fbpx

Hotel Consulting

รู้ให้จริง ทำให้เป็น เรื่องโรงแรม

ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป …..เสียงประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา จบประโยคคนกรุงเทพฯถึงกับอมยิ้มดีใจจะได้ใช้เสื้อหนาวที่เก็บไว้หรือเปล่านะปีนี้ พลางหยิบมือถือขึ้นมากดหาข้อมูลท่องเที่ยวภาคเหนือที่ได้ชื่อว่ามีอากาศหนาวสมใจ หาที่พัก หาร้านอร่อย หาที่เช็คอินถ่ายรูป แล้วไลน์หาเพื่อนว่ามีใครจะไปด้วย ใครลางานได้ ใครที่บริษัทยังให้ WFH หรือ Work from Anywhere ได้บ้าง

.

.

.

นี่คือภาพสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นกับคุณและคนรอบตัวคุณหรือเปล่า ?

.

.

.

สองเดือนสุดท้ายกับโรงแรมรีสอร์ทที่ยังเปิดให้บริการ

มาฉายภาพในมุมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวกัน……

ขอย้อนกลับไปยังตัวเลขการปิดกิจการของธุรกิจขนาดเล็กถึงขนาดย่อม หรือที่รู้จักกันว่าธุรกิจ SME มีการปิดกิจการไปแล้วกว่าครึ่ง คงเหลือแต่ธุรกิจขนาดกลางบางส่วนที่ยังมีสายป่านยาว และธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งแน่นอนว่าธุรกิจโรงแรมและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวก็เป็นหนึ่งในตัวเลขปิดกิจการ หรือปิดชั่วคราวเช่นกันนับตั้งแต่มีโควิด-19

สองสัปดาห์ที่ผ่านมามีโรงแรมกลับมาประกาศรับสมัครงานทั้งแบบเร่งด่วนในระดับพนักงานให้บริการ หรือระดับปฎิบัติการ และระดับหัวหน้าแผนกที่อาจต้องใช้เวลาในการคัดสรร รับสมัครที่ยาวนานกว่า โดยภาพรวมอาจใช้เวลาอย่างน้อย 3 สัปดาห์ในการได้ทีมงานเข้าประจำการพร้อมให้บริการ

ส่วนโรงแรมรีสอร์ทที่เปิดให้บริการในพื้นที่ที่มีการผ่อนคลายปลดล๊อคกันมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 เป็นต้นมา โดยเฉพาะทางภาคใต้โดยมีภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์เป็นตัวจุดการขับเคลื่อน ตามมาด้วย Samui Plus ที่ยังต้องอาศัยการเชื่อมโยงการเดินทาง การกักตัวผ่านทางภูเก็ตในระยะแรก และตามมาเรื่อย ๆ ตามแผนงาน 10 จังหวัดนำร่อง

จนมาถึงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคม 2564 ที่มีการประกาศรายชื่อประเทศและพื้นที่ 43 แห่งในต่างประเทศที่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยโดยไม่ต้องกักตัว เริ่มตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป และมีการเพิ่มรายชื่ออีก 20 ประเทศเข้าไปเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2564 รวมเป็น 63 ประเทศ

สรุปจากประกาศกระทรวงต่างประเทศ https://www.mfa.go.th/th/content/updatelist301064-2/

ถ้าเราขยับมาดูสถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติในอดีตใน 5-6 ปีที่ผ่านมาเพื่อให้เห็นภาพใหญ่ของขนาดการท่องเที่ยวผ่านจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทยในช่วงเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม จะเห็นว่าเฉลี่ยเดือนละ 3.0 ล้านคนหากดูตารางด้านล่าง แต่นั่นคือในกรณีที่เราสามารถเดินทางได้ตามปกติก่อนที่จะมีโควิด-19 ระบาด

การตั้งเป้าการท่องเที่ยวในปัจจุบันมีการปรับตัวคำนึงถึงข้อเท็จจริงมากขึ้น อันได้แก่ ข้อจำกัดในการเดินทาง การกักตัว จำนวนการฉีดวัคซีน กฎกติการเข้าและออกประเทศของประเทศและพื้นที่ต่าง ๆ ดังนั้นในไตรมาสที่ 4 ของปีจึงอยู่ในระดับหลักแสนต้น ๆ

https://www.mots.go.th/more_news_new.php?cid=618

ติดตามมาดูตัวเลขรายเดือน และรายสัญชาตินักท่องเที่ยวจากรายงาน Guest Arrivals at Accommodation Establishment จากกระทรวงท่องเที่ยวกันต่อไป ……

สถิติเปรียบเทียบปี 2018 และ 2019 เฉพาะเดือนตุลาคม พฤศจิการยน และธันวาคม และเลือกไฮไลท์เฉพาะประเทศที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาพักเกินหลักแสนคน มีประเทศไหนบ้างจากตารางประกอบด้านล่าง ดังนี้

  1. จีน
  2. มาเลเซีย
  3. รัสเซีย
  4. ญี่ปุ่น
  5. เยอรมนี
  6. สหราชอาณาจักร (อังกฤษ สก๊อตแลนด์ ไอร์แลนด์)
  7. ฝรั่งเศส
  8. เกาหลี
  9. สหรัฐอเมริกา
  10. อินเดีย
  11. ออสเตรเลีย
  12. สิงคโปร์

และแน่นอนว่า “คนไทย” ที่มีจำนวน 9.7 ล้านคนในเดือนพฤศจิกายน 2019 และ 10.5 ล้านคนในเดือนธันวาคม 2019

https://www.mots.go.th/News-link.php?nid=13040

จากภาพที่ไล่เรียงมา สิ่งที่โรงแรมรีสอร์ทควรนำไปหาข้อมูลเพิ่มเติมหากต้องการโฟกัสไปที่ตลาดนักท่องเที่ยวต่างประเทศ คือ

  1. หาข้อมูลในรายละเอียดว่าตัวเลข Forwarded Booking ผ่านทาง Phuket Sandbox ที่มียอดการจองห้องพักมากกว่า 300,000 room nights ไปแล้วตั้งแต่ก่อนเปิดประเทศนั้น เป็นสัญชาติอะไรบ้าง จองเข้าพักในภูมิภาคไหนบ้าง
  2. กลับมาดูรายชื่อ 63 ประเทศที่ประกาศเมื่อ 30 ตุลาคม 64 ว่าประเทศไหนที่มีมาตรการบังคับใช้ทั้งขาเข้าและขาออกที่ผ่อนคลายมากที่สุด เรียงลำดับไป โดยอาจสุ่มจากประเทศในกลุ่มเอเซียที่ใช้เวลาเดินทางไม่นานมากก่อนก็ได้
  3. หาข้อมูลค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทั้งในการเดินทางเข้าไทย ค่าตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในบ้านเราตลอดระยะเวลาการเข้าพัก และค่าใช้จ่ายในประเทศของเขาเองเมื่อเดินทางกลับเข้าประเทศของเขา
  4. กลับมาดูราคาขายที่ตั้งไว้ว่าจะสามารถปรับตรงไหนได้บ้างเมื่อนำค่าใช้จ่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายข้อ 3 มาเข้าอยู่ในสมการ เพราะนั่นคือปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

สำหรับโรงแรมที่พักขนาดเล็กถึงขนาดกลางที่กลับมาเปิดให้บริการ ขอให้ตั้งใจทำ “ตลาดคนไทย” อย่างเข้มแข็ง จริงจัง ระดมทุกสรรพกำลังในการทำโปรโมชั่น ในการสื่อสารทางการตลาด ทำให้ลูกค้าเห็นโรงแรมคุณบนหน้าจอมือถือให้ได้ และฝึกทีมรับโทรศัพท์ให้พูดจารู้เรื่อง อธิบายทุกอย่างได้ดี และที่สำคัญมีน้ำเสียงที่ยิ้มแย้มแจ่มใสตลอดเวลา

ตลาดในประเทศยังอยู่บนการได้รับแรงบันดาลใจจากโลกโซเชียล การเห็นเพื่อนไป เราต้องไปบ้าง จะไปถ่ายรูปมุมเดียวกัน และอีกส่วนหนึ่งคือความต้องการใช้เวลาร่วมกันของครอบครัวหลังจากที่ไม่ได้ใช้เวลาร่วมกันมานาน

.

.

.

สองเดือนสุดท้ายมุ่งไปให้ชัด อย่ามัวลังเลใจ

ประเมินศักยภาพ ทีมงาน และงบประมาณที่ยังคงเหลือในปีนี้

แล้วเดินหน้าเต็มที่ เต็มตัว

และที่สำคัญ คือ รวดเร็ว

โชคดีทุกท่านค่ะ