fbpx

Hotel Consulting

รู้ให้จริง ทำให้เป็น เรื่องโรงแรม

เกาะสมุย กับทางที่จะไปต่อ

สัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีโอกาสลงไปที่เกาะสมุย 2-3 วัน ขับรถดูความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบ ๆ เกาะ ถนนหนทางที่เร่งดำเนินการขยับขยายปรับปรุงให้ดีขึ้นเป็นระยะ ๆ บ้านเรือนผู้อยู่อาศัยที่เปลี่ยนไป กิจการทั้งโรงแรม และร้านอาหาร รวมไปถึงร้านขายของต่างๆตามจุดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เงียบสงบบ้าง มีนักท่องเที่ยวไทยบ้าง และที่ปล่อยทิ้งบ้าง เมื่อมาเปรียบเทียบกับภาพต่าง ๆ ที่เราเห็นบนสื่อออนไลน์ หรือจากการให้สัมภาษณ์จากคนที่อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวแล้ว อยากตั้งข้อสังเกต 4-5 ประเด็นกับเส้นทางที่เกาะสมุยจะเดินต่อไปข้างหน้าว่าจะเป็นอย่างไร และควรทำอย่างไร

1. ฤดูท่องเที่ยวของเกาะ

ฤดูท่องเที่ยวของเกาะสมุยนั้น บางท่านยังคงสับสนอยู่ เนื่องจากมีความแตกต่างกับชายทะเลทางฝั่งอันดามัน คือ ภูเก็ต กระบี่ พังงา ที่เป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก แต่เกาะสมุยตั้งอยู่ในอ่าวไทย ฤดูกาลที่เรียกว่าเป็นไฮซีซั่น (High season) ก็จะเป็นเดือนมกราคม – กลางเดือนเมษายน และกลางเดือนกรกฎาคม – กลางเดือนกันยายน ส่วนโลว์ซีซั่น (Low season) ก็จะเริ่มตั้งแต่พฤษภาคมไปจนถึงต้นกรกฎาคม และอีกช่วงคือกันยายน ถึงกลางเดือนธันวาคมเลยทีเดียว แต่ด้วยความที่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมายังมีฝนไม่มาก บางโรงแรมจึงขยับช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นช่วงระหว่างไฮจะเข้าสู่โลว์ หรือเรียกว่าเป็นโชลเดอร์ (Shoulder) ซีซั่นก็มี ส่วนปลายปีคือช่วงคริสมาสต์ จนถึงขึ้นปีใหม่ก็จะเป็นช่วงพีค (Peak season)

นั่นคือฤดูกาลท่องเที่ยวในสถานการณ์ปกติที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้ โรงแรมรีสอร์ทบนเกาะจึงตั้งราคาห้องพักตามสภาพอากาศที่เกิดขึ้น และถึงแม้ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนไป คงเหลือแต่เพียงตลาดในประเทศ หลายโรงแรมก็ยังคงตั้งราคาห้องพักโดยใช้ฤดูท่องเที่ยวเป็นตัวกำหนดราคาอยู่

ความจริงแล้วในประเด็นนี้โรงแรมรีสอร์ทที่พักต่างๆสามารถปรับราคาห้องพักให้สอดคล้องกับตลาดที่คงเหลืออยู่คือตลาดในประเทศ ที่ส่วนใหญ่คือ คนไทย ที่เวลาในการเดินทางพักผ่อนนั้นขึ้นอยู่กับวันทำงานและวันหยุดประจำสัปดาห์ ดังนั้นราคาห้องพักจึงควรปรับล้อไปตามกลุ่มลูกค้า แต่อย่างไรก็ดี ก็ควรแจ้งให้ลูกค้าเข้าใจถึงสภาพอากาศบนเกาะสมุย ว่าในแต่ละเดือนเป็นอย่างไร เช่น เดือนพฤศจิกายน เป็นหน้ามรสุม จะมีลมแรง ชายหาดบางแห่งมีคลื่นลมแรง ทะเลเป็นสีโคลน แต่บางวันก็เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทะเลใส แดดออกแรง หรือบางวันก็มีฝนตกเป็นระยะๆ

การให้ข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวกับสภาพอากาศนั้น เป็นการบริหารความคาดหวังของลูกค้าล่วงหน้าที่ทุกโรงแรมควรทำ

2. ภาพลักษณ์ของเกาะสมุย

ถ้าย้อนเวลากลับไป 20 ปีภาพลักษณ์ของเกาะสมุยคือเมืองท่องเที่ยวที่ “แบ็คแพ็คเกอร์” ตั้งเป้าหมายที่จะมาเยือนสักครั้ง และมาแต่ละครั้งก็พักกันยาว ๆ ไปเลยบนบ้านพักในแบบบังกะโลที่ยังเห็นต้นมะพร้าวเต็มเกาะ

แต่เกาะสมุยในปัจจุบันกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีแต่ที่พักระดับ 5 ดาวทั้งที่เป็นเชนโรงแรมจากต่างประเทศ และโรงแรมรีสอร์ทคนไทยที่สร้างแบรนด์ของตนเอง รวมไปถึงโรงแรมรีสอร์ทที่ตั้งราคาเทียบเท่า 5 ดาวแต่บริการยังไม่อยู่ในระดับที่จะเรียกว่า 5 ดาวได้ เรียกได้ว่าใครจะมาเที่ยวเกาะสมุยนั้นต้องเตรียมงบประมาณสูงกว่าเมื่อเทียบกับการเดินทางไปท่องเที่ยวจังหวัดชายทะเลอื่นๆในบ้านเรา

การที่ภาพลักษณ์ของเกาะสมุยเปลี่ยนไปแบบก้าวกระโดด จากตลาดราคาประหยัดเป็นตลาดหรู แน่นอนว่าการรับรู้ของนักท่องเที่ยวที่มีต่อเกาะสมุยก็เปลี่ยนไปด้วย และยิ่งการสื่อสารที่ออกมาไม่ได้ค่อย ๆ ปรับการรับรู้ แต่เป็นการตอกย้ำถึงความหรูหรา ความมีระดับ จึงหลีกเลี่ยงได้ยากที่จะทำให้เกาะสมุยมีการรับรู้จากนักท่องเที่ยวคนไทยในแบบที่ว่า “ใคร ๆ ก็มาเที่ยวเกาะสมุยได้”

ดังนั้นควรช่วยกันสื่อสารทางการตลาด การประชาสัมพันธ์เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวคนไทยในทุกระดับว่าไม่ว่าจะมีงบเท่าไหร่ แบบไหน เกาะสมุย เกาะพงัน เกาะเต่า ก็สามารถตอบโจทย์ได้

3. ตัวตนและความเป็น “เกาะสมุย”

เกาะสมุยมีความอบอุ่นและน่ารักมากมายที่ยังสามารถส่งต่อให้กับผู้ที่มาเยี่ยมเยือนไม่ว่าจะเป็นคนไทย หรือชาวต่างชาติ ดังนั้นการนำเสนอสิ่งต่างๆเหล่านี้ควรนำมาจัดเป็นหมวดหมู่ ประเภทต่างๆให้ชัดเจน และถ้าแบ่งตามกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีหลายประเภท หลายระดับได้จะยิ่งดีงามมากขึ้น

บางคนอาจเรียกข้อมูลในส่วนนี้ว่าเป็นการทำการตลาดเมืองท่องเที่ยว (Destination Marketing) ซึ่งในความเป็นจริงนั้นคงไม่ใช่แค่มาบอกว่า “ที่เกาะสมุยมีอะไร” แต่ควรจะขยายความเพิ่มเข้าไปว่าแล้ว “ทำไมถึงต้องมาที่เกาะสมุย” เพื่อได้รับประสบการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน สถานที่ท่องเที่ยว วิถีชาวบ้าน ชาวประมง ชาวสวนบนเกาะเป็นอย่างไร กิจกรรมที่สามารถทำได้บนเกาะมีอะไรบ้าง ถ้ามีเวลาน้อย ทำอะไรดี มีเวลาหลายวัน ทำอะไรดี สะดวกปลอดภัยเหมาะกับลูกค้ากลุ่มไหน ครอบครัวที่มีเด็กเล็กสามารถไปสนุกกับกิจกรรมนี้ได้หรือไม่ การเดินทางไปยังจุดต่างๆ เป็นอย่างไร ต้องขึ้นเขาสูงชัน หรือใช้เวลาในการเดินทางอย่างไร ต้องรอเรือ ต่อรถ และเดินอีกไกลแค่ไหน อุปกรณ์ที่ควรเตรียมไปมีอะไรบ้าง เหล่านี้เป็นต้น คือข้อมูลที่ควรนำมาคิดเป็นคอนเทนต์และค่อยๆทยอยนำเสนอออกมา

4. การเลือกใช้สื่อออนไลน์

เรื่องนี้มีหลายประเด็นเพราะบางครั้งโรงแรมมักจะต้องการให้ตัวเองมีตัวตนในทุกๆแพลตฟอร์ม หรือแอพพลิเคชั่นบนสื่อโซเชี่ยล แต่ไม่มีงบประมาณหรือทีมงานที่จะมาช่วยในการผลิตคอนเทนต์ป้อนในทุกสื่อที่มีได้

จริงๆแล้วโรงแรมรีสอร์ทไหนจะเลือกใช้สื่อออนไลน์ สื่อโซเชี่ยลมีเดียประเภทไหน ขอให้กลับมาพิจารณาจากลุ่มลูกค้าเป้าหมายของตนเอง หรือลูกค้าเป้าหมายที่โรงแรมต้องการจะเข้าถึง เพื่อที่จะได้รู้ว่าลูกค้าเหล่านั้นมีพฤติกรรมอย่างไร มีไลฟ์สไตล์แบบไหน เพื่อที่จะได้เลือกใช้สื่อ ผลิตคอนเทนต์ที่เลือกใช้ภาษา และรูปแบบการนำเสนอที่เหมาะสมและโดนใจกลุ่มเป้าหมาย

การเลือกที่จะใช้สื่อโซเชี่ยลหลาย ๆ แพลตฟอร์มแต่ไม่มีการสื่อสารอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง จะไม่ช่วยอะไรเลย เพราะวัตถุประสงค์ของการใช้สื่อโซเชี่ยลคือการส่งข่าวความเคลื่อนไหวในการทำกิจกรรมต่างๆของคุณให้กับลูกค้าได้รับทราบ ไม่ว่าวันนี้อากาศที่โรงแรมคุณเป็นอย่างไร พนักงานเป็นอย่างไร เมนูพิเศษของร้านอาหารในเทศกาลต่างๆ ไปจนถึงโปรโมชั่นของห้องพัก ดังนั้นเลือกใช้สื่อให้เหมาะ และทำปฏิทินการโพสบนโซเชี่ยลให้มีความสม่ำเสมอและต่อเนื่องทั้งในด้านเนื้อหา รูปแบบที่สะท้อนตัวตนที่มีเอกลักษณ์ที่ทำให้โรงแรมรีสอร์ทของคุณแตกต่างจากที่พักอื่น ๆ

5. ความสะอาด

ประเด็นสุดท้ายที่ขอตั้งข้อสังเกต การที่เกาะสมุยอยู่ในช่วงฤดูมรสุม แต่ในภาวะปัจจุบันที่ยังคงมีนักท่องเที่ยวคนไทยเดินทางมาสัมผัสความเป็นเกาะสมุยอยู่ การรักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมืองยังคงเป็นสิ่งจำเป็นมาก ๆ และถึงแม้จะไม่มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือน ความสะอาดของเกาะ ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของชาวเกาะก็ยังคงต้องรักษาไว้ ยังต้องต้องปลูกฝังในเรื่องระเบียบวินัยในการช่วยกันรักษาความสะอาด การทิ้งขยะให้ถูกที่ การแยกขยะ

สิ่งเหล่านี้เริ่มต้นทำได้ที่หน้าบ้านของทุกคน ที่หน้าโรงแรม รีสอร์ท ที่พักของทุกคน ช่วยกันปลูกฝังทีมงาน โดยเริ่มจากตัวคุณเองในฐานะเจ้าของกิจการ ในฐานะผู้บริหารที่จะทำให้เห็นเป็นตัวอย่างว่าเป็นอย่างไร อย่าปล่อยให้ทัศนคติที่ไม่ดี เช่น “ไม่เป็นไร ช่วงนี้ลูกค้าน้อย ไม่ต้องทำก็ได้ ” หรือ “ช่วงมรสุมก็แบบนี้แหละ ใครจะไปกวาดขยะได้หมด” เป็นต้น เข้ามาครอบงำความคิดและกระจายต่อ ๆ กันไป จนทำให้เกาะสมุยดูไม่น่ามอง ไม่น่ารัก เสน่ห์ที่เคยมีลดน้อยถอยลงไป

ช่วยกันนะคะ