
โรงแรมเล็ก vs. โรงแรมใหญ่ มีอะไรต่างกัน
คำถามหลังไมค์ที่เข้ามาบ่อย ๆ คือ อยากทำโรงแรมเล็กแบบบูติกโฮเต็ล ที่มีแรงผลักดันมาจากแพชชั่นในระดับสูง ทั้งความมุ่งมั่น เป้าหมายในการทำงาน และการใช้ชีวิต และภาพในวันที่เปิดโรงแรมให้เพื่อนฝูงได้มาพัก … วันนี้อยากนำมุมมองจากรายงานฉบับยาวของโรงแรมที่พักในยุโรปมาเล่าประเด็นที่น่าสนใจให้ฟังว่า โรงแรมเล็ก vs. โรงแรมใหญ่ มีอะไรต่างกันบ้าง และมีข้อที่พึงระวังอย่างไร
รายงาน European Accommodation Barometer 2022 ที่จัดทำขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่าง Statista และ Booking และออกเป็นรายงานเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างโรงแรมที่พักในยุโรปกว่า 1,000 ตัวอย่างโดยการโทรสัมภาษณ์ผู้จัดการ/ผู้บริหารโรงแรมต่าง ๆ มีประเด็นที่น่าสนใจ เมื่อมาทำการเปรียบเทียบระหว่าง โรงแรมเล็ก หรือ Independent Hotels และ โรงแรมใหญ่/โรงแรมเชน (Chain Business) ในหลายประเด็น …. ไปดูกัน
.
ก่อนที่จะนำผลสรุปรายงานมาเล่าให้ฟัง เหมือนเดิมทุกครั้งที่มักจะย้ำเตือนเสมอคือ เราควรอ่านหมายเหตุของรายงานก่อนเพื่อจะได้ทราบว่ากลุ่มตัวอย่างเป็นใคร แบ่งกลุ่มตัวอย่างอย่างไร และสมมติฐานอื่น ๆ
- ประเทศที่ทำการสำรวจ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี สวิสเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส สเปน โปรตุเกส อิตาลี กรีซ ออสเตรีย สวีเดน เดนมาร์ก นอร์เวย์ ฟินแลนด์ โปแลนด์ โรมาเนีย เบลเยี่ยม ฮังการี บัลแกเรีย สโลวาเนีย สโลวาเกีย ไอร์แลนด์ และโครเอเชีย
- 69% ผู้ตอบแบบสอบถามอยู่ในระดับ Hotel Manager, MD, CEO และเจ้าของธุรกิจ และ 27% เป็นระดับ Deputy Hotel Manager มีเพียง 5% ที่เป็นระดับ Team/Department Management
- ประเภทโรงแรมแบ่งเป็น Independent Hotel สูงถึง 82% และ 18% เป็น Chain Hotel
- ประเภทโรงแรมแบ่งตามจำนวนเตียง แบ่งเป็น
- ต่ำกว่า 29 เตียง 26%
- 30-99 เตียง 40%
- 100-249 เตียง 16%
- มากกว่า 250 เตียง 19%
- ประเภทโรงแรมแบ่งกลุ่มตามระดับดาว (Star-Rating Classification)
- ต่ำกว่า 3 ดาว 9%
- ระดับ 3 ดาว 36%
- ระดับ 4 ดาว 31%
- ระดับ 5 ดาว 5%
- กลุ่มที่ไม่มีการจัดระดับดาว 20%
- ประเภทที่พักที่เป็นโรงแรม 85% และเป็นบ้านพักหรือที่พักแบบระยะสั้น (Holiday and other short-stay accommodation) 14% ส่วนประเภท Camping ground มีเพียง 1%
- แบ่งตามทำเลที่ตั้ง
- 33% เป็นที่พักนอกเมือง หรือ Rural Area
- 27% เป็นที่พักริมทะเล ชายหาด
- 25% เป็นที่พักในตัวเมือง (City/Urban area) ที่มีประชากรต่ำกว่า 250,000 คน
- 16% เป็นที่พักริมภูเขา/เทือกเขาแอลไพน์ (Mountain/Alpine)
- 10% เป็นที่พักในตัวเมืองที่มีประชากรมากกว่า 500,000 คน
- 8% เป็นที่พักในตัวเมืองที่มีประชากรระหว่าง 250,000 – 500,000 คน
.
จะเห็นได้ว่ากลุ่มตัวอย่างกว่า 66% เป็นโรงแรมที่พักที่มีจำนวนห้องพักต่ำกว่า 99 เตียง เรียกได้ว่าเป็น โรงแรมเล็ก และส่วนใหญ่เป็นโรงแรมที่เรียกว่า Independent Hotel คือบริหารเอง ไม่ได้อยู่ภายใต้เชนโฮเต็ลขนาดใหญ่ ส่วนเจ้าของจะบริหารเอง หรือมีทีมบริหารเข้ามาบริหารที่ไม่ใช่เชน อันนี้ก็แล้วแต่สไตล์การบริหารของแต่ละแห่ง
.
ถ้าเราจะเลือกประเด็นที่นำมาเปรียบเทียบที่สำคัญ 4 ประเด็น คือ Room Rate, Average Daily Rate, Access to Capital และ Investment Plan มาเปรียบเทียบระหว่าง Independent Hotel และ Chain Hotel ตามรายงานสำรวจฉบับนี้จะได้ผลคือ Chain Hotel มีตัวเลข หรือสัดส่วน ที่ดีกว่า Independent Hotel ในทุกประเด็น

มีเพียงส่วนน้อยของโรงแรมประเภท Independent ที่มีตัวเลข Occupancy Rate สูงกว่า Chain Business และในภาพรวมที่รายงานนี้ใช้คำว่า General Development ก็เช่นกันโรงแรมประเภท Chain Business อยู่ที่ 77% ส่วน Independent Business อยู่ที่ 68%
การเข้าถึงแหล่งทุน
ผลการสำรวจชัดเจนมากในเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ความยากง่าย ความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนนั้นโรงแรมประเภท Chain Hotels หรือโรงแรมใหญ่ (Large Hotel) โดยเฉพาะโรงแรมที่พักที่มีจำนวนเตียงมากกว่า 250 เตียง มีค่า 44% ซึ่งสะท้อนว่าการเข้าถึงทุนไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด (Not Difficult at all) ในขณะที่โรงแรมประเภท Independent จะตอบคำถามในข้อนี้ว่ามีความยาก ถึงยากมาก (Difficult to Very Difficult) ด้วยค่าสำรวจที่ 24% สำหรับที่พักที่มีจำนวนเตียงต่ำกว่า 29 เตียง และ 25% สำหรับโรงแรมที่มีจำนวนเตียง 30-99 เตียง …. ผลชัดเจนว่า โรงแรมเล็ก เข้าถึงแหล่งทุนได้ยากกว่าโรงแรมใหญ่ หรือโรงแรมแบบเชน

จากตัวอย่างการสำรวจในพื้นที่ยุโรปและสแกนดิเนเวีย หากมาเทียบเคียงกับในบ้านเรา คุณคิดว่าอย่างไรระหว่าง โรงแรมเล็ก vs. โรงแรมใหญ่
- ภายใต้คำว่า “โรงแรมเล็ก” หากเราใช้เกณฑ์ข้อกำหนดทางกฎหมายในเรื่องมาตรการสิ่งแวดล้อม คือโรงแรมที่มีจำนวนห้องพักต่ำกว่า 80 ห้องไม่ต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็น EIA หรือ IEE เราจะอนุมานว่าเป็น โรงแรมเล็ก
- ตัวเลขอัตราการเข้าพัก (Occupancy Rate) กับ ADR ขึ้นอยู่กับว่าคุณทำโรงแรมที่พักอยู่ตรงตำแหน่งทางการตลาดตรงไหน หากจับตลาดบน หรือตลาด Upscale ขึ้นไปถึง Luxury ถึงแม้ว่าคุณจะทำโรงแรมขนาดเล็ก จำนวนห้องน้อย แต่ ADR คุณอาจสูงกว่าโรงแรมใหญ่ จำนวนห้องมาก อยู่ภายใต้เชนได้ ส่วนในเรื่องอัตราการเข้าพัก อาจไม่ได้สูงแบบที่พักขนาดใหญ่ แต่ก็อยู่ในระดับที่ทำให้คุณสามารถทำตัวเลขในเรื่อง Yield หรือผลตอบแทนได้ดีกว่า
- การเข้าถึงแหล่งเงินทุน เรื่องนี้มักเป็นประเด็น เพราะอย่างที่เคยเล่าให้ฟังว่า การทำโรงแรมที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินทุนในการสนับสนุนจากสถาบันการเงินนั้น ในบ้านเราบางครั้งการกู้ยืมอาจอยู่ในรูปการกู้ส่วนบุคคล เพื่อนำมาลงทุนธุรกิจโรงแรม หรือบางโครงการที่ทำขนาดใหญ่ จำนวนห้องมาก ต้องใช้เงินทุนสูง ก็อาจจะเข้าเกณฑ์ที่กู้ยืมในกลุ่ม SME ซึ่งมีหลักเกณฑ์การแบ่งกลุ่มตามระดับวงเงิน เช่น วงเงิน 75.0 ล้านบาทขึ้นไป จึงจัดเป็น SME เป็นต้น ดังนั้นความยากง่ายของการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในบ้านเราสำหรับการทำ โรงแรมเล็ก ถึงขนาดกลาง จึงขึ้นอยู่กับ Personal Wealth และ Family’s Asset
.
.
อย่างไรก็ดี ในบ้านเรายังไม่มีสถาบันการเงิน หน่วยงานวิจัยของสถาบันการเงิน หรือสมาคมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโรงแรมต่าง ๆ ทำรายงานสำรวจอย่างจริงจังในเรื่องนี้
.
สิ่งที่อยากแนะนำ สำหรับคนที่สนใจลงทุนทำ โรงแรมเล็ก
- ประเมินสถานะการเงินทั้งส่วนตัว และส่วนที่จะลงทุนทำโครงการให้ดี โดยเฉพาะกระแสเงินสดที่จะใช้ในระหว่างก่อสร้าง และช่วงเปิดให้บริการในช่วงแรก
- ไม่ควรนำเงินเก็บทั้งชีวิตมาลงทุนทำโรงแรมที่พัก โดยไม่มีแผนการตลาดที่ชัดเจน
- การปรับปรุงบ้านเก่ามาทำโรงแรม อย่าลืมคำนึงถึงพื้นที่ส่วนทำงานของทีม และพื้นที่เก็บของ
- การวางแผนเรื่องการใช้พลังงานราคาประหยัดเป็นสิ่งจำเป็น และจะอยู่กับโครงการแบบระยะยาว
- การออกแบบการให้บริการที่ดี จะช่วยกำหนดจำนวนทีมงานที่ต้องใช้ได้ดี ซึ่งจะช่วยให้คุณใช้งบประมาณ และมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคคลากรที่เหมาะสมกับความสามารถในการหารายได้ของคุณ
- ผู้ลงทุนที่ไม่เคยทำธุรกิจแบบ Active มาก่อน ควรเร่งหาความรู้และประสบการณ์ในทุกด้านที่เกี่ยวกับการทำโรงแรม ตั้งแต่การสร้างแบรนด์ การตลาด การขาย ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง
- การใช้ทุนส่วนตัวมาทำธุรกิจ ซึ่งรวมถึงการกู้ยืมมาลงทุน ควรมีวินัยในการจัดการด้านการเงินอย่างเข้มงวดกับตัวเองเพื่อไม่ให้เกิด Mismatch Fund และส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคต
.