fbpx

Hotel Consulting

รู้ให้จริง ทำให้เป็น เรื่องโรงแรม

โรงแรมจะเตรียมตัวพบแบงค์อย่างไร ?

โรงแรมจะเตรียมตัวพบแบงค์อย่างไร ?

ในช่วงเวลาแบบนี้อาจมีบางท่านที่โรงแรมใช้บริการสินเชื่ออยู่และต้องการเข้าไปพูดคุยกับธนาคารเพื่อปรับเงื่อนไขต่าง ๆ หรือในอีกบางส่วนก็กำลังพัฒนาโครงการของตนเอง บางคนกำลังเริ่มก่อสร้าง บางคนก่อสร้างใกล้เสร็จแต่ชะลอการเปิดให้บริการออกไปก่อนเพื่อดูสถานการณ์ ซึ่งไม่ว่าคุณจะอยู่ในสถานะหรือขั้นตอนไหน สิ่งที่คุณในฐานะ “ผู้บริหาร” หรือ “เจ้าของโรงแรม” ควรเตรียมพร้อมเวลาเข้าไปพบเจ้าหน้าที่ธนาคารมีอะไรบ้าง เราไปดูพร้อม ๆ กันค่ะ

ข้อย้อนกลับไปถึงหลักในการพิจารณาสินเชื่อของธนาคาร หรือ แนวทางในการวิเคราะห์ความเสี่ยง (Risk Analysis) เบื้องต้นก่อนว่ามีอะไรบ้าง

5 Cs กับการวิเคราะห์สินเชื่อ

1. Capital เงินทุน

เงินทุนที่เรียกว่า “ส่วนทุน” ที่คุณลงในธุรกิจมีอะไรบ้าง เช่น เงินลงทุนเริ่มต้น ใช้เงินไปเท่าไหร่ หากจดทะเบียนในแบบบริษัท มีเงินทุนจดทะเบียนเท่าไหร่ มีแหล่งเงินทุนอะไรบ้างที่คุณใช้ในการทำธุรกิจในปัจจุบัน ตัวเลขเงินทุนนี้ ธนาคารจะนำไปเทียบสัดส่วนความเสี่ยงกับส่วนหนี้ที่คุณจะมีจากการกู้ยืมเงิน เป็น ส่วนหนี้ ต่อ ส่วนทุน (Debt to Equity Ratio) ซึ่งธุรกิจแต่ละประเภท แต่ละธนาคารก็มีการกำหนดเงื่อนไขที่แตกต่างกัน บางธุรกิจก็กำหนด 1:1 ก็คือคนละครึ่งระหว่างส่วนทุนของคุณ กับส่วนเงินกู้ที่ธนาคารจะสนับสนุน ทั้งนี้เพื่อป้องกันความเสี่ยง แต่บางธุรกิจก็อาจกำหนดในสัดส่วนในแบบอื่น

2. Collateral ทรัพย์สินต่างๆ ที่ใช้เป็นหลักประกัน

ทรัพย์สินประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน สิ่งปลูกสร้างในรูปแบบต่าง ๆ อาคารพาณิชย์ บ้าน ตัวอาคารโรงแรม ฯลฯ ทรัพย์สินเหล่านี้ เมื่อคุณจะไปติดต่อกับธนาคาร ควรมีความชัดเจนว่าคุณจะใช้อะไรเป็นหลักประกันเพื่อค้ำประกันวงเงินสินเชื่อที่ธนาคารจะให้คุณ ซึ่งธนาคารก็จะส่งบริษัทประเมินราคาไปประเมินมูลค่าทรัพย์สินโดยการใช้หลักการประเมินราคาแบบต่าง ๆ และเฉลี่ยออกมาเป็นมูลค่าหลักประกัน ซึ่งตัวเลขนี้ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการวิเคราะห์ความเสี่ยงว่า มูลค่าหลักประกันเมื่อเทียบกับวงเงินสินเชื่ออยู่ในสัดส่วนเท่าไหร่ หน่วยเป็นเปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละธนาคารว่ากำหนดสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ที่ธนาคารยอมรับความเสี่ยงได้ตามประเภทหลักประกันอยู่ที่เท่าไหร่

3. Capacity ความสามารถในการผ่อนชำระ

ข้อนี้สำคัญ เพราะการปล่อยสินเชื่อธนาคารไม่ใช่เพื่อวัตถุประสงค์ที่จะมายึดหลักประกันของคุณมาเป็นของธนาคาร แต่การปล่อยสินเชื่อนั้นเป็นการที่ธนาคารเข้าร่วมทุนกับคุณ ดังนั้น ธนาคารย่อมต้องการเห็นธุรกิจของคุณดำเนินไปได้อย่างราบรื่น นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ธนาคารเข้ามาช่วยประเมินความเสี่ยงทางด้านการเงินผ่านดัชนีชี้วัดทางการเงินในหลากหลายรูปแบบ

การประเมินความสามารถในการผ่อนชำระนี้ก็จะประเมินจากรายได้ที่คุณสามารถหาได้ และ รายจ่ายของคุณที่มีภาระอยู่ในปัจจุบัน ไปจนถึงภาระหนี้ที่จะเกิดขึ้นจากวงเงินสินเชื่อที่ธนาคารให้คุณ ภาระหนี้ที่คุณแบกอยู่บนบ่าจะต้องไม่ทำให้คุณและธุรกิจของคุณมีหนี้ท่วมหัว หรือปล่อยหนี้จนเกินความสามารถในการผ่อนชำระได้

การประเมินทางฝั่งรายได้นั้น ธนาคารก็จะวิเคราะห์แบ่งเป็น 2-3 ฉากทัศน์ หรือ Scenario เพื่อประเมินความเสี่ยงในแต่ละกรณี ทั้งกรณีสถานการณ์ปกติ กรณีที่มีปัจจัยเอื้ออำนวยทุกอย่าง ไปจนถึงกรณีที่ไม่เป็นไปตามความคาดหมาย เป็น Worst Scenario เพื่อช่วยปิดความเสี่ยง

เพราะฉะนั้นเวลาคุณเตรียมตัวเลขไปพบธนาคาร ควรทำตัวเลขไป 2-3 กรณีพร้อมชี้แจงสมมติฐานในแต่ละกรณีให้ธนาคารเข้าใจอย่างชัดเจนว่าทำไมตัวเลขของคุณจึงออกมาเป็นแบบนี้

หลายกรณีที่เจ้าของโรงแรมทำตัวเลขแบบมองโลกในแง่ดีมากเกินไป โดยลืมนำประเด็นความเสี่ยงทั้งปัจจัยภายนอก ปัจจัยภายใน ทั้งปัจจัยที่ควบคุมได้ และปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้มาคิดวิเคราะห์ มองแต่วงเงินที่ต้องการจะได้ จึงทำตัวเลขเกินเลยไปมากจนดูว่าธุรกิจมีความสามารถในการหารายได้มากมาย กรณีแบบนี้แปลว่าคุณวางแผนธุรกิจบนความเสี่ยงมากเกินไป

4. Condition การวิเคราะห์ธุรกิจและแนวโน้มธุรกิจ

ในข้อนี้จะต่อเนื่องและเป็นเหตุเป็นผลกับข้อ 3 ในส่วนของความสามารถในการชำระหนี้ กล่าวคือ การวิเคราะห์และประเมินสภาพ แนวโน้มของธุรกิจโรงแรม ซึ่งก็คืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวในบ้านเราทั้งภาพรวมระดับประเทศ และในจังหวัดที่โรงแรมคุณตั้งอยู่เป็นอย่างไร

ตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยว (Number of Tourist / Guest Arrival) ประเภทนักท่องเที่ยว สัญชาตินักท่องเที่ยวต่างชาติ อัตราการเข้าพัก (Occupancy Rate) ระยะเวลาการเข้าพัก (Lenght of Stay – LOS)ในแต่ละทริปเป็นอย่างไรในแต่ละช่วงเวลาที่ผ่านมา มีปัจจัยอะไรเข้ามาเกี่ยวข้อง และแนวโน้มเป็นอย่างไร

ตัวเลขเหล่านี้สามารถหาได้จากกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ไปจนถึงรายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจที่หลายธนาคารทำออกมาเป็นเอกสารเผยแพร่เป็นระยะ ๆ

5. Character พฤติกรรมของผู้กู้

พฤติกรรมของผู้กู้ดูได้จากอะไร ? ก็ดูได้จากรายรับ รายจ่ายของคุณ ดูจากการใช้เงินของคุณ ดูจากการผ่อนชำระของคุณในอดีตว่าเป็นอย่างไร ทั้งเรื่องส่วนตัวและในส่วนธุรกิจอื่นที่มีอยู่ (หากมี)

จุดอ่อนของธุรกิจขนาดเล็กแบบ SME ก็คือการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ หมายความว่า ได้เงินกู้มาเพื่อทำธุรกิจ หรือเพื่อเพิ่มสภาพคล่องธุรกิจ แต่เจ้าของกิจการกลับนำเงินสินเชื่อที่ได้รับจากธนาคารไปเสริมหน้าตาทางสังคม เช่น ไปซื้อรถหรูใหม่ ไปเที่ยวต่างประเทศยกครอบครัว ไปซื้อบ้านใหม่ เป็นต้น อะไรที่เป็นการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ ในที่สุดก็จะย้อนกลับมาสะท้อนที่พฤติกรรมของผู้กู้นั่นเอง เมื่อธุรกิจมีปัญหาขาดสภาพคล่อง เริ่มฝืดเคือง เงินที่ควรจะช่วยธุรกิจที่ได้มาถูกใช้ผิดประเภทไปในเรื่องที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ แต่กลับก่อหนี้เพิ่ม เช่น ไปซื้อรถหรูที่ต้องผ่อนชำระเดือนละหลายแสน อีกหลายปี แน่นอนว่า ทั้งหนี้บนธุรกิจ และหนี้ส่วนตัวพอกพูนจนทำให้เจ้าของขยับตัวลำบาก ก็จะเริ่มผิดนัดชำระหนี้ ไปจนถึงไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ ทำให้มีปัญหาเรื่องเครดิต ติดเครดิตบูโร

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้สะท้อนจากพฤติกรรมของผู้กู้ทั้งสิ้น

.

.

.

นี่คือ 5 ประเด็นที่ธนาคารใช้วิเคราะห์สินเชื่อโดยทั่วไปที่เจ้าของโรงแรม และผู้บริหารโรงแรมควรทราบ และพึงระวัง

ในสถานการณ์วิกฤตในปัจจุบัน ถึงแม้ธนาคารจะมีการยืดระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ออกไป หรือมีวงเงินสินเชื่อประเภทซอฟท์โลนออกมาช่วยเหลือ แต่ในส่วนของธุรกิจโรงแรมเอง ก็ยังควรมีวินัยในการกำหนดกรอบเวลาให้ตัวเองเสมอ พร้อมทำแผนการบริหารธุรกิจในชัดเจนว่าในช่วงวิกฤตคุณจะทำอย่างไร ช่วงเริ่มฟื้นตัวคุณจะทำอย่างไร ช่วงที่เริ่มกลับมายืนได้คุณจะทำอย่างไร นำแผนงานของคุณในแต่ละช่วงเวลาไปคุยกับธนาคารให้เห็นภาพ และฝั่งธนาคารจะได้ช่วยประเมินความเสี่ยงทางด้านการเงินให้คุณเห็นภาพอีกภาพหนึ่ง แล้วจึงมานั่งเจรจาร่วมกันว่าจะเดินไปต่ออย่างไร

หวังว่าหลัก 5 C นี้จะช่วยในการเตรียมตัวของโรงแรมได้ดีขึ้นนะคะ

บทความเก่าเกี่ยวกับสินเชื่อธนาคาร สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ตามเส้นทางนี้ค่ะ

  1. คุยกับธนาคารให้รู้เรื่อง…โรงแรมต้องทำอย่างไร
  2. คืนทุนเร็วทำได้จริงๆหรือ
  3. SMEโรงแรม ก้าวไม่ไกลเพราะเข้าไม่ถึง