fbpx

Hotel Consulting

รู้ให้จริง ทำให้เป็น เรื่องโรงแรม

กระตุ้นท่องเที่ยวไตรมาสสุดท้าย

โรงแรมเตรียมตัวให้พร้อม

สัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงสัปดาห์นี้มีตัวเลขคาดการณ์มากมาย นอกเหนือจากรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นแบบพุ่งพรวดจากตัวเลขการติดเชื้อในทัณฑสถานหลายแห่ง

เริ่มจากตัวเลขประมาณการณ์จากธนาคารแห่งประเทศไทยที่ทำฉากทัศน์ให้เห็นภาพแบ่งเป็น 3 กรณี อธิบายควบคู่ไปกับปัจจัยที่จะส่งผลต่อการกลับมาของกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งรวมถึงตัวเลขนักท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้นด้วย ซึ่งปัจจัยที่สำคัญคือ ความรวดเร็วในการฉีดวัคซีน เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ให้เร็วที่สุด ซึ่งจากการประมาณการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่าจะเลื่อนออกไปอีก 1 ไตรมาสจากไตรมาสที่ 2 ปี 2565 เป็น ไตรมาสที่ 3 ปี 2565 ถ้าฉีดวัคซีนได้ 72% ของจำนวนประชากร

ที่มา เพจธนาคารแห่งประเทศไทย http://www.facebook.com/bankofthailandofficial

ตัวเลขต่อมา…

คือแผนการเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยตามโมเดลภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์ โดยจังหวัดภูเก็ตจะเป็นผู้นำร่องในเดือนกรกฎาคม และตามมาอีก 9 จังหวัดในเดือนตุลาคม ซึ่งแผนนี้จะเกิดผลสำเร็จก็ขึ้นอยู่กับปริมาณประชากรที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มเกิน 70% ของจำนวนประชากรในจังหวัดภูเก็ตเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันก็กำลังเร่งดำเนินการฉีดควบคู่ไปกับการส่งมอบวัคซีนล๊อตใหม่เข้ามาเพิ่มขึ้นให้ทันกับแผน

Phuket Sandbox
Challenging mode for Thailand
Phuket Sandbox

สถิติท่องเที่ยวที่ผ่านมา…

คราวนี้จากตัวเลขฉากทัศน์และแผนการเปิดประเทศข้างต้นแล้ว เราควรมาดูตัวเลขอะไรเพิ่มเติมกันบ้างเพื่อจะได้มองภาพความเป็นไปได้ของการท่องเที่ยวในบ้านเรา

สถิติจำนวนนักท่องเที่ยวไตรมาสที่ 4 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่การท่องเที่ยวสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวริมทะเลอย่างเช่น ภูเก็ต เกาะสมุย และหัวหิน ที่เราจะนำสถิติตัวเลขนักท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 4 ระหว่างปี 2017-2019 หรือก่อนที่จะเกิดโควิด-19 มาให้ดูกันว่าเป็นอย่างไร

สถิตินักท่องเที่ยวในสถานการณ์ปกติก่อนโควิด-19 นั้นตัวเลขในไตรมาสที่ 4 ของแต่ละปีมีความน่าสนใจและบทบาทของนักท่องเที่ยวชาวไทยสำหรับตลาดในประเทศยังคงเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญ

5 อันดับแรกของนักท่องเที่ยว (Tourist) จากสถิติของกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาที่รวบรวมได้สำหรับประเทศไทย ได้แก่

  1. ไทย
  2. จีน
  3. มาเลเซีย
  4. ญี่ปุ่น
  5. รัสเซีย

แต่ถ้าเราดูตัวเลขในภาพรวมแต่เพียงอย่างเดียวแล้วย้อนกลับไปดูแผนตามโมเดลแซนด์บ๊อกซ์ที่จะทำควบคู่กับ Travel Bubble 5 ประเทศของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ภาพประกอบด้านล่าง) เราก็จะเห็นว่ามีเพียงประเทศมาเลเซียเท่านั้นในไตรมาสที่ 4 ที่ตรงกับแผนทำ Travel Bubble

Travel Bubble Plan

ตามมาดู 3 จังหวัดท่องเที่ยวอย่าง ภูเก็ต เกาะสมุย และหัวหิน

เมื่อเราดูภาพรวมตัวเลขสถิติท่องเที่ยวทั้งประเทศแล้ว คราวนี้ก็ลองสุ่มดูสถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติกันดูบ้างว่าในสถานการณ์ปกติก่อนโควิด-19 นั้น นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในช่วงไตรมาสที่ 4 เป็นชาติใดกันบ้าง จากแผนภาพด้านล่างจะเห็นว่าทั้ง 3 เมืองท่องเที่ยวนั้น 2 อันดับแรกคือไทย และจีน ซึ่งหากเป็นจังหวัดภูเก็ตนักท่องเที่ยวจีนจะมีจำนวนเฉลี่ยเกือบ 750,000 คนในไตรมาสที่ 4, เกาะสมุยเฉลี่ยประมาณ 85,000 บาท ส่วนหัวหินนั้น แน่นอนว่านักท่องเที่ยวชาวไทยอันดับหนึ่งเฉลี่ยกว่า 870,000 คน และนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ว่าจะเป็นเยอรมัน สวีเดน อังกฤษ ฟินแลนด์จะเฉลี่ยอยู่ที่ 26,000 – 30,000 คนในไตรมาสที่ 4

สถิตินักท่องเที่ยวประจำไตรมาสที่ 4 ปี 2017-2019

ไล่เรียงตั้งแต่ภาพใหญ่จนถึงตัวอย่างภาพย่อยของเมืองท่องเที่ยวมาถึงตรงนี้

อยากบอกอะไร ?

  • สถานการณ์ท่องเที่ยวของไทยจะดีขึ้นภายในไตรมาสที่ 4 ได้นั้นขึ้นอยู่กับความรวดเร็วในการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศจะได้กลับมาเกิดขึ้นอีกครั้งอย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบ เกิดการจ้างงาน เกิดการใช้จ่ายจากผู้ผลิตสินค้า ไปยังผู้ผลิตวัตถุดิบ เกิดการใช้จ่ายจากผู้บริโภคไปยังผู้ผลิตสินค้าและบริการ…..เมื่อการเดินทางเกิดขึ้นได้อีกครั้ง ทุกอย่างก็จะขับเคลื่อนไปในทุกธุรกิจ
  • หากวัคซีนเข้ามาอย่างต่อเนื่องและเพียงพอตามแผนการผลิต รวมทั้งการกระจายวัคซีนและแผนการฉีดวัคซีนเป็นไปอย่างรวดเร็ว โมเดลการท่องเที่ยวตามแผนที่วางไว้ก็จะเกิดขึ้นได้
  • อย่างไรก็ดีโดยลักษณะและสถิติการท่องเที่ยวที่ผ่านมานั้นบทบาทของการท่องเที่ยวภายในประเทศก็ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญ และภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันนั้นก็ยิ่งต้องทวีความสำคัญมากขึ้น จะด้วยการกระตุ้นด้วยมาตรการสนับสนุนค่าใช้จ่าย หรือการนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวใหม่ตามเมืองรอง หรือนำเสนอการท่องเที่ยวแบบ Food Experience มากขึ้น ก็แล้วแต่การให้น้ำหนักและงบประมาณที่มีในแต่ละจังหวัด รวมไปถึงงบจากส่วนกลางที่จะช่วยประชาสัมพันธ์
  • การทำ Travel Bubble นั้น ปัจจัยไม่ใช่แต่เรื่องของประเทศไทยแต่เพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของประเทศที่เราจะไปทำข้อตกลงด้วยว่าจะสามารถยอมรับเงื่อนไขซึ่งกันและกันได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเงื่อนไขหลักก็คือการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ภายในประเทศให้เกิดขึ้นให้เร็วที่สุด ส่วนมาตรการกักตัวที่จะลดจำนวนวันลง หรือหากนักท่องเที่ยวต่างชาติฉีดวัคซีนครบแล้วไม่ต้องกักตัวก็ไปว่ากันในเรื่องมาตรการที่เน้นเรื่องความปลอดภัยและลดการแพร่กระจายกันต่อไป

สุดท้าย….

เวลาใครแถลงสถิติอะไร อยากให้ฟังแล้วนำกลับมาคิด วิเคราะห์ แยกแยะให้ดีว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่อย่างไร การพูดเพื่อประชาสัมพันธ์กับการพูดเพื่อจะนำไปปฏิบัติจริงต้องอาศัยปัจจัยและความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ใครมีแนวทางจะเสนอแนะกับทางการก็ช่วยกันเสนออย่างสร้างสรรค์ (Constructive Idea) เพื่อช่วยกันให้ไปต่อ ดีกว่าที่จะนั่งโทษกันไปโทษกันมาระบายอารมณ์กับคีย์บอร์ดนะคะ