fbpx

Hotel Consulting

รู้ให้จริง ทำให้เป็น เรื่องโรงแรม

โรงแรม กับลองโควิด จะอยู่อย่างไร และจะไปต่ออย่างไร
โรงแรม กับลองโควิด … จะไปต่ออย่างไร

Long Covid กับ โรงแรม …อยู่ยาว

เมื่อต้องอยู่ด้วยกันแบบยาว ๆ เสมือนเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ทั้งนักท่องเที่ยว และผู้ให้บริการ คือฝั่ง โรงแรม และทีมงานให้บริการจะปรับแผนการบริหารจัดการอย่างไรในระยะยาว ?

คำถามที่ยังคงมีมาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ โดยเฉพาะฝั่งโรงแรมขนาดเล็กขนาดกลางที่ในปีนี้เป็นจุดที่เกินเฮือกสุดท้ายที่จะไปต่อได้แล้ว แต่เมื่อมาตรการต่าง ๆ มีการผ่อนคลายมากขึ้น อัตราผู้ได้รับวัคซีนอยู่ในระดับที่ไปต่อได้ แต่ก็จะมีการเกิดขึ้นใหม่ของสายพันธ์ุโควิด-19 ที่พัฒนาตัวเองต่อสู้กับวัคซีนที่มนุษย์ได้รับและสภาพแวดล้อมในการใช้ชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนไป

ฝั่งสหรัฐอเมริกาและยุโรปใช้ชีวิตเหมือนปกติ เรียกว่าอยู่กับโควิด-19 อย่าง(เสมือน)ปกติทั้งผู้บริโภคและธุรกิจต่าง ๆ หรือจากที่เราเห็นตามภาพข่าวในเรื่องการจัดแข่งขันกีฬาในสนามที่รองรับผู้ชมได้เป็นหลักหมื่นอย่างเช่นในอังกฤษที่มีการแข่งฟุตบอลก็เปิดให้บริการและดำเนินกิจกรรมตามปกติ กองเชียร์แต่ละฝั่งแทบจะหาคนใส่หน้ากากอนามัยไม่เจอ

สัปดาห์ที่ผ่านมามีการผลักดันการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวให้กลับมาอีกครั้งผ่านเวทีสัมนา เวทีแสดงความคิดเห็นหลายเวที รวมทั้งตัวแทนจากสมาคมโรงแรมไทยก็เข้มแข็งในการขับเคลื่อนการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้งเนื่องด้วยตัวเลขในช่วงไตรมาสสุดท้ายในปีที่ผ่านมามีตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในหลักแสนต้น ไม่สามารถทำให้การท่องเที่ยวในบ้านเราเดินต่อไปได้ ถ้าจำนวนต่ำกว่า 3.0 ล้านคน หรืออย่างน้อย 10% จากตัวเลขที่เคยเป็นมา

ถ้าพิจารณาในเรื่องผลกระทบต่อร่างกายเราหลังเป็นโควิด-19 บางคนก็บอกว่าเราจะเหนื่อยง่ายมากขึ้น หายใจเหนื่อย หายใจได้ไม่เต็มปอด เพราะปอดเราทำงานได้ไม่ดีเหมือนเดิม หรืออาจยังมีอาการมึนหัว เวียนหัว แนะนำให้อ่านบทความทางการแพทย์จากโรงพยาบาล อย่างเช่น บทความจากรพ.รามาธิบดี https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/ภาวะ-long-covid-ลองโควิด-เมื่อโรค/ ฉบับนี้เป็นต้นเพื่อให้เข้าใจข้อมูลที่แท้จริง

แล้วถ้ากลับมาพิจารณาในด้านการบริหารธุรกิจโรงแรมกันบ้าง สภาวะลองโควิดของโรงแรมมีอาการอย่างไรกันบ้างตลอด 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา

  • ปรับจำนวนพนักงานให้เหมาะสมกับปริมาณลูกค้า
  • ลดจำนวนพนักงานเนื่องจากต้องหยุดให้บริการชั่วคราว
  • ปิดให้บริการ
  • ปิดและกลับมาเปิดเมื่อมาตรการเดินทางและการกักตัวผ่อนคลาย แต่ประสบปัญหาเรื่องการรักษาพนักงานที่มีทักษะในการให้บริการ
  • ต้นทุนในการให้บริการที่เพิ่มสูงขึ้นเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าในเรื่องสุขอนามัยและการป้องกันโควิด-19
  • ค่าใช้จ่ายในการดูแลทีมงานพนักงานที่เพิ่มสูงขึ้นจากการตรวจ ATK เป็นระยะ และเพิ่มความถี่เมื่อมีการระบาดในพื้นที่
  • ต้นทุนเรื่องพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งน้ำมันและไฟฟ้า
  • ปริมาณลูกค้าภายในประเทศที่สร้างตลาด weekday vs. weekend ทั่วประเทศ โดยเฉลี่ยวันธรรมดา 20-30% และวันหยุดสุดสัปดาห์ 60-80%
  • การจัดสรรงบประมาณด้านการตลาดออนไลน์เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงโรงแรมมากขึ้น ในขณะที่ฝั่งผู้ให้บริการก็เพิ่มกฎกติกาที่ทำให้การเข้าถึงของลูกค้ายากขึ้น หากไม่ลงโฆษณากับผู้ให้บริการ
  • กำลังซื้อของลูกค้าที่ลดน้อยถอยลงเนื่องจากต้องเรียงลำดับความสำคัญในการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ค่าใช้จ่ายประจำเดือนตามภาระผ่อนชำระหนี้ ทำให้งบประมาณที่จะจัดสรรเพื่อการท่องเที่ยวลดลง ทั้งในเรื่องความถี่ในการท่องเที่ยว และระยะเวลาในการเข้าพัก
  • มาตรการ WFH ของบริษัทต่าง ๆ อาจใช้ได้จริงในบางแห่ง แต่จำนวนชั่วโมงในการทำงานที่เพิ่มขึ้นของพนักงานทำให้เกิดการเหนื่อยล้ามากขึ้น ส่วนการไปทำงานต่างจังหวัดอาจมีความติดขัดในเรื่องสัญญาณอินเตอร์เน็ตหรือการเข้าถึงข้อมูลของบริษัทผ่าน Cloud system บ้างในบางแห่ง

เราลองมาพิจารณาเรื่องกรอบเวลาที่เหลือในปี 2565 กันต่อว่าฉากทัศน์จะเป็นอย่างไรบ้าง

ไตรมาสที่ 1 (มกราคม – มีนาคม) กำลังจะผ่านไป เท่ากับว่าเรามีเวลาอีก 9 เดือน ถ้าเราใช้ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติ 3.0 ล้านคน เท่ากับว่าเราจะต้องทำตัวเลขเดือนละ 300,000 กว่าคนสำหรับ 9 เดือนที่เหลือในฝั่งนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่วนฝั่งนักท่องเที่ยวคนไทย และต่างชาติที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยก็ตามสภาวะและปัจจัยของตลาด Weekday vs. Weekend และกำลังซื้อของกลุ่มคนทำงานที่มีรายได้แตกต่างกัน และกลุ่มโรงแรมที่มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ต่างกัน

ถ้าลองประมาณการตัวเลขผู้ให้บริการฝั่งโรงแรมที่ยังสามารถเปิดให้บริการได้มีอยู่ 25-30% ของจำนวนโรงแรม 16,000 แห่ง เท่ากับจะมีโรงแรมที่เปิดให้บริการตั้งแต่ 4,800 แห่งขึ้นไป แต่อาจจะเป็นการเปิดเพียงบางส่วน หรือเปิดเต็มรูปแบบ และถ้าคิดจำนวนห้องพักเฉลี่ยต่อโรงที่ 79 ห้อง เท่ากับจะมีจำนวนห้องพัก (Supply) 379,200 ห้อง

สิ่งที่ โรงแรม รีสอร์ท ควรดำเนินการต่อ

  1. รีสอร์ทที่มีเอเย่นต์ต่างประเทศที่เคยทำสัญญาขายห้องพักกันอยู่
  • ติดต่อสอบถามหาข้อมูลล่าสุดถึงสถานการณ์ในบ้านเขา
  • ติดต่อสอบถามหาข้อมูลเรื่องตลาดการท่องเที่ยว
  • ตรวจสอบเรื่องเที่ยวบินในประเทศและระหว่างประเทศที่จะเดินทางเข้ามาที่ประเทศไทย
  • ติดตามมาตรการเดินทางเข้าประเทศไทยอย่างใกล้ชิด
  • ทบทวนราคาห้องพัก และเงื่อนไขการจอง รวมทั้งโปรโมชั่นที่จะใช้

2. โรงแรม ในพื้นที่กรุงเทพและจังหวัดใกล้เคียงที่ใช้เวลาขับรถยนต์ไม่เกิน 3 ชั่วโมง

  • ประมาณการจำนวนลูกค้า และอัตราการเข้าพักที่ต้องการในแต่ละเดือนภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน (ไม่ต้องไปเทียบหรือใช้ตัวเลขช่วงก่อนโควิด) หากแต่ใช้เปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายประจำเดือนที่เกิดขึ้น และคุณต้องสร้างรายได้มาให้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย
  • พิจารณางบประมาณด้านการตลาดออนไลน์ (ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง) ที่จัดสรรในช่วง 9 เดือนที่เหลือ แยกเป็นประเภทต่าง ๆ หรือจะแยกตามช่องทาง แพลตฟอร์มที่คุณใช้อยู่ก็ได้
  • นำสถิติอัตราการเข้าพัก และค่าใช้จ่ายย้อนหลัง 2 ปีช่วงโควิดที่ผ่านมาขึ้นมาพิจารณา หากคุณเปิดให้บริการในช่วงดังกล่าว
  • อัพเดทมาตรการการเปิดให้บริการทั้งร้านอาหาร สถานบริการต่าง ๆ ในพื้นที่ รวมทั้งการเดินทางเข้าออกในจังหวัด

นำตัวเลขทั้งข้อ 1 และข้อ 2 มาทำตารางประมาณการ 9 เดือน ร่วมกับประมาณการค่าใช้จ่ายเทียบเคียงกับที่ผ่านมา แล้วจึงวางแผนการปฎิบัติงาน (Action Plan) แบบรายเดือน พร้อมแผนติดตามผลแบบมีตัวชี้วัดเพื่อประเมินสถานการณ์ และมอบหมายจ่ายงานให้กับแต่ละทีมที่รับผิดชอบต่อไปค่ะ

.

.

.

ส่วนท่านใดต้องการอ่านบทความเก่าที่เกี่ยวข้องกับการปรับตัวในช่วงโควิด หรือการเตรียมเปิดโรงแรมแบบออกตัวให้เร็วที่ผ่านมา สามารถติดตามอ่านได้ตามเส้นทางต่อไปนี้ค่ะ

  1. เช็คลิสโรงแรมออกตัวให้เร็ว หลังโควิด-19 : https://thethinkwise.com/2020/04/17/checklist-for-hotel-to-be-ready-after-covid/
  2. บริการท่ามกลางโควิด : https://thethinkwise.com/2021/04/12/service-with-care-for-hotel/

.

.

.

สุดท้ายสิ่งสำคัญ คือ ทีมงาน

ทบทวนมาตรฐานและขั้นตอนการให้บริการตามคอนเซ็ปท์ของโรงแรม

เพิ่มเติมมาตรการความสะอาดและความปลอดภัยเข้าไปในวิธีปฎิบัติงาน

และการฝึกซ้อม ทำความเข้าใจระหว่างแผนก

.

.

ส่วนผู้บริหาร หรือเจ้าของกิจการ ก็หมั่นให้กำลังใจทีมงาน แบ่งปันข้อมูลเพื่อสร้างความมั่นใจในแนวทางการทำธุรกิจต่อไปข้างหน้าให้ทีมงานได้รับทราบเป็นระยะนะคะ

.

.

ขอให้ทุกท่านโชคดีค่ะ