
อีกไม่กี่วันก็จะเริ่มเดือนพฤศจิกายน 2564 กับประกาศความพร้อมในการเปิดประเทศไทยเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศจาก 46 ประเทศนำร่องเมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้เราเห็นหลายโรงแรม รีสอร์ทเริ่มประกาศรับสมัครงานใหม่ในตำแหน่งที่จะมาช่วยเสริมด้านโอเปอเรชั่น หรือด้านการให้บริการกันอย่างคึกคักเลยทีเดียว
แรงงานในภาคโรงแรมที่ต้องหยุดงานและกลับถิ่นฐานบ้านเกิดบางส่วนอาจจะตัดสินใจไม่กลับมาหาทำงานในแบบเดิม หากเขาค้นพบอาชีพที่สามารถทำได้ในจังหวัดบ้านเกิดที่ทำให้มีความสุข พอมีพอกิน แต่ได้อยู่ใกล้ครอบครัว แต่บางส่วนก็เลือกที่จะกลับมาทำงานด้านโรงแรมเหมือนเดิม ยังไงก็ขอให้ทุกโรงแรมที่ตัดสินใจกลับมาเปิดให้บริการใหม่อีกครั้งโชคดีกับการเดินหน้าต่อ
.
.
.
การประกาศเปิดประเทศตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2564 นั้นมีหลายปัจจัยที่ทำให้ “เรา” ในฐานะประเทศไทยจำเป็นต้องขยับขับเคลื่อนไปข้างหน้าหลังจากตัวเลขจำนวนผู้ได้รับวัคซีนอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ดีขึ้น ทั้งปริมาณวัคซีนที่ได้รับเข้ามาจากต่างประเทศ และความสามารถในการฉีดวัคซีนต่อวัน การควบคุมในจังหวัดต่าง ๆ สิ่งที่ยังน่าเป็นห่วงคงจะเป็นเรื่องระเบียบวินัยของระดับส่วนบุคคล และเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่กำชับ กวดขันและจับกุมในพื้นที่สำหรับผู้ที่กระทำความผิด ฝ่าฝืนกฎกติกาที่วางไว้อย่างเคร่งครัด
.
.
.
คราวนี้กลับมาดูรายชื่อประเทศทั้ง 46 ประเทศ ที่มีทั้งในเอเซียใกล้บ้านเรา ไปจนถึงยุโรป สแกนดิเนเวีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

สิ่งที่ทีมการตลาดและการขายโรงแรมควรให้ความสำคัญมี 2-3 ข้อ
1. การจัดลำดับประเทศที่มีความสะดวกในการเดินทาง
ในบรรดา 46 ประเทศนั้นไม่ใช่เราพิจารณาแค่เฉพาะข้อมูลฝั่งประเทศไทย หรือการเดินทางขาเข้า แต่ต้องพิจารณาถึงการเดินทางกลับเข้าไปยังประเทศต่าง ๆ ด้วยว่าประเทศไหนสะดวก สบาย ไม่ยุ่งยากมากกว่ากัน
โรงแรมหรือรีสอร์ทคุณจะจัดแบ่งเป็น Tier หรือกลุ่มใหญ่ ๆ ก็ได้ เช่น สหราชอาณาจักร เดิมจัดประเทศไทยอยู่ใน Red List ก็จะทำให้การเดินทางกลับเข้าประเทศต้องมีการกักตัว ต้องทดสอบโควิด-19 อย่างน้อย 2 ครั้งจึงจะสามารถกลับเข้าบ้านได้อย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์ แต่ต่อมาประเทศไทยได้รับโอกาสในการเลื่อนขึ้นมาเป็น Amber List นั่นคือมีความปลอดภัยมากขึ้น กฎกติกาของผู้ที่เดินทางเข้าประเทศก็มีความผ่อนคลายลง ทำให้ลดภาระทั้งค่าใช้จ่ายในการกักตัว การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ไปได้อย่างมาก
สิ่งเหล่านี้บนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น จะทำให้การตัดสินใจของนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาเปลี่ยนไป เพราะนั่นคือทำให้งบประมาณในการเดินทางในแต่ละทริปเพิ่มขึ้น
ดังนั้นการที่โรงแรมแบ่งกลุ่มจัดกลุ่มประเทศต่าง ๆ จะทำให้เห็นภาพว่า โรงแรมควรเน้นและจัดสรรงบประมาณในการทำการตลาดกับประเทศไหน ก่อนและหลัง เรียงลำดับไป
2. การเดินทางขาเข้า และออกจากประเทศไทย
การเดินทางขาเข้านั้น เรามีประกาศอย่างชัดเจนว่าต้องปฏิบัติอย่างไรเมื่อเดินทางมาจากประเทศต่าง ๆ ดังนั้นข้อมูลที่โรงแรมควรทำความเข้าใจกับทีมงานทั้งในส่วนการตลาด การขาย รับจองห้องพัก หน้าฟร้อนท์ ควรไปในระดับความละเอียดถึงขั้นตอนและเอกสารต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ จำเป็นต้องออก และกำหนดวันที่ต่าง ๆ ที่จะต้องไปยื่นเอกสาร ออกเอกสาร ไปตรวจหาเชื้อ
ต้องรู้เพื่ออะไร ?
เพื่อจะตอบคำถามที่เข้ามาจากนักท่องเที่ยวชาติต่าง ๆ ให้ได้อย่างชัดเจน
เพื่อที่จะสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า
เพื่อช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น

3. มาตรการควบคุมและป้องกันโควิด-19
ระหว่างการเข้าพัก โรงแรม/รีสอร์ทก็ควรทำความเข้าใจถึงมาตรการอย่างชัดเจน นอกเหนือจาก เว้นระยะห่าง – ล้างมือบ่อย ๆ – ใส่หน้ากากอนามัย แต่ทีมงานในโรงแรมทุกคน (ย้ำว่า “ทุกคน” ) ต้องรู้ และควรตระหนักรู้ตลอดเวลาว่าวิธีปฏิบัติตัวของทั้งพนักงานกันเอง และระหว่างพนักงานให้บริการกับลูกค้าของแผนกต่าง ๆ ในโรงแรมมีวิธีปฎิบัติอย่างไร
- การไปรับ-ส่งลูกค้าที่สนามบิน
- การขนย้ายกระเป๋าลูกค้าจากสนามบินใส่รถ จากรถลงที่จุดต้อนรับ จากจุดต้อนรับไปยังห้องพัก และในส่วนขากลับเช่นกัน
- การเช็คอิน และเช็คเอ้าท์
- การส่งลูกค้าเข้าห้องพัก
- การเข้าทำความสะอาดห้องพัก
- การเสริฟอาหารที่ห้องอาหาร หรือในห้องพัก
- การทำกิจกรรมต่าง ๆ ในโรงแรม
- การเรียกเก็บค่าที่พัก
- การรับ และส่งเอกสาร /บัตรเครดิต / เงินสด
- การโอนชำระเงินผ่าน QR Code หรือโอนตามเลขบัญชีปกติ
- การลงเล่นสระว่ายน้ำ
- การใช้เครื่องมือ เครื่องเล่นต่าง ๆ ภายในโรงแรม
- และอื่น ๆ