fbpx

Hotel Consulting

รู้ให้จริง ทำให้เป็น เรื่องโรงแรม

เงินเฟ้อ … เฝ้าระวังต่อไป

จากรายงานดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศเดือนมีนาคม 2565 และไตรมาสที่ 1/2565 ที่จัดทำโดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) เผยแพร่เมื่อ 5 เมษายน 2565 รายงานว่าเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มสูงขึ้น 5.73% หมายความว่าอย่างไร ? และธุรกิจโรงแรมที่พักที่กำลังอยู่ในช่วงพลิกฟื้นธุรกิจจากการเพิ่มขึ้นของการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศจะต้องปรับตัวและติดตามอะไรต่อไป เราต้องจับตาดู เงินเฟ้อ กันอย่างไร ไปดูกันต่อค่ะ

สถิติอัตรา เงินเฟ้อ ย้อนหลัง
ที่มา : https://www.price.moc.go.th/price/fileuploader/file_cpi/Cpi_tg.pdf

เวลาที่เราฟังรายงานข่าวว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ตัวเลขเท่านั้นเท่านี้ เราควรทำความเข้าใจความหมายของตัวเลขเหล่านั้นก่อนว่าหมายความว่าอย่างไร ?

ปกติอัตราเงินเฟ้อที่รายงานนั้น มาจากการเปรียบเทียบราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปีปัจจุบันเปรียบเทียบกับตัวเลขที่เกิดขึ้นเมื่อปีก่อนหน้า ดังนั้นถ้ามีการรายงานว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 5.73% ณ เดือนมีนาคม 2565 ก็หมายความว่าราคาสินค้าและบริการมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น 5.73% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว หรือราคาสินค้าและบริการแพงขึ้น 5.73% นั่นเอง

อย่างไรก็ดีการเก็บตัวเลขสินค้าและบริการที่นำมาให้น้ำหนักและประมวลผลออกมานั้น จะมีตั้งแต่ราคาอาหารและเครืองดื่ม เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า บ้าน ค่ารักษาพยาบาล พาหนะการขนส่ง พลังงาน บุหรี่ยาสูบและเครื่องดื่ม ซึ่งตัวเลขในเดือนมีนาคมนั้น ดัชนีราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้นถึง 32.43 เมื่อเทียบกับหมวดอื่น ๆ ทำให้ตัวเลขดัชนีราคาในภาพรวมที่เกิดขึ้นนั้นจึงเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมีเหตุปัจจัยมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานและน้ำมันในตลาดโลก

สำหรับแนวโน้มในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 ตามการคาดการณ์ของ สนค. นั้นยังคงประเมินว่า “มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น” เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ยังอยู่ในระดับสูง และสินค้าอุปโภคบริโภคหลายรายการทยอยปรับสูงขึ้นตามต้นทุน เช่น อาหารสำเร็จรูป และอาหารสดบางประเภท (ผักสด ไข่ไก่ เนื้อสัตว์)

.

.

.

แล้วโรงแรมจะทำอย่างไร ?

ไตรมาสที่ 1 ที่เพิ่งผ่านมาอาจมีการชะลอตัวในเรื่องอัตราการเข้าพักสำหรับตลาดในประเทศ เนื่องจากนักเดินทางท่องเที่ยวเพิ่งจะจบการใช้จ่ายและการเดินทางไปในช่วงปลายปี 2564 แม้ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติจะมีอัตราที่เพิ่มขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางและการกักตัว จากตัวเลขรายงานบนเพจสำนักงานประชาสัมพันธ์ จังหวัดภูเก็ต ณ 30 มีนาคม 2565 แสดงตัวเลขนักท่องเที่ยว 3 เดือนแรก (มกราคม – มีนาคม) อยู่ที่ 235,692 คน หรือเฉลี่ยมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาวันละ 2,648 คนต่อวัน เมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมตั้งแต่เราเริ่มเปิด Sandbox Phuket เมื่อ 1 กรกฎาคม 2564 – 29 มีนาคม 2565 รวม 272 วัน เฉลี่ยวันละ 1,542 คน นับว่าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 1,106 คน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 71% เลยทีเดียว หากเปรียบเทียบไตรมาสที่ 1 ปี 2565 กับยอดสะสม

สถิตินักท่องเที่ยวสะสม
ที่มา : เพจสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต

จากภาพแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่น่าจะเพิ่มสูงขึ้นในไตรมาสที่ 2 บวกกับการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่น่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเมื่อมาตรการการเดินทางเข้าประเทศผ่อนคลายมากขึ้น แต่กำลังซื้อในประเทศ และความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยอาจจะลดลงจากการที่สินค้าทะยอยปรับราคาเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลทางฝั่งลูกค้า แต่ทางฝั่งผู้ให้บริการอย่างเช่นโรงแรมนั้น การที่ราคาสินค้าต่าง ๆ ปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะค่าพลังงานไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน หรือไฟฟ้า เท่ากับว่าต้นทุนในการดำเนินการเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องแน่นอน

สำหรับแนวทางในการดำเนินการในไตรมาสที่ 2 คงต้องย้อนกลับไปที่เป้าหมายในการหาลูกค้าเพื่อเข้าพักให้ได้ตามเป้าหมาย บนกลุ่มลูกค้าที่ยังมีกำลังซื้อ หรือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อยจากการปรับขึ้นของราคาสินค้าและพลังงาน หากลูกค้ากลุ่มนี้เพิ่งจะเดินทางมาพักผ่อนในช่วง 3 เดือนแรกของปีในพื้นที่ของคุณ จะทำอย่างไรให้เกิดการใช้จ่ายซ้ำเพื่อกลับมาอีกครั้ง หรือวางแผนสำหรับในไตรมาสต่อไป ดังนั้น กลุ่มลูกค้าของโรงแรมที่พักต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จะเป็นส่วนผสมระหว่างกลุ่มใหม่ และกลุ่มลูกค้าเดิม ที่ทีมการตลาดและการขายควรทำความเข้าใจพฤติกรรมของแต่ละกลุ่มให้ชัดเจน และออกแบบการสื่อสารทางการตลาดเพื่อทำแคมเปญการตลาดออนไลน์แบบแยกกลุ่ม ซึ่งในเรื่องนี้ได้เคยเขียนบทความในหัวข้อเกี่ยวกับการเปิดโรงแรมใหม่อีกครั้งทำอย่างไรบนลูกค้ากลุ่มเดิม ในชื่อบทความ เปิดตลาดอีกครั้งจับทางให้ถูก ( อ่านบทความ https://thethinkwise.com/2020/06/09/hotel-recovery-phase-and-selling-funnel ) อยากแนะนำให้ลองอ่านอีกครั้งค่ะ

สำหรับโรงแรมไหนที่มีร้านอาหาร ขอให้จับตาเรื่องการขึ้นราคาสินค้าที่คุณจำเป็นต้องใช้เป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารออกมาให้บริการกับลูกค้าให้ดี เพราะราคาจะทยอยปรับขึ้นตั้งแต่ราคาไข่ไก่ ไปเรื่อย ๆ เท่ากับว่าต้นทุนอาหารที่คุณเคยคำนวณกันไว้บนราคาตลาดเมื่อเดือนที่ผ่านมา อย่างน้อยจะปรับขึ้นอีก 5-7% ตัวเลขนี้ก็ควรปรับให้ใกล้เคียงกับสภาพความเป็นจริงมากขึ้น

ใครที่มีทีมจัดซื้อ ทีมจ่ายตลาด ก็ควรปรับ Market List ที่ใช้จ่ายตลาดให้ดี รวมถึงอัพเดทข้อมูลในระบบ PMS ของโรงแรมด้วยเพื่อที่จะได้มีตัวเลขที่สะท้อนต้นทุนในการดำเนินงานที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด

ส่วนในเรื่องพลังงาน ได้แก่ ไฟฟ้า และน้ำมันนั้น หากสถานการณ์ที่เป็นปัจจัยภายนอกที่เราไม่สามารถควบคุมได้อย่างเช่น สงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซียยังดำเนินอยู่ต่อไป แน่นอนว่าผลกระทบในเรื่องต้นทุนการดำเนินงานของโรงแรมและทุกธุรกิจย่อมเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ถึงแม้รัฐบาลจะมีการอุดหนุนในเรื่องราคาน้ำมันดีเซลอยู่ก็ตาม เท่ากับว่าโรงแรมควรระมัดระวังในเรื่องการใช้พลังงานมากขึ้นทั้งไฟฟ้าที่จำเป็นต้องใช้กับเครื่องปรับอากาศที่บริการลูกค้าเป็นหลัก และสำหรับตู้แช่วัตถุดิบต่าง ๆ ในครัวของร้านอาหาร

สุดท้าย การทำการตลาดเพื่อให้เกิดการเข้าพักตามเป้าหมาย หรือยืดระยะเวลาการเข้าพักของลูกค้าแต่ละราย ประกอบกับการเริ่มฟื้นฟูในส่วนตลาดต่างประเทศ สำหรับโรงแรมที่เคยมีลูกค้าประเภท Trade Partner / Travel Agent / Tour Operator ต่าง ๆ ที่อาจจะกลับมาในช่วง Summer หรือตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม – กลางเดือนกันยายนเป็นต้นไป เพื่อสร้างรายได้ให้เพียงพอกับต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มสูงขึ้น

.

.

.

โดยสรุป สิ่งที่โรงแรมควรจับตาและปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานสำหรับไตรมาสที่ 2 และ 3 ปี 2565

  • ติดตามแนวโน้มการปรับขึ้นของราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคอย่างใกล้ชิด นำมาเปรียบเทียบกับราคาต้นทุนที่บันทึกในระบบของโรงแรม และปรับตัวเลขให้ใกล้เคียงความจริงเพื่อให้สะท้อนต้นทุนการดำเนินงานที่แท้จริงมากขึ้น
  • ประหยัดการใช้พลังงานในส่วนต่าง ๆ ของโรงแรม ส่วนไหนไม่มีลูกค้าใช้บริการให้ปรับลดการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ส่วนนั้น เช่น อาจปรับลดระยะเวลาในการเตรียมห้องพักให้ลูกค้าก่อนเช็คอิน เดิมอาจเปิดแอร์ล่วงหน้า 45 นาทีเพื่อให้แอร์เย็นฉ่ำ อาจปรับลดเป็น 15-30 นาที ขึ้นอยู่กับพื้นที่ใช้สอยภายในห้องพักของโรงแรมคุณว่ามีขนาดพื้นที่มากน้อยเพียงไร หรือการปรับการตั้งเวลาเปิด-ปิดไฟส่องสว่างในส่วนพื้นที่ส่วนกลางให้มีจำนวนชั่วโมงลดลง และในขณะเดียวกันก็ควรเริ่มศึกษาทางเลือกสำหรับพลังงานทางเลือกเช่น ไฟฟ้าจากแผงโซล่าร์ เป็นต้น
  • เร่งทำการตลาดและออกแคมเปญ ทำโปรโมชั่นเฉพาะกลุ่มลูกค้าอย่างชัดเจน ตามพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ของแต่ละกลุ่ม พร้อมเงื่อนไขการชำระเงินที่ยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์
  • การออกแคมเปญสำหรับกลุ่มลูกค้าที่เคยเข้าพักแล้ว ให้กลับมาพักซ้ำ หรือยืดระยะเวลาการเข้าพัก
  • ทบทวนงบประมาณในการทำการตลาดออนไลน์ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายเมื่อเทียบกับการทำการตลาดแบบ Mass Target ได้
  • บริหารจัดการเรื่องจำนวนพนักงานที่ให้บริการในแต่ละรอบให้เหมาะสมกับอัตราการเข้าพักของโรงแรม
  • การจัดตารางเพื่อทำ preventive maintenance ของทีมช่างในส่วนการล้างเครื่องปรับอากาศ ก็จะช่วยในการทำงานของเครื่องปรับอากาศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดค่าไฟได้เช่นกัน
  • ปรับมาตรการในเรื่องการคัดกรอง การรักษาสุขอนามัยภายในโรงแรมให้ทันกับประกาศต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดของคุณ เช่น เดิมต้องตรวจ ATK กันแบบวันเว้นวัน ถ้าตรวจเช็คในพื้นที่ตามประกาศจากทางการแล้วสามารถปรับลด หรือเว้นระยะห่างในการตรวจเช็คได้ เช่น เป็นตรวจเช็คทุก 3 วัน ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้บ้างไม่มากก็น้อย

บทความเกี่ยวกับการเปิดโรงแรมอีกครั้ง และการทำตลาดบนกลุ่มตลาดในประเทศ

  1. เตรียมเปิดโรงแรมให้ทัน – https://thethinkwise.com/2018/05/25/preopening-hotel-guideline/
  2. สร้างแบรนด์จากทีมรับจองห้องพัก – https://thethinkwise.com/2021/12/03/hotel-reservations-must-do/
  3. โรงแรมจะแบ่งกลุ่มตลาดแบบเฉพาะเจาะจงอย่างไร – https://thethinkwise.com/2022/02/15/hotel-segmentation-howto-แบ่งกลุ่มตลาด/
  4. โซเชียลมีเดียโรงแรมไปต่ออย่างไร – https://thethinkwise.com/2022/01/06/social-media-for-hotels-โซเชียลมีเดียโรงแรม/

สำหรับบทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการ และการทำการตลาดโรงแรมอื่น ๆ สามารถใช้ฟังก์ชั่นการค้นหา (รูปแว่นขยาย) ช่วยในการค้นหาบทความโดยการพิมพ์คำค้นหาที่ต้องการ และกดปุ่มแว่นขยาย คุณก็จะเห็นรายชื่อบทความต่าง ๆ ที่จะช่วยคุณในการปรับมุมมอง วิธีคิด และการวางแผนในการทำธุรกิจโรงแรมเพื่อไปต่อได้มากมาย

ลองแวะเข้าไปเยี่ยมชม https://thethinkwise.com ได้นะคะ และมีคำถามก็สามารถส่งข้อความผ่านทางเว็บไซต์ หรือไปที่เพจ https://www.facebook.com/thethinkwise ทางเฟสบุ๊กได้ตลอดเวลานะคะ