fbpx

Hotel Consulting

รู้ให้จริง ทำให้เป็น เรื่องโรงแรม

หาต้นทุนห้องพัก variable cost per occupied room บริหารโรงแรมให้เป็น
หาต้นทุนห้องพักโรงแรม

ช่วงที่โรงแรมได้หยุดพัก คุณได้นำตัวเลขที่ทางทีมบัญชีสรุปให้มานั่งดูกันบ้างหรือเปล่า โดยเฉพาะตัวเลขต้นทุนต่าง ๆ เช่น ต้นทุนห้องพักเป็นอย่างไร เพิ่มขึ้น หรือลดลง หรือไม่เคยคำนวณ ?

ถ้าคุณบริหารต้นทุนห้องพักเป็น นั่นคือคุณบริหารโรงแรมเป็น

มีใครบ้างที่ตั้งแต่โรงแรมเปิดมา (ไม่รู้กี่ปี) ยังไม่ทราบว่าต้นทุนผันแปรต่อห้องพัก 1 ห้องที่มีลูกค้าเข้าพักเป็นเท่าไหร่ ?

โรงแรมที่พักขนาดเล็กมักเป็นเช่นนี้…….ขอเพียงให้บรรทัดสุดท้ายไม่เป็นตัวแดงติดลบก็พอ….หลายคนเป็นแบบนั้น (จริงหรือเปล่า ?)

ไม่เป็นไร ทุกอย่างเริ่มใหม่ได้ มาดูกันว่าต้นทุนผันแปรของห้องพักเมื่อมีลูกค้าเข้าพักของคุณจะเป็นเท่าไหร่นั้นขึ้นอยู่กับตัวเลขอะไรบ้าง และที่เหลือเป็นหน้าที่ของคุณที่จะไปตามหามาว่าเป็นเท่าไหร่

  1. เงินเดือนค่าจ้างทีมแม่บ้านที่ทำความสะอาดห้องพัก

ให้ลองนึกภาพตามว่าเมื่อมีลูกค้าเข้าพัก แน่นอนว่าทีมแม่บ้านต้องเข้าทำความสะอาดห้องพักทุกวัน บางโรงแรมคุณแม่บ้าน 1 คนอาจต้องรับผิดชอบห้องพักที่ต้องทำความสะอาด 8-15 ห้องต่อวันขึ้นอยู่กับรูปแบบโรงแรม ถ้าอยู่เป็นตึกสูงก็อาจรับผิดชอบกันไปคนละชั้น แต่ถ้าเป็นรีสอร์ทที่มีบริเวณ ต้องไต่เขา จำนวนก็จะลดหลั่นลงมา ยิ่งเป็นห้องพักที่เป็นพูลวิลล่ามีพื้นที่มาก เวลาที่ต้องใช้ในการทำความสะอาดก็ใช้เวลามากขึ้นตามขนาดพื้นที่ห้องพัก ดังนั้นค่าใช้จ่ายเงินเดือนและสวัสดิการต่อคุณแม่บ้าน 1 คน ก็คือต้นทุนผันแปรที่เกิดขึ้นต่อห้องพักที่มีลูกค้าเข้าพัก ถ้าคุณใช้ 2 คนช่วยกันทำความสะอาด ก็บวกเพิ่มเข้าไป

  2. ค่าซักผ้าประเภทต่าง ๆ

ตั้งแต่ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดเท้า ผ้าเช็ดหน้า ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้านวม ปลอกผ้านวม และผ้าอื่น ๆ ที่คุณจัดให้ลูกค้าในห้องพัก ไม่ว่าคุณจะซักเอง หรือจ้างบริษัทรับซักผ้าภายนอก ก็คิดเป็นค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น

  3. ค่าของใช้สิ้นเปลืองต่าง ๆ

เช่น กระดาษทิชชู อเมนนิตี้ กระดาษโน้ต เป็นต้น ถ้าคุณจัดทิชชูให้ 2 ม้วนต่อห้องพัก ก็บวกเข้าไป ชุดอเมนนิตี้ที่สั่งทำมาชุดละเท่าไหร่ ก็บวกเข้าไป

  4. ค่าน้ำยาทำความสะอาด

เช่น น้ำยาขัดพื้น น้ำยาดักฝุ่น น้ำยาเช็ดกระจก น้ำยาล้างห้องน้ำ เป็นต้น ประมาณการค่าใช้จ่ายน้ำยาทุกประเภทที่คุณแม่บ้านใช้ทำความสะอาดห้องพัก 1 ครั้งว่าเป็นเท่าไหร่

  5. ค่าน้ำ และค่าไฟฟ้าต่อห้องพัก

สามารถไปสอบถามแผนกช่างได้ว่าเขาประมาณการใช้น้ำ ใช้ไฟของแต่ละห้องเป็นเท่าไหร่ ภายใต้อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องปรับอากาศที่ใช้อยู่ ช่างต้องคำนวณให้คุณได้

 6. ค่าใช้จ่ายด้านการขายและการตลาด

ได้แก่

6.1 ค่าคอมมิชชั่นที่คุณต้องจ่ายให้  OTA หากห้องพักนั้นขายผ่าน OTA ก็คูณค่าคอมมิชชั่นที่เป็นเปอร์เซ็นต์กับราคาห้องพักที่ขายได้

6.2 ค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต เมื่อลูกค้าชำระเงินเป็นบัตรเครดิต แน่นอนว่าคุณมีค่าใช้จ่ายที่เกิดจากค่าบริการที่ธนาคารพาณิชย์คิดกับโรงแรมคุณ

6.3  ถ้าโรงแรมคุณอยู่ภายใต้แบรนด์ อาจจะมีค่า Brand Fee กี่เปอร์เซ็นต์ก็ว่ากันไป นำไปคูณกับราคาห้องพัก

6.4 ค่า Reservation Fee ถ้าคุณอยู่ในระบบการจองภายใต้เชนที่ใช้โค้ดรวมภายใต้แบรนด์นั้น ๆ

ตัวเลขที่ได้ในแต่ละข้อตั้งแต่ข้อ 1-6 นำมาบวกรวมกัน คุณก็จะได้ต้นทุนห้องพัก ที่เป็นต้นทุนผันแปรที่เกิดขึ้นต่อห้องพัก 1 ห้องเมื่อมีลูกค้าเข้าพัก หรือ Variable Cost per Occupied Room

แล้วตัวเลขนี้สำคัญอย่างไร ?

สมมติคุณได้ตัวเลขต้นทุนผันแปรต่อห้องพักอยู่ที่ 1,350 บาทต่อห้อง ในขณะที่คุณขายห้องพักในราคา 3,500 บาท แปลว่าคุณจะมีกำไรส่วนเพิ่ม  (Increment Profit ) เท่ากับ 3,500 – 1,350 = 2,150 บาท

ลองสมมติว่าคุณสามารถขายห้องพักเพิ่มได้ 5 ห้องพักต่อวันเป็นเวลา 100 วัน/ปี เท่ากับว่าคุณจะมีกำไรเพิ่มขึ้นเท่ากับ 2,150 บาท x 5 ห้อง x 100 วัน = 1,075,00 บาท ที่จะบวกเพิ่มเข้าไปในบัญชีกำไรขาดทุนของคุณทันที

และตัวเลขกำไรส่วนเพิ่มหรือ Increment Profit ยังเป็นตัวที่จะช่วยเตือนคุณว่าคุณไม่ควรขายราคาต่ำกว่าต้นทุนผันแปรที่เกิดขึ้น

ลองกลับไปหาตัวเลขแล้วมาคำนวณกันดูนะคะว่าต้นทุนห้องพักโรงแรมคุณเป็นอย่างไร

แล้วตอนต่อไปเราจะมาหาค่าใช้จ่ายรวมต่อห้องพักกันค่ะ

======

อ่านบทความย้อนหลังเรื่อง บริหารต้นทุนให้ดีโรงแรมก็รอด คลิกได้เลยที่นี่