fbpx

Hotel Consulting

รู้ให้จริง ทำให้เป็น เรื่องโรงแรม

ค่าไฟฟ้า แพงขึ้นในอังกฤษและยุโรป จะทำให้ผู้คนหันมาตัดสินใจย้ายที่พักในช่วงฤดูหนาวจริงหรือ ?

ข่าวจากสำนักข่าว EuroNews.Travel เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมามีประเด็นที่น่าสนใจเรื่องการเพิ่มขึ้นของ ค่าไฟฟ้า ที่จะเป็นปัจจัยกระตุ้นการท่องเที่ยวในบ้านเราหลายด้าน ได้แก่

  • การเพิ่มขึ้นของ ค่าไฟฟ้า ในยุโรปโดยเฉพาะในประเทศอังกฤษ กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเริ่มวางแผนที่จะหนีหนาว และลดภาระค่าไฟฟ้าที่ต้องจ่าย
  • ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับแก๊สและ ค่าไฟฟ้า ในครัวเรือนเพิ่มขึ้น 80% เท่ากับส่งผลให้แต่ละครัวเรือนต้องรับภาระเพิ่มขึ้นกว่า 3,000 ปอนด์ต่อปี และคาดว่าในไตรมาสที่ 1 ปี 2566 จะเพิ่มขึ้นเป็น 5,000 ปอนด์ต่อปีเลยทีเดียว (อัตราแลกเปลี่ยน ณ 28/9/2565 อยู่ที่ 40.64 บาท ต่อ 1 ปอนด์) หรือแต่ละครัวเรือนจะมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 120,000 – 200,000 บาทต่อปี คิดเฉลี่ยรายเดือนเท่ากับ 10,000 – 16,900 บาท
  • คาดว่าภายในเดือนเมษายน ปี 2566 ภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของครัวเรือนจะขยับขึ้นไปสูงถึง 7,700 ปอนด์ หรือประมาณ 312,928 บาท เทียบเท่าวันละ 20 ปอนด์ จากปกติที่อยู่ที่ 10 ปอนด์ต่อวัน กรณีไม่เปิดเครื่องทำความร้อน หรือ Heater
  • เมื่อค่าใช้จ่ายในประเทศอังกฤษสูงขึ้นอย่างมาก การเริ่มสำรวจหาข้อมูลที่พักระยะยาวมากกว่า 2-3 สัปดาห์ในประเทศที่มีอากาศอุ่นในช่วงฤดูหนาว (Winter) อย่างเช่น มอลต้า สเปนตอนใต้ หรือโปรตุเกส ที่มีที่พักในแบบอพาร์ทเม้นท์ราคาประหยัดในระดับต่ำกว่า 1,000 ต่อคืน บวกกับค่าเดินทางไม่สูงมาก ค่าใช้จ่ายด้านอาหารและอื่นๆอยู่ในเกณฑ์ยอมรับได้ จึงเป็นเรื่องที่กระตุ้นการเดินทางอีกครั้ง

สำหรับการเดินทางระยะไกลแบบ Long Haul นั้น….

  • ค่าเดินทางมีราคาแพง
  • ที่พักราคาประหยัด
  • ค่าครองชีพอยู่ระดับต่ำ

เพราะฉะนั้น นักท่องเที่ยวหรือนักเดินทางควรเลือกที่จะพักระยะยาวมากขึ้น เช่น นานมากกว่า 1 เดือน

ข่าวนี้มีการยกตัวอย่างประเทศไทยด้วย โดยพูดถึงการพัก 1-2 เดือน ย่อมสามารถหาที่พักในระดับราคาต่ำกว่า 50 ปอนด์ หรือต่ำกว่า 2,000 บาทต่อคนต่อคืนได้ไม่ยาก

.

.

คำถาม คือ จะมีนักท่องเที่ยวอังกฤษ หรือนักท่องเที่ยวในยุโรปกี่คนที่จะเต็มใจเลือกเดินทางเพื่อมาใช้ชีวิตอยู่ในอีกซีกของโลกในโซนเมืองร้อนชื้นแบบบ้านเรา เพื่อที่จะแลกเปลี่ยนกับภาระ ค่าไฟฟ้า ค่าแก๊สในครัวเรือนที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาว

.

.

ข้อสังเกต

  1. นักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะสามารถใช้ชีวิตนั่งทำงานที่ไหนก็ได้ อย่างที่เราเรียกว่า Digital Nomad นั้นมีตัวเลขอยู่ที่ 35.0 ล้านคนทั่วโลกในปี 2022
  2. จากรายงานการสำรวจจำนวนและพฤติกรรมกลุ่ม Digital Nomads ในสหรัฐอเมริกาพบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 4.8 ล้านคนในปี 2018 เป็น 11.0 ล้านคนในปี 2021 โดยกลุ่มนี้มีพฤติกรรมการเข้าพักดังนี้
    • 51% พักในโรงแรม
    • 41% พักบ้านเพื่อนหรือบ้านญาติ (Friends/Family)
    • 36% พัก Airbnb
    • 21% พักในรถสำหรับท่องเที่ยว (Car/RV/Van)
    • 16% พัก Hostel
  3. สัดส่วน Digital Nomads ใน UK คิดเป็น 8% เทียบเคียงจากตัวเลขรายงานการสำรวจ State of Digital Nomads 2022 และ State of Remote Works 2021 อาจประมาณได้ว่ามีจำนวนคนกลุ่มนี้ประมาณ 2.8 ล้านคนที่อยู่ใน UK
  4. กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มอื่น ๆที่มีโอกาสเดินทางมาประเทศไทย ก็ได้แก่ เจ้าของกิจการ ผู้บริหาร แต่อาจจะไม่สามารถพักได้ระยะยาวแบบหลาย ๆ เดือน ได้แบบกลุ่ม Digital Nomads
  5. ธุรกิจสายการบินที่ยังคงไม่สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้เต็มศักยภาพ เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคบริการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
  6. เมื่อจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศมีจำกัด แน่นอนว่าราคาตั๋วเครื่องบินย่อมปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น
  7. ค่าครองชีพในบ้านเรานั้น ถึงแม้จะได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงต่อไป จากการใช้นโยบายด้านการเงินในเรื่องอัตราดอกเบี้ย แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่พอยอมรับได้สำหรับนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อ

.

.

มาฉายภาพใหญ่กัน

ตัวเลขประมาณการจำนวนผู้โดยสาร (Passenger Traffic Demand Forecast at 6 Airports) โดยการท่าอากาศยานในปี 2565 อยู่ที่ 45.61 ล้านคนเที่ยว และ ปี 2566 อยู่ที่ 95.50 ล้านคนเที่ยว (ตัวเลขเป็นการประมาณการรวมขาไปและขากลับต่อ 1 คน)

ประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2565 อยู่ที่ 8.0-10.0 ล้านคน ซึ่งเป็นส่วนผสมระหว่าง Leisure และ Business และมีทั้งการพำนักระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งในบ้านเรานั้น หากเป็นการพักระยะยาวมากกว่า 1 เดือนมักจะเลือกใช้การค้นหาบ้านพัก บ้านเช่า หรือเซอร์วิสอพาร์ตเม้นท์กรณีต้องการการเดินทางติดต่อทำธุรกิจที่สะดวกในเมืองหลวง มากกว่าที่จะเลือกการพักในโรงแรมแบบระยะยาวเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

.

ภาระ ค่าไฟฟ้า ที่เพิ่มขึ้นต่อปีนับว่าเป็นภาระที่หนักทีเดียว แต่อย่างไรก็ดีก็ยังคงมีปัจจัยอื่น ๆ เพิ่มเติมที่ต้องพิจารณา

.

ถ้าค่าใช้จ่ายในการเดินทางมีราคาที่สูงขึ้นทั้งจากปัจจัยการขาดแคลนแรงงาน ทำให้มีเที่ยวบินจำกัด และต้นทุนราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงการเร่งปรับตัวเพื่อลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซต์ทั่วโลกของสายบินต่าง ๆ ค่าใช้จ่ายโดยเปรียบเทียบจากการย้ายที่อยู่เพื่อมานั่งทำงานระยะไกลอย่างเช่น จากอังกฤษ มาประเทศไทย หรือจากประเทศในยุโรปมายังประเทศไทย อาจจะต้องทบทวนให้รอบคอบมากขึ้นสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง หรือค่อนข้างจำกัดไม่ว่าจะเป็น Digital Nomads หรือไม่ก็ตาม

.

แต่อย่างไรก็ดี นับว่าเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยในการเจาะตลาดกลุ่มพำนักระยะยาว (มากกว่า 1 เดือน) หรือตั้งแต่ 2 สัปดาห์ขึ้นไป โดยเพิ่มประเด็นที่ต้องพิจารณาเพิ่มขึ้นในเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

(1) จะจูงใจลูกค้ากลุ่มนี้ด้วยอะไร

(2) สิ่งอำนวยความสะดวกในโรงแรมที่พักที่ต้องให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นสำหรับการพำนักระยะยาว เช่น การบริการซักผ้า บริการตัดผม บริการตัดเสื้อผ้า เป็นต้น

(3) สัญญาญอินเตอร์เน็ตที่มีความแรง เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสารระหว่างที่พัก

(4) ความสะดวกและปลอดภัยในการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ในจังหวัด

(5) บริการด้านสุขภาพอื่น ๆ กรณีเจ็บป่วยระหว่างเข้าพัก

(6) กิจกรรมอื่น ๆ

.

สุดท้าย ประเด็นที่จะทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวทั้งพำนักระยะสั้นและระยะยาวไม่เป็นไปตามที่ คาดการ์ณคือจำนวนเที่ยวบินที่นำนักท่องเที่ยวเข้ามาในบ้านเราต่างหากว่าจะสามารถตอบสนองกับความต้องการที่มีมากในตลาดหรือเปล่า คงไม่ใช่ปัจจัยหรือราคา ค่าไฟฟ้า ในต่างประเทศแต่เพียงประเด็นเดียว

.

.

ติดตามกันต่อไปว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวในบ้านเราในไตรมาสสุดท้ายจะสามารถทำได้ทะลุ 1.0 ล้านคนต่อเดือนหรือไม่ อย่างไร และในจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาบ้านเราเป็น Digital Nomads ในสัดส่วนเท่าไหร่ (หวังว่าจะมีการเก็บตัวเลขนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ออกเผยแพร่)

.

.

อ่านบทความอื่น ๆ เพื่อช่วยในการบริหารโรงแรมให้รอดได้ที่ https://thethinkwise.com/2018/03/20/บริหารต้นทุนให้ดี-โรงแร/