fbpx

Hotel Consulting

รู้ให้จริง ทำให้เป็น เรื่องโรงแรม

5 ความท้าทาย คนทำโรงแรม
5 ความท้าทาย คนทำโรงแรม

5 ความท้าทายของ คนทำโรงแรม

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาลองตั้งคำถามสั้น ๆ ภายในกลุ่ม “สารพัดเรื่องโรงแรมเล็ก” ที่เป็นกลุ่มพูดคุยสารพัดเรื่องการทำโรงแรมเล็กกับเจ้าของโรงแรมและผู้ที่สนใจจะเรียนรู้แนวคิด วิธีคิดในการจัดการกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการบริหารจัดการโรงแรมในมุมมองของ คนทำโรงแรม พบว่า….

สิ่งที่สมาชิกในกลุ่มมองว่าเป็นความท้าทาย หรือความยากในการบริหารโรงแรม มีดังนี้

  1. การทำการตลาดออนไลน์
  2. การรักษาทีมงานให้ทำงานอยู่ด้วยกันนาน ๆ
  3. การบริหารต้นทุน
  4. การสร้างวัฒนธรรมองค์กร (ข้อนี้ ผู้ร่วมตอบเสนอเข้ามา)
  5. การสร้างแบรนด์

.

.

จะเห็นว่าการให้ความสำคัญในปัจจัยต่าง ๆ ในแต่ละช่วงเวลา หรือภายใต้สถานการณ์ที่แตกต่างกัน มุมมองของผู้ให้คำตอบจะมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาหรืออุปสรรคพื้นฐานที่มีอยู่มาอย่างต่อเนื่อง จะยังคงอยู่ในผลสำรวจแต่อาจมีน้ำหนักที่ผู้ตอบให้ความสำคัญแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ณ เวลาที่ผู้ตอบแบบสำรวจประสบอยู่

.

.

ถ้าย้อนไปในยุคก่อนโควิด-19 โรงแรมที่พักขนาดเล็ก อย่างเช่น บูติกโฮเต็ล เจ้าของโรงแรมอาจชูธงเรื่อง “การสร้างแบรนด์” มาเป็นอันดับหนึ่ง เพราะต้องการให้โปรดักส์ของตนโดดเด่นและแตกต่างจากโรงแรมที่พักอื่น ๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่ แต่พอมายุคหลังโควิด-19 ความสำคัญในเรื่องการสร้างแบรนด์อาจถูกปรับลดระดับลง โดยต้องหันมาคำนึงถึงการสร้างรายได้และการควบคุมต้นทุนของธุรกิจมากขึ้น หลังจากขาดรายได้ไปกว่า 2 ปี

.

.

มาถึงจุด ณ ปัจจุบัน เชื่อว่าจากข้อมูลที่ทะลักทะลายและถาโถมเข้ามาเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน ทำให้เจ้าของโรงแรมที่พักขนาดเล็ก ที่ยังต้องเดินหน้าต่อไปเพื่อฟื้นฟูธุรกิจและสร้างรายได้ต้องกลับมาตั้งหลักและประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้ดี ๆ

.

ถ้าประเด็นเรื่องการทำการตลาดออนไลน์เป็นประเด็นหลัก สิ่งที่ควรเริ่มลงมือทำงาน คือ

  1. สำรวจตลาดว่ากลุ่มโรงแรมที่พักในลักษณะใกล้เคียงกัน เช่น มีจำนวนห้องพักที่ใกล้เคียงกับคุณ อาจอยู่ หรือไม่อยู่ในพื้นที่เดียวกับคุณ เขาทำอะไรอยู่บ้าง …. ทำง่าย ๆ คือ หากลุ่มตัวอย่างมา 5 โรงแรม แล้วสำรวจบนโลกออนไลน์ว่าสิ่งที่ลูกค้ามองเห็นโรงแรมเหล่านั้นเป็นอย่างไร และเขาใช้ช่องทางไหนบ้างในการสื่อสารกับลูกค้า ได้แก่ Google Search, Facebook Fanpage, Instagram, Youtube, Tiktok, LineOA เป็นต้น
  2. สำรวจและทบทวนงบประมาณด้านการตลาดออนไลน์ที่คุณมีอยู่ และที่ตั้งงบประมาณไว้สำหรับครึ่งปีหลัง 2565 ว่าเป็นอย่างไร ถ้านึกอะไรไม่ออก ขอให้กลับไปอ่านบทความเรื่องการตั้งงบประมาณการตลาดออนไลน์ที่ https://thethinkwise.com/2021/02/18/hotel-seeking-for-marketing-online/
  3. นำข้อ 1 และ ข้อ 2 มาประเมินน้ำหนักในแต่ละด้านร่วมกัน แล้วจึงสรุปตัวเลขงบประมาณที่เหมาะสมที่ควรจะใช้ในการเดินหน้าต่อ
  4. หากจำเป็นต้องใช้บริการจาก Freelancer หรือ ดิจิทัลเอเจนซี่ ควรศึกษาประวัติและผลงานของผู้ให้บริการเหล่านั้นให้ดี ๆ เพราะผู้ให้บริการที่มีผลงานเกี่ยวกับโรงแรมที่พักขนาดเล็กนั้น ยังมีน้อยมาก และมักขาดความเข้าใจในการทำธุรกิจโรงแรมที่พักขนาดเล็ก ยิ่งเป็นโรงแรมที่กำลังเตรียมเปิด หรือเตรียมกลับมาเปิดใหม่ ยิ่งมีความแตกต่าง จะนำวิธีการที่เคยใช้กับโรงแรมเชนขนาดใหญ่ที่มีเครือข่ายภายใต้แบรนด์ทั่วโลกมาใช้ ย่อมไม่ได้ หรือจะนำวิธีการโปรโมตร้านอาหาร ที่อาจมีวิธีการใช้ข้อความ สไตล์การเขียนที่ต่างออกไปจากการสื่อสารการตลาดโรงแรมที่พักขนาดเล็ก ….. อ่านบทความย้อนหลังที่ได้ https://thethinkwise.com/2020/11/07/how-to-brief-online-marketing-team/

.

.

.

คราวนี้มาดูในประเด็นที่มีความสำคัญลำดับที่ 2 คือ การรักษาทีมงาน ให้อยู่ด้วยกันนาน ๆ จะทำอย่างไร ?

ประเด็นนี้มีความเกี่ยวพันกับ “การสร้างวัฒนธรรมในองค์กร” ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และความสม่ำเสมอในการแสดงออกให้ทีมงานของคุณได้เห็นประจักษ์ในด้านต่าง ๆ ไม่ใช่แต่เรื่อง “ผลตอบแทน” จึงจะทำให้ทีมงานมีความรู้สึกร่วม และเกิดความภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนองค์กร

การที่จะรักษาทีมงานให้อยู่ร่วมงานกับโรงแรมของคุณไปนาน ๆ อาจต้องเริ่มจากการทบทวนพฤติกรรมของเจ้าของโรงแรม และทีมบริหารโรงแรมก่อนว่า แต่ละท่านมีส่วนร่วมในการสร้างวัฒนธรรมองค์กร และสร้างที่ทำงาน สร้างบรรยากาศการทำงานที่สนุก ท้าทาย และมีอนาคตที่มั่นคงกับทีมงานระดับโอเปอเรชั่นอย่างไร ซึ่งตัวแทนที่จะส่งผลสิ่งเหล่านั้นโดยตรงก็คือ “ทีมทรัพยากรบุคคล” หรือ “ทีมบุคคล” ของคุณนั่นเอง

.

.

ขอเล่าเรื่องให้ฟังเป็นข้อคิดเรื่องหนึ่ง

ทีมงานฝ่ายบุคคลมาเอ่ยปากขอคำปรึกษา (บางที thethinkwise ก็ทำหลายหน้าที่ไม่ใช่แต่เรื่องการให้คำปรึกษาเรื่องการบริหารโรงแรมให้ไปรอด) ว่าจะทำอย่างไรดี “หนูไม่อยากคอนเฟิร์มผู้สมัครรายนี้เลยค่ะ เพราะหนูว่าเขาน่าจะมีอนาคตที่ดีกว่ามาร่วมงานกับโรงแรมที่หนูทำงานอยู่ค่ะ”

.

.

ถ้าตั้งต้นจากประโยคนี้ของทีมบุคคล อันนี้ถือว่าเป็นปัญหาที่อยู่ในขั้นโคม่าแล้ว ไม่ใช่แค่คุณจะรักษาทีมงานให้อยู่ด้วยกันนาน ๆ ได้อย่างไร แต่คำว่า “วัฒนธรรมองค์กร” ของโรงแรมคุณ มีหรือไม่มี หรือมีในแบบไหน ยิ่งต้องตั้งข้อสังเกตให้ดี ๆ

.

.

อย่าลืมว่า ภายใต้สถานการณ์หลังโควิด-19 คลี่คลาย ปัญหาหลักของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในภาพรวม คือ “การขาดแคลนแรงงานภาคบริการ” กล่าวคือในช่วงโควิด-19 แรงงานในภาคการท่องเที่ยวเลือกที่จะกลับไปยังบ้านเกิดของตน และหาอะไรทำในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และเลือกที่จะไม่กลับเข้าสู่ตลาดแรงงานในภาคการท่องเที่ยวอีก

[อ่านข่าวปัญหาการขาดแคลนแรงงานในต่างประเทศ https://www.dw.com/en/holiday-woes-hospitality-sector-faces-tourism-boom-while-desperately-short-staffed/a-61464203 ]

ดังนั้นนี่คือปัญหาหลักของทุกโรงแรมในการสรรหาบุคคลากรให้ได้ตามที่ต้องการ

เพราะฉะนั้นโรงแรมไหนที่ประสบปัญหาเหล่านี้ ให้ทำความเข้าใจว่าเป็นปัญหาที่ทุกโรงแรมต้องผ่านไปให้ได้ ดังนั้น ความชัดเจนในการแสดงออกขององค์กรของคุณในการสรรหาบุคคลากรในตลาดแรงงาน นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการรับรู้ของผู้ที่กำลังมองหางาน

แต่อีกส่วนคือเมื่อมีการปฏิสัมพันธ์กับทีมงานของคุณ เช่น การโทรสอบถาม การตอบข้อซักถามบนช่องทางโซเชียลต่าง ๆ คุณเลือกที่จะสื่อสารแบบไหน ที่ยังคงอยู่ภายใต้แบรนด์คอนเซ็ปต์ของคุณ

.

และเมื่อมีการเรียกสัมภาษณ์ ทั้งสัมภาษณ์ออนไลน์ หรือสัมภาษณ์ ณ สถานที่ คุณเลือกที่จะสื่อสารกับผู้สมัครอย่างไร

.

.

เมื่อตัวแทนทีมบุคคล ยังไม่มีความมั่นใจในอนาคตของโรงแรมของคุณ และกำลังมองหางานใหม่อยู่ จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม คุณในฐานะเจ้าของโรงแรม หรือผู้บริหาร เคยรับทราบปัญหาเหล่านี้หรือไม่ และได้ลงมือแก้ไขอย่างจริงจังหรือเปล่า หรือคุณมองว่าเป็นหน้าที่ของ ผู้จัดการทั่วไป ไม่ใช่หน้าที่เจ้าของธุรกิจที่ต้องลงไปจัดการ …. ถ้าคุณในฐานะเจ้าของโรงแรม มองปัญหาที่เกิดขึ้นแบบนี้ — อันนี้ไม่แปลกใจว่าทำไมตัวแทนของคุณ ในทีมบุคคลจึงรู้สึกเช่นนี้

.

.

วันนี้ขอยกตัวอย่างและอธิบายเฉพาะ 2 ความท้าทายลำดับแรก ๆ ที่เจ้าของโรงแรมต้องก้าวผ่านไปให้ได้

.

.

ขอให้ทุกท่านมีกำลังใจที่จะก้าวผ่านความท้าทายนี้ไปให้ได้ค่ะ