างๆเพื่อนำมาใช้แก้ไข ป้องกันหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นในแต่ละพื้นที่นั้น ในทางปฏิบัติแล้วคงขึ้นอยู่กับ
- ความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาลของแต่ละประเทศ
- การปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าผู้เดินทางเข้ามาจะเป็นใคร ภาคธุรกิจ ตัวแทนรัฐบาล เจ้าหน้าที่หรือตัวแทนระหว่างประเทศ หรือนักท่องเที่ยวธรรมดา
- การคัดกรองผู้เดินทางทั้งก่อนเดินทาง ระหว่างเดินทาง และตรวจเช็คเมื่อถึงปลายทาง การกำหนดระยะการกักตัว และการตรวจระหว่างพำนักเป็นระยะจนถึงก่อนการเดินทางกลับ สิ่งเหล่านี้ต้องมีความชัดเจนทั้งวิธีปฏิบัติและความรับผิดชอบในทุกด้านที่จะเกิดขึ้น
เราไม่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศมากว่า 70 วัน แต่ตัวเลขผู้ติดเขื้อจากผู้เดินทางมาจากต่างประเทศมีทุกวัน เพราะฉะนั้นคงต้องเฝ้าระวังกันต่อไป การ์ดต้องไม่ตก และไม่ประมาทเป็นเด็ดขาด
เน้นการสร้างการท่องเที่ยวในประเทศให้แข็งแรงต่อไปจนถึงสิ้นปี อย่าไปตั้งคำถามว่า “เมื่อไหร่จะกลับมาเหมือนเดิม” ขอให้ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมตั้งเป้าหมายว่า “ตัวเลขเท่าไหร่ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่ยอมรับได้” และลงมือทำให้เกิดขึ้น
ในความเป็นจริงนั้น ไม่มีอะไรเหมือนเดิมเลยในแต่ละวัน เพราะฉะนั้น ขอให้ทำทุกวันให้เต็มที่ เต็มกำลัง ปรับตัว ปรับแผน และลงมือทำเท่านั้นที่จะทำให้คุณไปต่อได้