fbpx

Hotel Consulting

รู้ให้จริง ทำให้เป็น เรื่องโรงแรม

โรงแรม เตรียมพร้อมไตรมาสสุดท้าย
ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในช่วงสุดท้ายของปี 2565

วันนี้หยิบตัวเลขคาดการ์ณต่าง ๆ มาให้ทุก โรงแรม เตรียมพร้อม …

โรงแรม เตรียมพร้อมอย่างไร ?

.

.

เวลาดูตัวเลข อย่าดูเพียงด้านเดียว หรืออย่าดูเป็นจุด ๆ แต่พยายามนำตัวเลขต่าง ๆ มาประกอบร่างกันเพื่อให้เห็นหลายมุมมอง ทั้งภาพใหญ่ภาพรองและกลับมาที่ภาพตัวโรงแรม

.

ภาพใหญ่ – IMF คาดการ์ณการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกอยู่ที่ 3.2%

ภาพรอง – ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการ์ณอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอยู่ที่ 3.2% และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 6.2%

.

.

และประกาศเพิ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ย 5.02% ทั่วประเทศ มีผลบังคับใช้ 1 ตุลาคม 2565

.

.

โรงแรม จัดอยู่ในภาคบริการ ซึ่งปกติมีอัตราค่าจ้างที่สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว ยกเว้นแรงงานขั้นต้นที่ไม่มีประสบการณ์ไม่มีทักษะที่ต้องนำมาฝึกอบรมที่อาจเริ่มต้นเงินเดือนที่เทียบเท่าค่าแรงขั้นต่ำ และมีค่าบริการประจำเดือนเพิ่มเข้าไป

อย่างไรก็ดี ด้วยภาวะโควิด-19 ที่ผู้ประกอบการต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มในการป้องกันโรคระบาด เช่น การทำประกันสุขภาพเพิ่มเติมให้พนักงาน จัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือเพิ่มการทำความสะอาด และสุขอนามัย ทำให้สัดส่วนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับพนักงานปรับเพิ่มขึ้น 10-20%

ดังนั้นหากมองในแง่ตัวเลขเปอร์เซ็นต์จะเห็นว่าค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้นนั้นเป็นการช่วยบรรเทาหรือชะลอปัญหาเรื่องเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูงทั่วโลกอันเนื่องมาจากแรงผลักด้านทางฝั่งต้นทุน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำมัน พลังงาน ไฟฟ้าต่าง ๆ ซึ่งทั่วโลกกำลังพยายามแก้ไขปัญหาด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อชะลอเรื่องเงินเฟ้อ

.

#โรงแรมไปต่ออย่างไร

ททท. คาดการ์ณจำนวนนักท่องเที่ยวในอีก 4 เดือนข้างหน้าว่าจะสามารถทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวรวมไปถึง 10.0 ล้านคนได้ หลังจากสามารถแสดงตัวเลขที่ 4.0 ล้านคนในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

.

หากพิจารณาตัวเลขนักท่องเที่ยวในอดีตของบ้านเราในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาที่พึ่งพานักท่องเที่ยวจีนเป็นหลัก การที่จะสร้างรายได้ด้วยตัวเลขเป้าหมายที่ตั้งไว้ ภายใต้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในภูมิภาคเอเซียและยุโรปที่เหลือ คงเป็นงานที่หนักและท้าทายมากๆสำหรับประเทศไทย

.

สำหรับตลาดในประเทศ หากอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง และอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับขึ้นต่อเนื่อง (ถึงแม้จะทะยอยปรับ) แต่ด้วยโครงสร้างหนี้ครัวเรือนในประเทศไทยที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาตลอด แน่นอนว่ากำลังซื้อย่อมลดลง และระมัดระวังเรื่องการจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะที่ไม่จำเป็นมากขึ้นเพื่อรักษาสภาพคล่องภายในครอบครัวให้มีกระแสเงินสดในแต่ละเดือนเพียงพอกับค่าใช้จ่ายประจำเดือนและภาระหนี้ที่คงค้างอยู่

.

.

สิ่งที่ โรงแรม ควรทำให้จบภายในกลางเดือนกันยายน

ฝั่งหารายได้

  • นำตัวเลขเป้าหมายทั้งในแง่ Room Night Production และรายได้จากห้องพักมากางตารางดูแบบรายเดือน โรงแรมไหนมีร้านอาหารนำรายได้จากการขายอาหารและเครื่องดื่มที่คาดการ์ณไว้มาประกอบด้วย ….. ตั้งคำถามและหาคำตอบให้ได้ว่า “ตัวเลขที่ตั้งไว้มีที่มาที่ไปอย่างไร และจะไปหามาจากไหน”
  • ทบทวนสมมติฐานในการคาดการ์ณว่ามีเหตุมีผล มีความเป็นไปได้อย่างไร
  • นำตารางกิจกรรมการตลาดและการขายที่จะทำในอีก 4 เดือนข้างหน้ามาดู พร้อมทั้งทบทวนว่ายังมีกิจกรรมอะไรที่ยังคงต้องทำต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 3 เช่น อาจมีสัญญาผูกพันกัน มีแคมเปญร่วมกัน เป็นต้น
  • ถ้าทีมการตลาดและการขายยังไม่เคยประเมินผลที่ได้รับจากการทำกิจกรรมที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ให้ “ทำด่วน” ว่าคุ้มค่าหรือไม่ ถ้าไม่จะได้ตัดกิจกรรมที่ไม่จำเป็นออกไป
  • วิเคราะห์ Lead time of booking หรือระยะเวลาที่ใช้ในการจองห้องพักของลูกค้าในแต่ละเดือนเป็นอย่างไร จองล่วงหน้านานมากกว่า 30 วัน อาจมีสัดส่วนมากที่สุด หรือจองระยะสั้นภายใน 7 วันล่วงหน้า อาจจะมากที่สุด – ควรประเมินผลตรงนี้ออกมาให้ได้ในทุกช่องทางการจอง
  • โรงแรมไหนเตรียมออกงานไทยเที่ยวไทย 1-4 กันยายน 2565 จงนำตัวเลขประมาณการรายได้ที่คาดว่าจะขายได้ในงานมาใส่ในตารางคาดการณ์รายได้ด้วย

ฝั่งควบคุมรายจ่าย

  • ประเมินผลกระทบที่ได้รับจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นมาตลอด 3 เดือนที่ผ่าน (มิถุนายน-สิงหาคม) เทียบกับ 3 เดือนก่อนหน้า (มีนาคม – พฤษภาคม) สังเกตรายการค่าใช้จ่าย 5 อันดับแรกที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดเรียงลำดับมา
  • เปรียบเทียบรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นย้อนหลัง กับรายได้ที่เข้ามาในแต่ละเดือนที่ผ่านมา และคาดการ์ณรายจ่ายควบคู่กับรายได้ที่ตั้งไว้ ….. ไม่มีรายได้อะไรที่จะสร้างขึ้นมาโดยปราศจากรายจ่าย …..
  • ทำตัวเลขสรุปทั้งปี 2565 แบ่งเป็นฉากทัศน์ (Scenario) ให้ผู้บริหารเห็นว่าฉากทัศน์ไหนมีความเป็นไปได้มากที่สุด และถ้าจะต้องไปถึงตัวเลขที่โรงแรมอยู่รอด ต้องใช้เงินหมุนเวียนในอีก 4 เดือนที่เหลืออย่างไร
  • เริ่มทำแผนงบประมาณ (Budget Plan) ด้วยการแจกจ่ายตารางให้แต่ละแผนกอัพเดทและใส่รายการข้าวของเครื่องใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะต้องการใช้เพิ่มเติมในปีต่อไป พร้อมประมาณราคามาด้วย และโรงแรมไหนที่มีแผนปรับปรุงส่วนใดส่วนหนึ่งของโรงแรม หรือจะทำโครงการใหญ่อะไรเพิ่มเติม ก็ให้ทำ CAPEX (Capital Expenditure Plan) มาด้วย ให้เวลาได้ถึงสิ้นเดือนกันยายนในการส่งตัวเลขของแต่ละแผนก
  • ทบทวนรายจ่ายประจำประเภท Fixed Monthly Fee หรือ Monthly Subscription ทุกรายการให้สอดคล้องกับแผนการสร้างรายได้และการรักษาระดับการให้บริการ

.

.

ทางรอด โรงแรม

1. หารายได้

2. เพิ่มสภาพคล่อง

3. ควบคุมค่าใช้จ่าย

4. เพิ่มกำลังใจให้ทีมงาน

5. บทบาทของผู้นำที่ชัดเจน

.

.

ที่มาข้อมูล :

  1. ธนาคารแห่งประเทศไทย – https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/MonetPolicyComittee/MPR/Pages/default.aspx
  2. ข่าว IMF คาดการ์ณ GDP โลก – https://www.cnbc.com/2022/07/26/imf-cuts-global-gdp-forecast-as-economic-outlook-grows-gloomy.html
  3. ข่าวการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ – https://www.thansettakij.com/economy/538164

.

.

อ่านคำแนะนำเรื่องการทำการตลาดภายในประเทศ https://thethinkwise.com/2021/08/23/hotel-domestic-market-th/

.

.

ติดตามอ่านบทความอื่น ๆ พร้อมคำแนะนำในการบริหารโรงแรมแบบรู้ให้จริง ทำให้เป็นได้ที่ https://linktr.ee/thethinkwise

thethinkwise รู้ให้จริง ทำให้เป็น เรื่องโรงแรม
ผู้เขียนบทความ – อมรพรรณ สมสวัสดิ์