fbpx

Hotel Consulting

รู้ให้จริง ทำให้เป็น เรื่องโรงแรม

Tourism Landscape

Tourism Landscape ประเทศไทย กับการมองภาพอุตสาหกรรม ท่องเที่ยวไทย กับ 7 เดือนที่เหลือในปี 2566

.

Tourism Landscape คืออะไร แล้วธุรกิจโรงแรมจะวางแผนดำเนินธุรกิจต่ออย่างไรใน 7 เดือนที่เหลือ อีกสักครู่เราจะมาดูกันว่าคำ ๆ นี้ประกอบด้วยปัจจัยอะไรบ้าง แล้ว ท่องเที่ยวไทย จะไปต่ออย่างไร แต่ก่อนอื่นมาดูตัวเลขที่ผ่านมากันเล็กน้อย …เมื่อวานนำรายงานตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ที่จัดทำโดย SCBEIC มาฉายภาพบางส่วนให้เห็นสถานการณ์ที่ผ่านมาที่มีทั้งฝั่งดีมานด์ และฝั่งซัพพลาย โดยมีตัวชี้วัดต่าง ๆ เพื่อให้เห็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ผ่านมาว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีแนวโน้มที่เติบโตต่อเนื่อง ยิ่งทางด้านจำนวนเที่ยวบินของสายการบินระหว่างประเทศที่จะบินเข้ามายังประเทศไทยเพิ่มขึ้น เชื่อมั่นว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเมื่อเทียบกับสถานการณ์ก่อนโควิด-19 มีการฟื้นตัวอย่างเต็มที่อย่างแน่นอน

เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 1 ปี 2566

🔆ฝั่งดีมานด์ – มีตัวเลขดัชนีการบริโภคภาคเอกชน ยอดจำหน่ายรถยนต์ ดัชนี้การลงทุนภาคเอกชน การส่งออก ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ดัชนีความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ

❇️ฝั่งซัพพลาย – มีรายได้ภาคเกษตร ดัชนีภาคการผลิต และ ✈️🚉🚍ภาคการท่องเที่ยว อันได้แก่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ จำนวนการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ และอัตราการเข้าพักของโรงแรม
.
.
ฝั่งซัพพลายโดยเฉพาะการท่องเที่ยว “สีเขียว” ต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2565 ที่ผ่านมาจนถึงไตรมาสที่ 1 ปี 2566 และแนวโน้มยังคงเดินหน้าต่อเนื่องด้วย

.

กลับมาที่คำว่า Tourism Landscape กันว่า ถ้าพูดถึงคำว่า Landscape เรามักจะนึกถึงอะไรบ้าง ?

.

โรงแรมที่มีบริเวณ หรือรีสอร์ทขนาดใหญ่ แน่นอนว่าจะมีพื้นที่สีเขียวมากกว่าโรงแรมในเมือง รูปแบบการจัดสวน องค์ประกอบของสวน และสิ่งต่าง ๆ ที่รวมเข้ากับอาคารสถานที่ นั่นคือ ภูมิทัศน์ หรือ Landscape ที่ทุกโรงแรมให้ความสำคัญกับการจัดพื้นที่ให้เหมาะสม โดยเวลาที่พูดถึงคำว่า Landscape เลยมักจะทำให้นึกถึงแต่การจัดสวนต่าง ๆ เช่น ปรับภูมิทัศน์ จัดมุมมองทั้งการมองจากอาคารออกไปยังสวน และมองจากสวนเข้ามายังตัวอาคาร รวมไปถึงมุมมองต่างๆ

.

แล้ว Tourism Landscape จะหมายถึงอะไร ?

.

ปัจจัยต่าง ๆ ทั้งภายในประเทศ และในระดับภูมิภาคไปจนถึง Global ที่มีอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวในทุกระดับ ทั้งในแง่จุดหมายปลายทาง (Destination) เอง สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ แนวโน้มการท่องเที่ยว การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ประสบการณ์การท่องเที่ยว

.

เรามาค่อยๆดูไปทีละประเด็นกันค่ะ

.

Destination

ประเทศไทยมีชื่อเสียงเรื่องการท่องเที่ยวมายาวนานเรียกได้ว่ารายได้จากการท่องเที่ยวจัดเป็นการส่งออกภาคบริการให้ประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง จุดเด่นที่นักท่องเที่ยวต่างชาติชื่นชอบ ได้แก่ ชายหาดที่สวยงาม ภูเขาที่โอบล้อมพื้นที่สร้างทัศนียภาพที่น่าประทับใจ สถานที่ท่องเที่ยวที่แสดงที่มาที่ไปประวัติศาสตร์ผ่านวัดวาอาราม อุทยานประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมย้อนไปหลายร้อยปี เรียกได้ว่า ประเทศไทย สะสมชื่อเสียงจากความงามของธรรมชาติ และประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียม ประเพณีที่สะท้อนตัวตนของคนไทย ครอบครัวไทย ชุมชนท้องถิ่นเป็นอย่างดี

Travel Trend

แนวโน้มการท่องเที่ยวเป็นตัวกระตุ้นการเดินทางและการจับจ่ายใช้สอยที่ผู้คนอยากมีส่วนร่วมในไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย เช่น การให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน (Sustainable Tourism) หรือ การท่องเที่ยวในแนวผจญภัย (Adventure Tourism) หรือการท่องเที่ยวแนวประสบการณ์ด้านอาหารการกิน (Culinary Tourism) หรือ การให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพ (Wellness Tourism) เป็นต้น ซึ่งใจความสำคัญของรูปแบบการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป คือ การส่งมอบประสบการณ์การท่องเที่ยวและเดินทางให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่งในแง่ผู้ให้บริการก็ควรมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบสินค้าและบริการให้สามารถรองรับกับความต้องการของนักท่องเที่ยว

Tourism Industry

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวบ้านเรามีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาจากแรงผลักดันของปัจจัยทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องกำลังซื้อของผู้บริโภค ไปจนถึงความก้าวหน้าในการปรับใช้เทคโนโลยีในธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและส่งมอบบริการให้ลูกค้า ไปจนถึงเรื่องเทคโนโลยีในการสื่อสารที่อำนวยความสะดวกรวดเร็วในการบริการ และการเชื่อมต่อกับความเปลี่ยนแปลงไปของประเทศต่าง ๆ

Economic conditions

ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เป็นเงื่อนไขกระทบกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่น อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลต่างๆ ความมั่นคงทางการเมือง บรรยากาศทางการเมือง และนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจที่กระทบกับการเติบโตทางธุรกิจ เช่น การปรับขึ้นค่าแรงอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะช่วยให้ภาคแรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจต้องเพิ่มความระมัดระวังในการจ้างงานมากขึ้นเพราะต้องรักษาระดับต้นทุนในการบริหารธุรกิจให้สามารถสร้างรายได้และกำไรให้ได้ในที่สุด เรื่องการขึ้นค่าแรงนอกจากกระทบกับต้นทุนโดยตรงของธุรกิจแล้ว ยังทำให้ตัวเลขการลงทุนจากต่างประเทศมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบอัตราค่าแรงกับประเทศในเพื่อนบ้านใกล้เคียง หรือเรื่องต้นทุนด้านพลังงาน ทั้งราคาน้ำมัน และราคาไฟฟ้าที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการทำธุรกิจทุกประเภท

Unpredictable factors – COVID 19

วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 เป็นปัจจัยที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าแต่เรียกได้ว่า “หยุด” ทุกอย่างบนโลกใบนี้ไปเกือบ 3 ปี กว่าจะค่อย ๆ ขยับกลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง การแก้ไขปัญหาแต่ละประเทศก็แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงและการแพร่ระบาดภายในประเทศที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่เราเห็นได้คือ การร่วมมือกันของโลกในการพลิกฟื้น และฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยวให้กลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง

ตัวเลขการฟื้นฟูหลังโควิด-19 จะอยู่ในระดับเท่าไหร่ ก็ยังคงขึ้นกับปัจจัยภายในประเทศ และปัจจัยภายนอกประเทศ เพราะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมการบิน และการบริการการบินที่ยังขาดแคลนบุคคลากรในการให้บริการอยู่มากพอสมควร ทำให้ตัวเลขการฟื้นฟูการท่องเที่ยวยังไม่เต็มที่

สำหรับประเทศไทย สามารถติดตาม Dashboard – Recovery after Covid 19 ได้ที่ Travellink

.

Hotel Business Landscape

แล้วธุรกิจโรงแรมจะมองภาพรวมอย่างไร ?

แนะนำอ่านบทความ จัดการ เรียงลำดับงานอย่างไร ได้ที่ https://thethinkwise.com/2023/03/07/how-to-manage-crisis-in-hotel-จัดการ/ เพื่อเริ่มต้นวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันของโรงแรมคุณก่อน แล้วจึงมาไล่เรียงว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่กระทบทั้งทางบวกและทางลบกับการทำธุรกิจของคุณ

ประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ ได้แก่

  1. การรักษาธรรมชาติโดยรอบพื้นที่ของคุณ
  2. การมีส่วนร่วมกับชุมชนในการจัดการขยะ รักษาความสะอาด และสุขอนามัย
  3. การบริหารต้นทุนดำเนินงานธุรกิจโรงแรม
  4. การรักษาทีมงานให้บริการของคุณ และเพิ่มพูนทักษะในการทำงาน
  5. การทำการตลาดแบบเจาะกลุ่มลูกค้า หรือ การทำ STP (อ่านเพิ่มเติมเรื่อง STP ได้ที่ https://thethinkwise.com/2021/08/03/hotel-data-stp-how-to/ )

.

ข้อควรระวัง

ธุรกิจโรงแรมเป็นธุรกิจเฉพาะที่มีวิธีบริหารจัดการแตกต่างด้วยรายละเอียดปลีกย่อยเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น ๆ ดังนั้น การนำคำแนะนำไปปรับใช้กับโรงแรมแต่ละโรงแรม จึงควรเริ่มจาก “แนวคิดหลัก” (Core Concept) ของแต่ละโรงแรม และเป้าหมายในการลงทุน (Investment Purpose) ให้เข้าใจและเห็นภาพที่ชัดเจนก่อน แล้วจึงค่อยเริ่มวิเคราะห์ แยกแยะ และจัดลำดับการทำงาน พร้อมแผนงานที่มีแผนสำรอง หรือแผนรองรับที่พร้อมปรับตัวตลอดเวลา

บทบาทของเจ้าของโรงแรมที่ควรจะทำหน้าที่เหมือน “ยามชายฝั่ง” ที่นั่งบนเก้าอี้สูงเพื่อมองปัจจัยที่จะกระทบกับธุรกิจในภาพใหญ่ และเมื่อเห็นสัญญาณที่ไม่ดี ต้องรีบส่งสัญญาณเตือนทีมงาน พร้อมมีแผนแก้ไข แผนปรับตัวที่พร้อมจะลงมือทันที