fbpx

Hotel Consulting

รู้ให้จริง ทำให้เป็น เรื่องโรงแรม

ค่าเงิน ที่เปลี่ยนไป กับการตั้งราคาขายห้องพักโรงแรม

ต้นปี 2565 อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อเงินเหรียญสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 32.00 – 33.00 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐ และ 6 เดือนผ่านไป อัตราแลกเปลี่ยนเมื่อคืนที่ผ่านมา (5 กรกฎาคม 2565) อยู่ที่ 36.00 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐ เปลี่ยนแปลงไป 3.00 – 4.00 บาท แปลว่า ค่าเงิน บาทอ่อนลง แล้วหมายถึงอะไร ?

.

.

ถ้าคุณเป็นผู้นำเข้า แปลว่าคุณต้องใช้เงินสกุลต่างประเทศเพื่อซื้อสินค้าจากต่างประเทศเพื่อมาขายในประเทศ เท่ากับว่าคุณต้องใช้เงินบาทเพิ่มขึ้นต่อ 1 เหรียญสหรัฐในการนำเข้าสินค้าเช่น นำเข้าเครื่องจักร หรือวัตถุดิบเป็นเงินสกุลเหรียญสหรัฐ เป็นต้น

ถ้าคุณเป็นผู้ส่งออก แปลว่า คุณผลิตสินค้าในประเทศเพื่อส่งออกไปขายต่างประเทศในราคาสกุลเงินของประเทศนั้น ๆ เท่ากับว่าคุณจะได้รับเงินบาทจำนวนมากขึ้นต่อการขายสินค้าหนึ่งชิ้น จากเดิมต้นปีขายสินค้า 1 ชิ้นในราคา 1 เหรียญสหรัฐได้เงิน 33 บาท ต่อมาเดือนกรกฎาคม ขายสินค้า 1 ชิ้นในราคา 1 เหรีญสหรัฐเท่ากัน แต่ได้รับเป็นเงินบาท 36 บาท

.

.

แล้วโรงแรมที่พัก เป็นผู้นำเข้า หรือผู้ส่งออก ?

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นธุรกิจการให้บริการประเภทหนึ่ง

โรงแรมที่พักเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

โรงแรมที่พักจึงเป็นธุรกิจการให้บริการประเภทหนึ่ง

.

.

จัดเป็นการส่งออกการให้บริการ ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศจากการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในบ้านเรา

.

.

เท่ากับว่าเมื่อ ค่าเงิน มีการเปลี่ยนแปลง ประเทศเราจะได้รับเงินจากการส่งออกการให้บริการเพิ่มขึ้นต่อทุก ๆ การใช้จ่าย 1 เหรียญสหรัฐ ?

.

.

โดยหลักการ …. ใช่

แต่เรื่องนี้ต้องกลับมาดูเงื่อนไขในสัญญาที่ตกลงกันระหว่างโรงแรม กับทราเวลเอเย่นต์ หรือทัวร์โอเปอเรเตอร์ต่างประเทศว่าทำสัญญากันไว้อย่างไร

  • ทำสัญญากำหนดอัตราค่าห้องพักเป็นเงินสกุลบาท หรือเป็นสกุลต่างประเทศ
  • เงื่อนไขการคิดอัตราแลกเปลี่ยนของแต่ละการจอง (Booking) เป็นอย่างไร
  • กำหนดวันชำระเงิน หรือวันโอนชำระเงินของทราเวลเอเย่นต์ต่างประเทศ ได้กำหนดรายละเอียดเรื่องการคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนไว้อย่างไร

.

.

มาถึงจุดนี้ บางท่านอาจจะบอกว่า “จะไปสนใจ ค่าเงิน ทำไม ตอนนี้มีแต่ลูกค้าในประเทศ เราก็ขายแต่เป็นเงินบาท”

ไม่เป็นไร ลองมาตั้งโจทย์เพื่อหาข้อเท็จจริงและทำความเข้าใจกัน

.

.

สมมติต้นปีในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ลูกค้าจากสหรัฐอเมริกาวางแผนที่จะเดินทางท่องเที่ยวในช่วงซัมเมอร์ ตั้งแต่ปลายกรกฎาคม ถึงปลายเดือนสิงหาคมว่าจะมาเที่ยวเมืองไทย ตกลงจองทริปท่องเที่ยวทั้งตั๋วเครื่องบิน และโรงแรมที่พัก 5 คืน ซึ่งบังเอิญโรงแรมที่ลูกค้าจองทำสัญญากับทราเวลเอเย่นต์ขายห้องพักเป็นเงินสกุลเหรียญสหรัฐที่ราคา 250 เหรียญต่อห้องต่อคืน สำหรับการเข้าพัก 2 ท่าน

อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่จองที่พัก อยู่ที่ 33.00 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐอเมริกา เท่ากับว่าค่าที่พัก 1 คืนเมื่อคิดเป็นเงินไทย จะอยู่ที่ 8,250 บาทต่อห้องต่อคืน รวม 5 คืน เท่ากับ 41,250 บาท

ผ่านมา 6 เดือน ถึงต้นเดือนกรกฎาคม ค่าเงินบาทอ่อนลงมาอยู่ที่ 36.00 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐ เท่ากับว่าค่าที่พักคืนละ 250 เหรียญจะเท่ากับ 9,000 บาทต่อห้องต่อคืน รวม 5 คืนเท่ากับ 45,000 บาท

เท่ากับว่ารายได้ที่โรงแรมจะได้รับจะเพิ่มขึ้น 3,750 บาท หรือ เพิ่มขึ้นประมาณ 9% หากตกลงใช้อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันเข้าพักเป็นตัวคำนวณ แต่ถ้าใช้อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ลูกค้าจองเป็นตัวคำนวณ เท่ากับว่าต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนในเดือนกุมภาพันธ์

ถ้าทุก ๆ บุ๊กกิ้งที่จองเข้ามาได้รับเงินเพิ่มขึ้น 9% เท่ากับโรงแรมรีสอร์ทจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากจำนวนการเข้าพักเท่าเดิม

.

.

นี่คือ ตัวอย่างการคำนวณเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนถึงผลกระทบจากการที่ค่าเงินบาทอ่อนตัวลง

.

.

.

แล้วโรงแรม รีสอร์ทของคุณเป็นแบบไหน ?

.

.

อีกประเด็นที่อยากแบ่งปันสำหรับโรงแรมรีสอร์ทที่วางแผนในการทำตลาด ทำสัญญากับทัวร์โอเปอเรเตอร์ต่างประเทศ หรืออยากเข้าไปอยู่ในโบรชัวร์ของทราเวลเอเย่นต์ คือ เรื่องจังหวะเวลา หรือช่วงเวลาในการทำสัญญา

ในแต่ละปี ทัวร์โอเปอเรเตอร์จะมีช่วงเวลาในการทำสัญญา ทั้งหาโรงแรมรีสอร์ทใหม่ ๆ เพิ่มในโบรชัวร์ และประเมินผลงานที่ผ่านมาของโรงแรมรีสอร์ทที่อยู่ในโบรชัวร์อยู่แล้วว่ามีการส่งลูกค้ากันกี่รูมไนท์ คุ้มกับการที่จะอยู่ในโบรชัวร์ต่อหรือเปล่า ถ้าจะอยู่ต่อจะทำสัญญากับแบบไหน เพิ่มโปรโมชั่น หรือเงื่อนไขต่าง ๆ กันอย่างไร แล้วก็จะมาเจรจาธุรกิจกับโรงแรมรีสอร์ทนั้น ๆ

เช่น ช่วงไตรมาสที่ 1 ของแต่ละปี จะเป็นช่วงทบทวนผลงานที่ผ่านมาว่าส่งลูกค้ากันเท่าไหร่ สร้างรายได้เท่าไหร่ และพบปะเจรจากันในเดือนมีนาคม – เมษายน เพื่อสรุปเรื่องราคา เงื่อนไข โปรโมชั่น เพื่อทำสัญญาในปีต่อไป 12-16 เดือนข้างหน้า อัพเดทรูปภาพ ข้อความเพื่อทำโบรชัวร์ใหม่ให้เสร็จในช่วงปลายปีก่อนเดือนพฤศจิกายน

ถ้าตารางเวลาในการทำงานเป็นประมาณนี้ เท่ากับว่าโบรชัวร์ที่จะออกในช่วงปลายปีนี้ คือราคาสำหรับปี 2566 – 2567/2023-2024 จบกระบวนการต่อรอง ทำสัญญาต่าง ๆ กันไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ช่วงกลางปี หรือประมาณเดือนมิถุนายน

.

.

พอจะเห็นไทม์ไลน์ในการทำงานกันนะคะ

.

.

แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความผันผวนตลอดเวลา และทุกคนได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ตารางเวลาการทำงานอาจมีการปรับเปลี่ยนกันไปบ้าง เช่น ปรับระยะสัญญาให้สั้นลง เน้นทำแต่ออนไลน์โบรชัวร์ ยกเลิกการผลิตในแบบตีพิมพ์เป็นเล่ม เพื่อลดค่าใช้จ่าย เป็นต้น แต่อย่างไรก็ดี ฝั่งโรงแรมรีสอร์ทก็ควรวางแผนการทำงานล่วงหน้าในแต่ละปี เพื่อการคาดหวังผลที่เป็นรูปธรรมได้ในอนาคต

.

.

สำหรับโรงแรมรีสอร์ทที่มีการทำสัญญากับทัวร์โอเปอเรเตอร์ต่างประเทศอยู่แล้ว ลองเช็คตัวเลขบุ๊กกิ้งออนแฮนด์ที่มีอยู่ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม จนถึงธันวาคมในปีนี้ดูว่ามีอยู่เท่าไหร่ในแต่ละเดือน

.

.

การบริหารจัดการโรงแรมในช่วง 5 เดือนที่เหลือเป็นเรื่องที่การบริหารจัดการต้องเข้มข้น และเจ้าของโรงแรมรีสอร์ทควรเข้าใจในทุกมิติ เพื่อหาทางป้องกันล่วงหน้า รวมถึงใช้จ่ายทุกบาทอย่างมีประสิทธิภาพ หากเรายังอยู่ภายใต้ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจากฝั่งต้นทุนอย่างต่อเนื่องไปอีกหลายเดือน