
เมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านตอนที่จะเริ่มสร้างประโยคที่จะทำให้ผู้ประกอบการโรงแรมตระหนักถึงความสำคัญในการทำโรงแรมให้ไปรอด จึงใช้คำว่า #ทางรอดโรงแรม ในการเขียนบทความหลายๆด้านเป็นเหมือนซีรี่ย์ในการบริหารจัดการโรงแรมที่มีประเด็นครอบคลุมตั้งแต่การบริหารจัดการหลังบ้าน วางโครงสร้างการบริหารงานให้เข้มแข็งพร้อมที่จะเดินหน้าไปด้วยความรวดเร็วพร้อมๆกับงานด้านการตลาดและการขายที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีและความคล่องตัวในการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อเพิ่มการเข้าถึงของลูกค้า
ต่อมาเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมามีโอกาสได้ร่วมทำงานสัมมนา ออกแบบคอนเทนท์งานให้มีความน่าสนใจ ประโยค “ทางรอดโรงแรม” ก็ยังคงถูกหยิบยกนำมาใช้ เพราะภัยเริ่มขยับเข้ามาใกล้ผู้ประกอบการโรงแรมมากขึ้น
จนมาถึง ณ ปัจจุบัน ระดับความรุนแรงของปัจจัยรอบด้านทั้งภายนอกภายในสำหรับการระบาดระลอกที่ 3 เข้ากระหน่ำทุกสายธุรกิจ และสำหรับธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมนั้นได้รับผลกระทบชนิดที่สาหัสมากขึ้น จากแรงสะท้อนภาพเล็กๆ ในที่สุดก็ขยายเป็นวงกว้างจนถึงภาพใหญ่ระดับมหภาคที่ถ่ายทอดให้เห็นผ่านรายงานเศรษฐกิจฉบับล่าสุดจากธนาคารแห่งประเทศไทย (Business Intelligence) ที่ระบุว่าครั้งนี้ธุรกิจท่องเที่ยว (Tourism) ได้รับผลกระทบหนักที่สุด
มาตรการต่างๆที่ออกมาเป็นลำดับตั้งแต่การระบาดครั้งที่ 1 ที่ไม่ตอบโจทย์โรงแรมที่พักขนาดเล็กและธุรกิจ SMEs ทั้งหลายก็ถูกปรับแต่งเพื่อให้รายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น เมื่อใกล้สิ้นสุดการระบาดระลอกที่ 2 ประกอบกับมาตรการฝั่งกระตุ้นการใช้จ่ายภาคประชาชนผ่านแคมเปญอุดหนุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเราเที่ยวด้วยกัน เราชนะ และอื่นๆ แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้าได้อย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้
และเมื่อมาถึงการระบาดระบอกที่ 3 ที่มาจากความหละหลวมและการไม่คิดถึงส่วนรวมของคนบางกลุ่ม นั่นยิ่งทำให้ทุกอย่างแย่ลงไปอีก
เรามีตัวเลขผู้ติดเชื้อขึ้นหลักพันตั้งแต่ 14 เมษายน และขึ้นแต่หลักสองพันต้นเดือนพฤษภาคม ในขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากหลักหน่วย จนขึ้นมาถึงหลักสิบที่ 31 คน ณ วันนี้
โรงแรมที่พักขนาดเล็กหลายแห่งหมดความหวังกับ “ทางรอด” แต่หันไปใช้ “ทางเลือก” ที่จะปิดกิจการชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น เพราะกำลังที่จะก่อหนี้เพิ่มนั้น ไม่มีแล้ว และจะกลายเป็นหนี้พอกพูนจนกลายเป็นหนี้มีปัญหาในที่สุด
โรงแรมกับความอยู่รอดในปัจจุบันนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่เราดูกันแต่ในคู่แข่งขันและราคาขาย หากแต่ “ความคล่องตัวในการปรับตัวด้วยความรวดเร็ว” ต่างหากที่เป็นตัวชี้วัดความอยู่รอดของธุรกิจ
ภาพโมเดลการทำธุรกิจเดิมๆจำเป็นต้องปรับออกไป และช่วยกันระดมสมองในทีมทั้งหมดจากระดับหัวหน้าจนถึงระดับปฏิบัติการเพื่อร่วมกันหาทางรอด มาแชร์ไอเดียกันอีกครั้งว่าเราจะทำอย่างไรกันต่อไป เพราะแต่ละโรงแรมก็มีปัจจัยที่แตกต่างกัน
และจากรายงานผลสำรวจล่าสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับสมาคมโรงแรมไทยในการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักระหว่างเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งในกลุ่มตัวอย่างมีโรงแรมที่เป็นที่พักทางเลือกหรือ ASQ ด้วยนั้น ผลการสำรวจในเรื่องสภาพคล่องนั้น 47% ของผู้ประกอบการมีสภาพคล่องไม่เกิน 3 เดือน ภายใต้สัดส่วนการจ้างงานเฉลี่ยอยู่ที่ 54% ของปริมาณแรงงานที่มีในช่วงก่อนโควิด-19
ให้คุณลองนำสัดส่วนนี้มาเทียบเคียงกับโรงแรมที่พักของคุณ โดยเฉพาะใครที่ทำที่พักขนาดเล็ก
ดังนั้น ครั้งนี้ขอให้ทุกทีม ทุกผู้ประกอบการรายเล็กกางแผนธุรกิจที่เคยวางไว้ออกมาปรับใหม่ หาทางเลือกโดยพิจารณาถึงปัจจัยที่มีอยู่ทั้งหมด และคิดมาตรการ 3 เดือน, 6 เดือน และ 1 ปี ออกมาพร้อมใส่ตัวเลขประมาณการค่าใช้จ่ายด้วยเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจน
ใครไม่ไหว คุยกับพนักงานตรงๆ ปิดชั่วคราวหรือจะพักก่อน ว่ากันไปตามปัจจัยและข้อเท็จจริง
ขอให้รักษาสุขภาพทุกท่านค่ะ