fbpx

Hotel Consulting

รู้ให้จริง ทำให้เป็น เรื่องโรงแรม

วันนี้ไม่ใช่อยู่ดี ๆ จะลุกขึ้นมาเขียนเรื่องเงินดิจิทัลแต่อย่างใดนะคะ แต่อยากมาแบ่งปันมุมมองจากการที่ได้เข้าฟังงานสัมมนาออนไลน์เมื่อวานนี้จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในหัวข้อ ” Cryptourism : Cryptocurrency กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในอนาคต” ที่มี CEO – bitkub คุณจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา และผู้ว่าการท่องเที่ยวไทย คุณยุทธศักดิ์ สุภสร มานั่งสนทนาแลกเปลี่ยนมุมมอง แนวโน้ม และบทบาทของเงินดิจิทัลต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย

หัวข้อน่าสนใจมากเพราะเป็นสิ่งที่เกิดใหม่แต่เติบโตด้วยความรวดเร็ว และเติบโตแบบก้าวกระโดด เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการเติบโตในธุรกิจต่าง ๆ และการเติบโตในภาคอุตสาหกรรมการเงินในระดับโลก ไม่ใช่เพียงแต่ในประเทศไทย

การใช้เงินดิจิทัลในปัจจุบันมีความแพร่หลาย และเรามักจะได้เห็นตัวอย่างการขับเคลื่อนและความแพร่หลายบนสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ผ่านทางผู้นำในองค์กรระดับโลกในธุรกิจประเภทต่าง ๆ ใช้เงินดิจิทัลในการซื้อขายสินค้าและบริการ การแลกเปลี่ยนต่าง ๆ

.

.

.

แล้วอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยจะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง ?

.

.

.

ขอแยกประเด็นที่จะแบ่งปันออกเป็น 4 ประเด็นใหญ่ ๆ เนื่องจากเนื้อหาในวงสัมมนาเมื่อวานมีความยาวกว่า 2 ชั่วโมง และมีการยกตัวอย่างให้เห็นภาพถึงกระบวนการ เส้นทางการใช้ และโอกาสความเป็นไปได้ต่าง ๆ มากมาย จึงอยากจะรวบประเด็นที่ผู้ประกอบการโรงแรมควรทำความเข้าใจเพิ่มเติมดังนี้ค่ะ

1. สภาพแวดล้อม

เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นใหม่ ๆ ในสังคม เรามักจะตื่นเต้นและให้ความสนใจว่าสิ่งนั้นคืออะไร อ่านจากข่าว รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างในจุดเริ่มต้น เมื่อได้อ่านมากขึ้น เห็นตัวอย่างการใช้งานมากขึ้น เราก็พอจะเห็นภาพบ้างว่าสิ่งนั้นคืออะไร แต่การที่จะนำสิ่งใหม่ ๆ มาใช้ในสังคมของแต่ละประเทศนั้น มีกฎเกณฑ์และระเบียบกติกาที่แตกต่างกัน ยิ่งเป็นสิ่งใหม่ที่เกี่ยวข้องกับ “ระบบการเงิน” แน่นอนว่าเรายิ่งควรทำความเข้าใจและศึกษาข้อมูลให้มากขึ้น

คำว่า “สภาพแวดล้อม” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแต่เฉพาะระบบนิเวศน์ทางการเงินเท่านั้น แต่ควรรวมไปถึงกฎกติการ โครงสร้างกฎหมายที่จะบังคับใช้ในแต่ละระดับของภาคธุรกิจตั้งแต่องค์กรขนาดใหญ่ ไปจนถึงระดับบุคคลทั่วไปที่ใช้งานรายย่อย เพื่อใช้กำกับดูแลและให้ความคุ้มครองรวมถึงอธิบายในเรื่องความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นให้ประชาชนได้เข้าใจ

แน่นอนว่าภาครัฐ และหน่วยงานต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับระบบการเงินในประเทศเรา ไม่ใช่เพิ่งจะมาขยับปรับตัวในเรื่อง “เงินดิจิทัล” แต่เขาศึกษา ทำความเข้าใจ วิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย และกรอบที่จะสามารถนำมาใช้ในสังคมการเงินในบ้านเราเพื่อรองรับการใช้จ่ายในอนาคต และเพื่อการยอมรับของคู่ค้าต่างประเทศในระดับต่าง ๆ

เพราะฉะนั้นในประเด็นเรื่องสภาพแวดล้อมนั้น โครงสร้างและข้อบังคับเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญ

เทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดด้วยความรวดเร็วนั้น ตัวแพลตฟอร์ม ตัวซอฟท์แวร์ ตัวแอพพลิเคชั่นจะทำงานได้ดีขึ้น ใกล้เคียงกับสภาพความเป็นจริงมากขึ้นเมื่อระบบได้เรียนรู้จากปริมาณข้อมูล (DATA) ที่เข้าสู่ระบบมากขึ้น และผู้ออกแบบก็จะสามารถปรับพฤติกรรม ปรับกลไกการทำงานเพื่อรองรับความหลากหลายของรูปแบบพฤติกรรมของผู้ใช้งานมากขึ้น

ทางฝั่งผู้ให้บริการมีความคุ้นเคยกับสิ่งใหม่ ๆ มาเป็นเวลายาวนาน จึงมองภาพต่างๆด้วยความรวดเร็ว บนทัศนคติ “CAN DO” ซึ่งก็ “CAN DO” หรือสามารถทำได้จริง แต่เมื่อย้อนกลับมายังภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยแล้วยังคงมีประเด็นที่ยังต้องปรับสภาพแวดล้อม ปรับโครงสร้างเพื่อรองรับสิ่งใหม่ ๆ อย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการทำธุรกรรม การจัดวาง การวางโครงสร้าง การออกแบบกระบวนการในระดับองค์กรที่เป็นส่วนหนึ่งของภาคการเมือง ภายใต้การกำกับดูแลขององค์กรที่มีสถานะเป็น “กระทรวง” ท่องเที่ยวและกีฬา ถึงแม้ปัจจุบันจะมีความคล่องตัวในประเด็นต่าง ๆ มากขึ้น และหน่วยงานต่าง ๆ ก็ปรับและขยับเพื่อหาช่องทางในการนำมาใช้ หรือแม้แต่ให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวสามารถเข้ามาเกี่ยวข้องในการริเริ่มทำอะไรใหม่ ๆ ร่วมกับภาครัฐ

2. โอกาสทางการตลาด

แน่นอนว่าเงินสกุลดิจิทัลมีบทบาทในระดับทั่วโลก เพราะฉะนั้นประเทศไทยในฐานะที่การท่องเที่ยวเป็นรายได้ที่สำคัญของประเทศ การเร่งปรับกลยุทธ์ทางการตลาด การสร้างระบบที่รองรับการท่องเที่ยวสำหรับกลุ่มไลฟ์สไตล์ใหม่ ๆ ไปจนถึงการอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวในเรื่องการชำระเงินที่รวดเร็ว มีทางเลือก และปลอดภัย โปร่งใส จึงเป็นสิ่งสำคัญ

โอกาสทางการตลาดที่กำลังเข้ามาถึงระดับผู้ประกอบการโรงแรม และนักท่องเที่ยวทั่วไปคือ การเปลี่ยนแปลงของไลฟ์สไตล์ของคน ทั้งเรื่องรูปแบบการประกอบอาชีพ การเลือกอาชีพ การใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน การท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อน ซึ่งจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่สามารถ “เลือก” ที่จะมีไลฟ์สไตล์แบบที่เรียกว่า “Digital Nomad” ได้แก่กลุ่มที่ไม่ได้นั่งทำงาน ณ สถานที่ใดที่หนึ่งเหมือนพนักงานประจำตามออฟฟิศ แต่เขาสามารถเดินทางไปนั่งทำงานที่ไหนก็ได้ที่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ทที่อยู่ในระดับที่เขาสามารถสื่อสารกับทีมงาน ลูกค้าได้ เพราะคนกลุ่มนี้สามารถรับงานจากหลาย ๆ บริษัท หลาย ๆ ผู้ว่าจ้างได้ในครั้งเดียวกัน เรียกว่าเป็น “Nano Contract” มีการรับจ้างทำงานเป็นจ๊อบ ๆ เป็นโปรเจ็ค ๆ เพราะฉะนั้นคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อเพราะมีแหล่งที่มาของรายได้จากหลายทาง และรักในการเดินทางท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ

ถามว่าแล้วจะเข้ามาเกี่ยวกับโรงแรมรีสอร์ทอย่างไร ?

การเข้าพักแบบระยะยาว หรือ Long stay นั่นเอง

โดยทั่วไปลูกค้าโรงแรมจะเป็นการเข้าพักระยะสั้นขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้งของโรงแรมรีสอร์ท แต่ด้วยกลุ่มลูกค้า “คนไทย” ที่มีวันพักผ่อนประจำปีไม่มากในแต่ละปี และขึ้นอยู่กับอายุงาน จึงมักจะเป็นการพักระยะสั้น ตั้งแต่ 2 วัน 1 คืน หรือ 3 วัน 2 คืน หรืออย่างมาก 4 วัน 3 คืน

แต่กลุ่มลูกค้าประเภท Digital Nomad จะไปนั่งทำงานที่ไหนก็ได้ ไม่ได้อยู่ภายใต้กฎระเบียบของบริษัทใด จะใช้เวลากี่วันพักผ่อน ตัวเองเป็นคนบริหารจัดการ Work Life Balance ตามต้องการ ดังนั้นโอกาสในการเข้าพักตั้งแต่ 1 สัปดาห์ขึ้นไปจึงเพิ่มมากขึ้น

แล้วทางฝั่งโรงแรมควรปรับตัวอย่างไร ?

จากเดิมเคยออกแบบการบริการที่สนับสนุนการเข้าพักระยะสั้น ก็ควรปรับตัวเพิ่มบริการสำหรับลูกค้าที่เข้าพักระยะยาวมากขึ้นค่ะ

ให้ลองคิดว่า “ถ้าเราต้องไปพักที่ใดที่หนึ่งเป็นเวลาหลายวัน เราน่าจะต้องการอะไร”

  • ไม่อยากรับประทานอาหารซ้ำ ๆ กันทุกวัน
  • อยากมีกิจกรรมผ่อนคลายสลับกัน และมีให้เลือกทั้งระยะสั้น แบบ one-day trip หรือสั้นกว่านั้นแบบกิจกรรม 2-3 ชั่วโมง เพื่อผ่อนคลาย และได้ละสายตาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ ในขณะเดียวกันก็ยังได้สะท้อนไลฟ์สไตล์ โชว์ออฟเพื่อน ๆ บนโลกออนไลน์ด้วย
  • ไม่อยากหอบเสื้อผ้าไปหลายชุดให้หนักกระเป๋า แล้วจะทำอย่างไรก็ผ้าที่หมักหมม บริการซักผ้าที่โรงแรมส่วนใหญ่ก็จะแบบราคาสูงมากเพราะทำตอบรับนักเดินทางประเภทนักธุรกิจที่ต้องการความเรียบ ความเนี้ยบของชุดทำงาน แล้วเสื้อผ้าธรรมดาอย่างเรา เสื้อยืด กางเกงยืน กางเกงขาสั้นลำลอง จะไปซักแบบนั้นคงไม่ไหว
  • อยากขับรถไปสำรวจเมืองบ้าง แต่ถ้าใช้บริการรถโรงแรมก็แพงเกิน จะเช่ารถภายนอกก็ไม่มั่นใจว่าจะปลอดภัยหรือเปล่า หรือจะเรียกแท๊กซี่ในพื้นที่ ก็กังวลเรื่องโควิด
  • และสารพัดเรื่อง…..

3. ทางเลือกในการชำระเงิน

ให้ลองนึกกลับไป 1-2 ปีที่ผ่านมา ไม่นานนี้เองค่ะ ช่วงแรก ๆ ที่เรามีการใช้ QR Code หรือการใช้เบอร์พร้อมเพย์ในการโอนเงินระหว่างกัน มาจนถึงการที่โรงแรมสามารถสร้าง Payment Quick Link ส่งให้ลูกค้าเพื่อชำระเงินตามรายละเอียดในลิงก์ที่ส่งไป โรงแรมก็มีการปรับตัวไปเรื่อย ๆ เพราะส่วนใหญ่มักจะกังวลในเรื่องความปลอดภัย จะได้รับเงินจริงหรือเปล่า และได้รับเงินเลย หรือต้องรอกี่วัน มีค่าธรรมเนียมอย่างไร

ฝั่งลูกค้าก็เช่นกัน ก็กังวลว่าเงินที่โอนไปจะเข้าบัญชีโรงแรมจริงหรือเปล่า มีหลักฐานยืนยันการรับเงินอย่างไร ถ้าโอนผิดจะเรียกคืนจากใคร จะติดต่อเรื่องกับใคร ใช้หลักฐานอะไรในการฟ้องร้อง หรือยืนยันการโอนเงิน

เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องของความกังวลของทั้ง 2 ฝั่ง คือผู้ซื้อและผู้ขาย

.

.

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ระบบได้รับการปรับปรุงและพัฒนาไปเรื่อย ๆ ตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป กฎกติกาข้อบังคับการปรับตามเพื่อสร้างความมั่นใจให้ทุกฝ่าย ดังนั้นการใช้งานจึงเริ่มมีความแพร่หลายมากยิ่งขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป

เงินสกุลดิจิทัลก็เช่นกัน จัดเป็นทางเลือกใหม่ทั้งในฝั่งผู้ใช้เงิน และผู้รับเงิน เพราะฉะนั้นก็ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้และปรับตัวไปด้วยกัน พร้อม ๆ กับการสร้าง “สภาพแวดล้อม” จากภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความมั่นใจบนความรวดเร็วและสะดวกในการใช้บริการ

4. การจัดพอร์ตโฟลิโอ

การทำธุรกิจไม่ว่าธุรกิจอะไร การจัดพอร์ตโฟลิโอเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ว่าผู้ประกอบการโรงแรมที่พักขนาดเล็ก กลาง หรือใหญ่ ควรทำความเข้าใจ

จัดพอร์ตในฝั่งโรงแรม หมายถึงอะไร ?

คือการทำความเข้าใจกลุ่มลูกค้าแต่ละกลุ่มบนเรื่องรายได้ที่สร้างได้ และค่าใช้จ่ายที่ลงทุนไปเพื่อให้ได้ลูกค้ากลุ่มนี้มา และทราบว่ากลุ่มลูกค้าแต่ละกลุ่มคิดเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ทั้งในด้านเปอร์เซ็นต์ และจำนวนเงิน เมื่อเทียบกับรายได้ทั้งหมดของโรงแรม

ยกตัวอย่างเช่น รีสอร์ททางภาคใต้ ที่มีแหล่งที่มาของรายได้ทั้งจากการท่องเที่ยวแบบพักผ่อน (Leisure) และ รายได้จากการจัดประชุม (Meeting & Incentive)

ในกลุ่มท่องเที่ยวแบบพักผ่อนก็ยังสามารถแยกย่อยออกไปได้อีกว่าเป็นรายได้ที่มาจาก Overseas Tour Operator/Travel Agent หรือมาจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางท่องเที่ยวเอง (F.I.T.) และมาจากประเทศอะไรบ้าง ตลาดไหนบ้าง

บนรายได้ที่มาจาก Room Night Production ที่เกิดขึ้นนั้น โรงแรมคุณมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง คิดเป็นสัดส่วนเท่าไหร่เมื่อเทียบค่าใช้จ่ายต่อรายได้ที่เกิดขึ้น เช่น ฝั่ง Oversea Tour Operator สร้างรายได้ให้คุณได้ 3,000 Room Night ต่อปี บนราคาเฉลี่ย 1,800 บาท คิดเป็นรายได้ 5,400,000 บาทต่อปี แต่บนรายได้นี้ คุณมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น Brochure Contribution, Tradeshow Participation, Sales call – Business Travel Trip, Inspection Trip, Reservation System, Marketing Contribution ต่าง ๆ เป็นต้น คุณรวบรวมค่าใช้จ่ายต่างๆมาแล้วพบว่าเบ็ดเสร็จ 3,000,000 บาทต่อปี เท่ากับ 55% ของยอดขายที่คุณทำได้

ทางฝั่ง F.I.T. กลุ่มลูกค้าในประเทศ และต่างประเทศมีค่าใช้จ่ายต่างกันอย่างไร ใช้วิธีวิเคราะห์ในแบบเดียวกัน และอย่าลืมนำค่า commission ที่คุณต้องจ่ายให้ OTA ต่าง ๆ มาคิดคำนวณด้วย เช่น F.I.T. ในประเทศคุณต้องใช้เงินในการทำการตลาดออนไลน์สารพัดอย่าง ทั้งจาก Influencer/Blogger มาเขียนรีวิว ค่าโฆษณา การทำ SEM/Retargetting มากมาย คิดเฉลี่ยแล้วต่อหนึ่งการจอง (Booking) 25% ของยอดขาย

.

.

.

เมื่อย้อนกลับไปในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยก็เช่นกัน

ประเด็นการสร้างการยอมรับ “เงินสกุลดิจิทัล” ไม่ว่าจะในระดับผู้รองรับ หรือจะไปจนถึงขั้นการสร้าง Digital Currency เป็นของตนเองนั้น มีหลายปัจจัยที่ควรพิจารณาโดยเฉพาะในเรื่องการจัดพอร์ตการท่องเที่ยวของประเทศไทย

ถ้าเรามองว่าเราจะไปในแนวทาง “คุณภาพ” มากกว่า “ปริมาณ” หมายถึงเราไม่ได้สร้างรายได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทุกปี ๆ แต่ยอดการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวก็ลดลงต่อเนื่องทุกปี นั่นแปลว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่อปี เราอาจจะลดลง หรือเท่าเดิม แต่สามารถสร้างรายได้จากยอดการใช้จ่ายต่อหัวที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะด้วยสูงขึ้นจากการพักระยะยาวขึ้น หรือลูกค้ามีกำลังใช้จ่ายมากขึ้นในระยะเวลาการเข้าพักเท่าเดิมก็ตาม

เราก็ควรกลับมานั่งดูพอร์ตการท่องเที่ยวของประเทศบนนัยยะของต้นทุนค่าใช้จ่าย และความสามารถในการสร้างรายได้ในอนาคตเช่นกัน

สัดส่วนเป็นเท่าไหร่

โอกาสที่จะเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดของกลุ่มที่ต้องการใช้เงินสกุลดิจิทัลเป็นเท่าไหร่

ต้องใช้เงินทุนในการสนับสนุนเท่าไหร่ในการสร้าง Ecosystem รองรับการใช้เงินสกุลดิจิทัลสำหรับการท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ไปตามเป้าหมายที่ต้องการ

.

.

.

อย่าให้การวางแผนการตลาดเพื่อการสร้างรายได้เป็นเพียง “กระแส” ของคำทันสมัยในแต่ละยุคแต่ละช่วงของการสลับสับเปลี่ยนเข้ามาบริหารงาน แต่ควรประเมินจากสิ่งที่มีอยู่ (Resources) และกระบวนการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมและครบวงจรตั้งแต่ก้าวแรกจนถึงการส่งมอบสู่การปฎิบัติ พร้อมมาตรฐานการกำกับในเรื่องต่าง ๆ

ถ้าเราสังเกตจริง ๆ เราจะเห็นว่าประเทศไทยเก่งในเรื่องการสร้างสรรค์ (Creative) ในเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งการ “ตั้งชื่อ” เพื่อออกโครงการ หรือแคมเปญในรูปแบบต่าง ๆ และมักจะเป็นการสร้างใหม่ ทำใหม่ มากกว่าที่จะนำของเดิมที่มีอยู่มาปรับปรุง มาหาจุดอ่อน มาหาทางปรับให้ดีขึ้น เพราะการเขียนโปรเจ็คใหม่อาจง่ายกว่าในกระบวนการของราชการหรือเปล่า (เรื่องนี้ไม่แน่ใจ) หรือการทำใหม่ บนชื่อใหม่ ที่ตั้งตามกระแส สามารถเรียกความสนใจได้ในทุกภาคส่วน และสร้างกระแสข่าวได้ดีกว่า

.

.

จริง ๆ แล้วการท่องเที่ยวในบ้านเรามีโจทย์ที่ตอบรับกับแทบทุกไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ทำไมผลตอบรับจึงอาจจะไม่ได้ตามที่คาดหวัง หรือไม่ก็ออกตัวมาไม่กี่สัปดาห์ก็จะเงียบหายไป

.

.

เรื่องนี้เราควรมาช่วยกันขบคิดว่าเกิดอะไรขึ้นตั้งแต่ภาพรวมไปจนถึงภาคปฎิบัติการ และยาวไปจนถึงภาคเอกชน คือ โรงแรมว่ามีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร อาจเป็นปัญหาที่เรารู้ ๆ กันอยู่ แต่แก้ไขไม่ได้ แต่เราก็ควรช่วยกันหาทางขับเคลื่อนภายใต้โครงสร้างและบริบทที่มีอยู่ในสังคมเรา เพื่อสร้างมาตรฐานในการทำการตลาดท่องเที่ยวต่อไป

.

.

.

เขียนยาวหน่อย แต่อยากให้อ่านกันนะคะ

หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายค่ะ