fbpx

Hotel Consulting

รู้ให้จริง ทำให้เป็น เรื่องโรงแรม

ปรับปรุงบ้านเก่า เริ่มจากวิธีคิดที่เป็นระบบ และวางขั้นตอนการทำงานที่ดี

หลังจากที่ห่างหายไปนานเพราะติดภารกิจ วันนี้ตื่นแต่เช้าลุกขึ้นมาดูรายการที่เกี่ยวกับบ้านและการออกแบบ (Home and Design) ชื่อรายการ George Clarke’s Old House New Home ทางช่อง BBC Lifestyle ( https://www.bbcasia.com/channels/lifestyle) ผู้ดำเนินรายการเป็นผู้เชี่ยวชาญในการปรับปรุงอาคารเก่าทุกประเภท มีรายการทางช่อง BBC มาอย่างต่อเนื่อง ถ้าใครชอบดูเรื่องราวการปรับปรุงบ้าน หรืออาคารเก่าในมิติที่แตกต่างกัน แนะนำเลยค่ะ

รายการที่ได้ดูเมื่อเช้าเป็นจะแบ่งช่วงรายการเป็น 2 ส่วน 2 บ้านในสถานที่แตกต่างกัน วัตถุประสงค์ของเจ้าของบ้านแตกต่างกัน แต่จะเป็นบ้านหรือทาวน์เฮ้าส์ในอังกฤษตามเมืองต่าง ๆ ที่มีการซื้อขายต่อ ๆ กันมา บางหลังเก่าแก่ย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 1920 เลยทีเดียว

เจ้าของบ้านแรก เป็นทาวน์เฮ้าส์ หรือเรือนแถวในยุควิคทอเรียนตอนปลาย หรือประมาณยุค 1920-1930 เจ้าของบ้านมีปัญหากับพื้นที่ห้องครัวและห้องรับประทานอาหารที่อยู่ส่วนท้ายสุดของบ้าน และมีขนาดเล็กและคับแคบ ไม่สามารถใช้งานได้ตามต้องการ ซึ่งตามวิถีการใช้ชีวิตของบ้านฝรั่ง พื้นที่ครัวและส่วนนั่งรับประทานอาหาร จัดเป็นพื้นที่หลักของบ้านเลยทีเดียว เพราะจะมีแขกมาเยี่ยม และทำอาหารออกมารับประทานร่วมกัน ส่วนยืนทำอาหารนิยมเป็นเกาะตรงกลาง สามารถมองเห็นวิวสวนหลังบ้านทางหน้าต่าง หรือมองต่อเนื่องไปยังส่วนโต๊ะอาหาร ส่วนนั่งเล่น เพื่อดูลูก ๆ หรือเพื่อน ๆ ที่มารวมตัวกัน

จากโครงสร้างใสสไตล์วิคทอเรียน จากประตูทางเข้าหน้าบ้านจะเป็นทางเดินแคบ ๆ เข้าไปและมีซุ้มโค้งภายในบ้านเป็นจังหวะแบ่งเป็นห้องทางซ้ายและทางขวาแบ่งตามฟังก์ชั่นการใช้งาน เช่น ส่วนรับแขก ห้องทำงาน ซึ่งจะมีหน้าต่างบานใหญ่ในห้องสามารถมองออกไปยังหน้าบ้าน ที่ติดกับถนนซอยได้ (ตัวอย่างตามภาพด้านล่าง)

ลักษณะภายนอกในยุควิคทอเรียนตอนปลาย ที่มาจาก Google Search – www.idealhome.co.uk

วิธีการทำงานของคุณ George Clarke นั้น เนื่องจากเป็นสายอนุรักษ์อาคารเก่า ดังนั้นเขามักจะไปสืบค้นประวัติของอาคารแต่ละอาคารก่อนว่ามีผัง และแบบแปลนโครงสร้างของอาคารอย่างไร และในปัจจุบันมีข้อกำหนดเรื่องผังเมืองเฉพาะในพื้นที่อย่างไรบ้าง เพื่อที่จะได้ทราบว่าขอบเขตของพื้นที่ที่จะปรับปรุง หรือทำเป็นส่วนต่อขยายสามารถทำได้แค่ไหน ทั้งตอบโจทย์เจ้าของบ้าน และไม่ผิดกฎระเบียบของเมือง

เมื่อได้ประวัติของอาคารมาแล้ว เขาก็จะมาเล่าให้เจ้าของบ้านฟังถึงที่มาที่ไปของอาคารนี้ว่าเป็นมาอย่างไร ซึ่งเมื่อเราทราบประวัติศาสตร์ เราก็จะเข้าใจว่า ทำไมอาคารนี้จึงให้พื้นที่ส่วนต่าง ๆ ของบ้านใหญ่โต แต่กลับให้พื้นที่ครัวเล็กและคับแคบ อึดอัดมากที่สุด

สถาปัตยกรรมในยุควิคทอเรียนตอนปลาย จะเน้นส่วนที่ผู้อยู่ต้องการใช้ และส่วนของคนรับใช้ในบ้านจะอยู่ส่วนสุดท้าย เมดจะอยู่ในส่วนนี้ ทำอาหาร เก็บของต่างๆ ดังนั้นห้องสุดท้ายของบ้านในส่วนชั้นล่างในอดีตก็คือห้องของเมดนั่นเอง นอกจากนี้ George ยังไปเช็คประวัติสัมมะโนประชากรทะเบียนบ้านว่าบ้านหลังนี้ตั้งแต่ปี 1930 เริ่มจากเจ้าของบ้านคนแรก ประกอบธุรกิจผับ (Pub) สถานที่ดื่ม ซึ่งก็เป็นวิถีของคนอังกฤษ บ้านนี้น่าจะเป็นที่สังสรรค์ของคนที่ทำงานในละแวกนี้ที่แวะเวียนกันมาดื่มระหว่างวัน หรือก่อนกลับบ้าน

เจ้าของบ้านคนต่อมาใช้บ้านหลังนี้ทำธุรกิจปรุงยา และเป็นร้านขายยา ดูจากสไตล์ของเฟอร์นิเจอร์ที่จะมีตู้ขนาดใหญ่ ตู้ลิ้นชักหลายตู้ มีลิ้นชักมากมาย และยังคงมีขวดแก้วที่มีฝาปิดเป็นจุกแก้ว ป้ายต่าง ๆ

การที่เจ้าของบ้านในยุคปัจจุบันได้รับทราบประวัติของบ้านเขาก็จะมีความเข้าใจมากขึ้นว่าทำบ้านการจัดสรรพื้นที่เดิมของตัวอาคารจึงเป็นแบบนี้

วิธีการทำงานของ George เมื่อทราบประวัติของอาคารแล้ว เขาจึงกลับมาศึกษาเรื่องโครงสร้างต่าง ๆ และตรวจสอบเรื่องข้อกำหนดผังเมือง แล้วจึงทำแบบร่างมานำเสนอและให้คำแนะนำแก่เจ้าของบ้าน

โดยหลัก ๆ ก็คือการต่อเติมส่วนขยายของครัว ซึ่งอาจจะเป็นการต่อเพิ่ม หรือการทุบกำแพงบางส่วนเพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอยตามต้องการ นอกจากนี้เรื่องแสงจะเป็นเรื่องสำคัญอีกประเด็นที่บ้านฝรั่งต้องการให้มีแสงแดดธรรมชาติส่องเข้าในบ้านได้ เพราะเขาเป็นเมืองหนาว มีฤดูหนาวหลายเดือน ดังนั้นการเพิ่มช่องแสงให้เข้าถึงได้ก็เพื่อไม่ให้มืด อับชื้น และยังให้ความอบอุ่นด้วย

สำหรับพื้นทางเดินเข้าบ้านจากประตู เดิมเป็นพื้นไม้ดั้งเดิมที่ผุพังไปตามกาลเวลา เขาก็เลือกเปลี่ยนเป็นพื้นกระเบื้อง แต่เป็นลายกระเบื้องที่มีคาแรคเตอร์ที่ไม่ขัดแย้งกับสถาปัตยกรรมในยุคเก่า แต่มีความร่วมสมัย และช่วยทำให้โถงทางเดินในบ้านมีความสว่าง สดในมากขึ้นด้วย

เตาผิง เป็นอีกอุปกรณ์ในบ้านเก่าที่จะมีอยู่ทุกหลัง ซึ่งมักจะเป็นการก่ออิฐถือปูนและแปะด้วยกระเบื้องหรือแผ่นหินอ่อนก็แล้วแต่สไตล์ แต่เมื่อเรากลับมาในยุคปัจจุบันหรือยุค 2020s จะมีอุปกรณ์เตาผิงสำเร็จรูปที่ยังคงรูปแบบดูย้อนยุค ที่สามารถเคลื่อนย้ายไปติดตามตำแหน่งที่ต้องการได้ สถาปนิกก็ย้ายตำแหน่งไปยังส่วนที่ต้องการ และปรับขนาดให้เหมาะสมกับพื้นที่ของห้องที่ติดตั้งใหม่ อาจมีการทำฐานปูนขึ้นมาเพื่อใช้วางเตาผิงใหม่เพิ่มเติม แต่จะไม่ใช่ขนาดใหญ่เหมือนเช่นที่นิยมทำกันในยุควิคทอเรียน

พื้นที่ครัว เมื่อทุบกำแพงเพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอย และขยายออกไปทางสวนหลังบ้านอีกเล็กน้อย ทำช่องแสงให้แสงเข้า จัดวางตำแหน่งหน้าต่างใหม่ พื้นที่ครัวก็ออกมาได้ตามต้องการของเจ้าของบ้าน คือมีทั้งส่วนทำอาหาร ส่วนเกาะตรงกลาง และส่วนตั้งโต๊ะรับประทานอาหารสำหรับ 6-8 ที่ได้อย่างสบาย นอกจากนี้เฟอร์นิเจอร์ที่เป็นตู้ขนาดใหญ่ ตู้ลิ้นชักดั้งเดิม ก็นำมาขัดและทำสีใหม่ ตู้บานเปิด 2 ด้านซ้ายขวา นำมาใช้ซ่อนเตาอบ ดูด้านนอกเป็นตู้ไม้ แต่เปิดออกมาจะเห็นเตาอบทันสมัย ตู้ลิ้นชักใช้เก็บจานชาม กลายเป็นพื้นที่ครัวแทนที่จะเน้นตู้ต่อติดผนัง (Built-in cupboard) แบบครัวบ้านอื่น ๆ ก็กลายเป็นการจัดวางตู้ และตู้ลิ้นชักแบบ Free standing หรือแบบลอยตัวตามตำแหน่งต่าง ๆ ในห้องครัวให้เหมาะสม และเว้นช่องทางเดินในแต่ละโซนให้ใช้งานสะดวก

นอกจากนี้ส่วนสุดท้ายคือ ป้ายชื่อบ้าน ที่เขาอยากจะนำเสนอให้เป็นของขวัญกับเจ้าของบ้าน เช่นเดียวกัน เขาก็กลับไปศึกษาว่าป้ายชื่อเดิมหมายความว่าอย่างไร ลวดลายของตัวอักษรในสมัยก่อนเป็นอย่างไร และจะผสมผสานความเป็นปัจจุบันเข้าไปได้อย่างไร …. ในที่สุดเขาก็ไปเจอร้านที่รับทำป้าย และสามารถเคลือบแผ่นทอง แบบบ้านเราที่ใช้แผ่นทองคำเปลวติดลงบนตัวอักษรที่อยู่บนแผ่นกระจก และเพิ่มเติมรูปดอกไม้ที่เป็นสัญญลักษณ์ของเมืองเค้าไป

.

.

.

การจัดสรรงบประมาณในการปรับปรุงบ้าน เป็นอีกเรื่องที่สำคัญและอาจจะเป็นวิกฤตได้ในระหว่างขั้นตอนการก่อสร้าง เพราะเมื่อเราปรับปรุงบ้านเก่า เราจะไม่ทราบว่าภายใต้ผนัง และโครงสร้างต่าง ๆ ของบ้าน เราจะเจออะไรที่ผุพัง และอาจจำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่ ยิ่งถ้าเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับโครงสร้าง และระบบท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ ภายในบ้าน อันนี้จำเป็นมาก ดังนั้น การปรับปรุงพื้นที่โดยเฉพาะส่วนที่มีท่อต่าง ๆ ยิ่งต้องระมัดระวังตั้งแต่ขั้นตอนการรื้อ ไม่ใช่ทุบทำลายอย่างเดียว แต่ควรรู้ว่าจะทุบอย่างไรให้กระทบน้อยที่สุด

.

.

.

สรุปหลักการทำงานและข้อคิดในการทำงาน

  • ศึกษาประวัติศาสตร์ ที่มาที่ไปของบ้านเก่า ก่อนลงมือเสมอ หาข้อมูลให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อาจศึกษาไปถึงว่าในละแวกบ้าน หรือย่านที่บ้านตั้งอยู่นั้นในสมัยก่อนเขาทำอะไรกัน เป็นชุมชนที่ประกอบอาชีพอะไร วิถีชีวิตในสมัยนั้นเป็นอย่างไร
  • ศึกษาโครงสร้างของบ้านให้ดี เพราะการปรับปรุงบ้านเก่าเรื่องโครงสร้างเป็นสิ่งสำคัญ ควรคำนวณให้ดีนอกจากการถ่ายน้ำหนักไปยังคานต่าง ๆ แล้ว ให้คิดถึงเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ที่จะมาจัดวางในห้องนั้น ๆ ด้วยเพื่อจะได้ออกแบบโครงสร้างที่สามารถรองรับน้ำหนักได้ดี
  • งานระบบท่อประปา ท่อระบายน้ำ ควรมีผัง หรือการออกแบบผังให้ดีโดยเฉพาะเรื่องระดับต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เกิดกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ย้อนกลับเข้าภายในบ้าน
  • แสงสว่างในบ้านเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการอยู่อาศัย การวางตำแหน่งหน้าต่าง ให้เหมาะสมกับฟังก์ชั่นการใช้งาน และรูปแบบการใช้งานของเจ้าของบ้านเป็นสิ่งสำคัญ ส่วนไหนเปิดให้แสงแดดเข้ามาได้ก็ควรเปิดบ้าง สำหรับเราที่อยู่ในพื้นที่เขตร้อนถึงร้อนมากที่สุด การจัดลำดับแสง การเลือกใช้ม่านเป็นสิ่งสำคัญ
  • ตำแหน่งที่ตั้งบ้าน เมื่อเราซื้อบ้านเก่า ส่วนใหญ่แล้วคนสมัยก่อนจะสร้างบ้านถูกทิศทางลมที่พัด แต่บ้านตามหมู่บ้านจัดสรรในปัจจุบัน เราอาจจะเลือกไม่ได้ ดังนั้นเมื่อมีโอกาสเลือกก็ควรพิจารณาเลือกให้ดี ๆ
  • การเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์เก่า ผสมกับเฟอร์นิเจอร์ใหม่ บวกกับเครื่องใช้ไฟฟ้าในยุคปัจจุบัน สามารถจัดวางและอยู่ร่วมกันในพื้นที่เดียวกันได้ ค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ จัดวางให้ดี คุณอาจจะได้ส่วนผสมที่ดูแล้วก็ยังทรงคุณค่าความเก่าแก่ และสามารถมีสิ่งอำนวยความสะดวกตามยุคสมัยในปัจจุบันด้วยได้
  • การตรวจสอบข้อกำหนด ข้อบังคับ กฎระเบียบต่าง ๆ โดยเฉพาะผังเมือง ควรทำก่อนเริ่มออกแบบและเป็นหน้าที่สำคัญของผู้ออกแบบที่ควรตรวจสอบให้ดีก่อนลงมือออกแบบ
  • การจัดสรรงบประมาณ กระจายตามความจำเป็น สำคัญ และเร่งด่วนในการปรับปรุงบ้าน บางครั้งเจ้าของบ้านอาจต้องเรียงลำดับการใช้งานในพื้นที่ต่าง ๆ ในบ้านให้สถาปนิกฟังให้ดี เพื่อที่ผู้ออกแบบจะได้ช่วยจัดสรรพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

สุดท้าย การวางแผนให้ดีก่อนลงมือทำงานจะช่วยให้งานคุณออกมามีประสิทธิภาพมากขึ้น ควรแบ่งเวลาให้ส่วนวางแผนให้ดี และแผนก็ควรมีขั้นตอนเป็นลำดับกันไป พร้อมกับมีกรอบเวลากำหนดในแต่ละช่วง งานทั้งหมดก็จะแล้วเสร็จออกมากตามส่วน

ขอให้มีความสุขกับวันหยุดของคุณค่ะ