


สังคมการถ่ายภาพกับทีมโรงแรม
วันนี้อยากนำเรื่องการถ่ายภาพในสังคมบ้านเรามาพูดคุยกันบ้าง แต่จะไม่ได้พูดในแง่การถ่ายภาพและแชร์ขึ้นโซเชียลในส่วนของคนทั่วไปที่เดินทางท่องเที่ยวไปตามที่ต่าง ๆ และอยากแบ่งปันให้เพื่อนฝูงได้เห็นนะคะ แต่จะพูดในแง่การทำงานของทีมงานภายในองค์กรของแต่ละธุรกิจ
เรื่องของเรื่องมาจากคำถามหลังไมค์เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมาที่ตั้งคำถามว่า “จะทำอย่างไรดีกับการถ่ายภาพของพนักงานในบริษัท? “
ในบริษัทคุณก็ประสบปัญหานี้เช่นกันหรือเปล่า ?
คำถามนี้ไม่ได้จบแค่ประโยคคำถามด้านบน แต่ถูกสำทับด้วยน้ำหนักของข้อมูลเพิ่มเติมว่า “มีหัวหน้างาน จริง ๆ ก็คือเด็กระดับ supervisor ของร้านที่ชอบถ่ายรูปส่งรายงานให้ผู้ถือหุ้นคนนึงตลอด และผู้ถือห้นคนนั้นก็ไม่ค่อยได้เข้ามาดกิจการในร้านแต่กลับเชื่อภาพนั้น โดยไม่ร้ที่มาที่ไปของภาพ”
ฟังแล้วก็ต้องบอกว่า…จริง ๆ เรื่องนี้คงไม่ใช่เรื่องถ่ายภาพเท่าไหร่ แต่การถ่ายภาพเป็นส่วนประกอบหนึ่งของเรื่องการบริหารจัดการ
เชื่อว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับหลายบริษัทแน่นอน
กรรมการหรือผู้ถือหุ้นสั่งให้พนักงานคนใดคนหนึ่งคอยถ่ายภาพรายงานสิ่งต่าง ๆ เช่น ความสะอาดภายในร้าน พนักงานทำน้ำหก ทำแก้วแตก น้ำนองพื้น พนักงานยืนจับกล่มคุยกัน เป็นต้น
ประเด็นคงไม่ใช่เรื่องผิดหรือถูก แต่อยู่ที่ว่ากรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนนั้นเลือกใช้การถ่ายรูปเป็นกระบวนการในการบริหารจัดการธุรกิจอย่างไร
ยกตัวอย่าง พนักงานถ่ายภาพอาหารหกเลอะเทอะที่พื้นร้านอาหาร 1 รูป และส่งรูปที่ทำความสะอาดเสร็จเรียบร้อยโดยมีพนักงานกำลังถูพื้นอยู่ หรือการถ่ายภาพห้องเก็บสต๊อกของ วัตถุดิบที่ไม่มีการจัดระเบียบให้สะอาดเป็นระบบ และภาพพนักงานกำลังจัดสต๊อกของให้เรียบร้อย และกรรมการ/ผู้ถือหุ้นคนนั้นก็ชื่นชมผลงานของพนักงานที่ถ่ายภาพ
แล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร เมื่อเกิดการประเมินผลงานพนักงานที่ไม่เหมาะสมให้คำชมกับพนักงานผิดคน พนักงานที่ทำงานน้อยใจ เสียใจ เพราะเป็นคนทำงานแก้ไขปัญหาเองทั้งหมด แต่กลับมีพนักงานอีกคนถ่ายภาพรายงานสิ่งต่าง ๆ ให้ผู้บริหาร และผู้บริหารชื่นชมกับผลงานของพนักงานที่ถ่ายภาพ
ไม่น่าเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ค่อย ๆ บั่นทอนทีมงานให้เกิดความแตกแยกได้ในที่สุด
เรื่องนี้คงต้องกลับมาแก้ไขที่ผู้บริหาร
และตั้งคำถามกับวิธีการบริหารจัดการโรงแรม หรือร้านอาหารของคุณว่าจะเอาอย่างไร
- ถ้าจะยังคงใช้การถ่ายภาพเป็นการรายงานการทำงาน ควรสร้างการถ่ายภาพให้เป็นการทำงานแบบปกติ และให้มีการหมุนเวียนสลับกันรายงานโดยทีมงานแต่ละทีม เพื่อให้เห็นมุมมองของพนักงานในแต่ละเรื่อง และผู้บริหารจะได้คอยให้คำแนะนำและฝึกทีมงานให้เก่งขึ้นจะดีหรือเปล่า
แต่ก็มีคำถามกลับมาอีกว่า ต่อให้จัดระบบการสลับกันถ่ายภาพ แต่ผู้บริหารบางคนก็ยังคงเชื่อและให้พนักงานคนที่ไม่ค่อยทำงาน แต่ชอบถ่ายภาพรายงานส่งภาพถ่ายให้ตนเองเป็นการส่วนตัว…..เรื่องนี้คงต้องขึ้นกับวิธีการจัดการในระหว่างกรรมการ/ผู้ถือหุ้นด้วยกันเองว่าจะอธิบายข้อเท็จจริงและแยกแยะประเด็นอย่างไร
- การประชุมผู้บริหารทุกรอบที่มีการประเมินผลการทำงานของพนักงาน ควรจัดระบบการวัดผล การชี้วัดที่ชัดเจนเพื่อให้การประเมินผลงานมีความเหมาะสมไม่ใช่ขึ้นอยู่กับความชอบหรือไม่ชอบเป็นการส่วนตัวของผู้บริหารคนใดคนหนึ่ง
- จัดการสลับตำแหน่งการทำงานกันเป็นช่วงเวลาอย่างสม่ำเสมอ เช่น รอบเช้า รอบบ่าย ให้สลับกันทุกเดือนหรือทุก 15 วันเพื่อให้พนักงานเข้าใจการทำงานที่แตกต่างกันในแต่ละรอบ และฝึกแก้ไขปัญหาในแต่ละช่วงเวลา เป็นต้น
- หมั่นยกตัวอย่างเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ลูกค้าคอมเพลนท์ในเหตุต่าง ๆ เวลาประชุมพนักงานระดับปฏิบัติการ และให้ฝึกช่วยกันแก้ไขปัญหาแบบครบวงจร
- กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และมาตรการสำหรับปัญหาแต่ละปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อให้ทีมระดับปฏิบัติงานใช้เป็นแนวทางในการทำงานต่อไป
ทีมงานคุณภาพขึ้นอยู่กับวิธีบริหารจัดการของผู้บริหาร
องค์กรจะเป็นอย่างไร จะขับเคลื่อนแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับทีมบริหาร เจ้าของกิจการและสมาชิกผู้ถือหุ้น กรรมการบริษัทที่จะมองและแยกแยะประเด็นหลัก ประเด็นปลีกย่อย ประเด็นระดับนโยบาย ประเด็นระดับการปฏิบัติการ เป็นต้น
เรายังคงอยู่ในสังคมการถ่ายภาพไปอีกนาน แต่อยู่ที่เราจะสร้างสังคมทีมงานคุณภาพที่ไม่ใช่สร้างผลงานจากการถ่ายภาพส่งผู้บริหารอย่างไรนั้น ล้วนขึ้นกับผู้บริหารล้วน ๆ
คุณว่าจริงหรือเปล่า ?