fbpx

Hotel Consulting

รู้ให้จริง ทำให้เป็น เรื่องโรงแรม

digital marketing budget for hotels

คำถามยอดฮิตตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาคือภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันโรงแรมควรจะจัดงบประมาณในการทำการตลาดออนไลน์ หรือดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งอย่างไรดี ?

ประเด็นนี้ควรย้อนหลังไปทบทวนเรื่องการจัดงบประมาณประจำปีของโรงแรมว่าคุณควรคำนึงถึงเรื่องอะไรบ้าง สามารถกลับไปอ่านบทความย้อนหลังได้ที่นี่ค่ะ กับบทความ งบประมาณโรงแรมถึงเวลาจัดใหม่

คราวนี้มาดูลำดับขั้นตอนการจัดสรรงบสำหรับการทำการตลาดออนไลน์ต่อกันว่ามีประเด็นอะไรที่ควรนำมาพิจารณาบ้าง

1. เป้าหมาย

แน่นอนว่าหลายท่านหมดแรงกำลังที่จะพูดถึงเป้าหมาย ขอแค่ไปให้รอดก็พอ หรือเสมอตัวก็ยอมรับได้ ….ไม่ว่าคุณจะอยู่ในสถานการณ์แบบไหน คุณก็ควรมีเป้าหมายในการเดินต่อไป ถึงแม้จะแค่ไปให้รอด ตัวเลขในใจก็ต้องมีอยู่ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของอัตราการเข้าพัก ราคาห้องพักเฉลี่ย หรือรายได้ต่อเดือน รายได้ต่อปี ดังนั้นนำตัวเลขนั้นมาเป็นตัวตั้งต้นในการคำนวณ เช่น ตั้งเป้าอัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั้งปี 35% – 50% ที่ราคาห้องพักเฉลี่ย 1,200-1,500 บาท เป็นต้น

2. รายได้ที่สามารถจะทำได้ กับรายได้ที่คาดว่าจะทำได้

รายได้ที่สามารถจะทำได้ หมายถึงตัวเลขที่เราคำนวณจากจำนวนห้องพักทั้งหมด x 365 วัน x รายได้เฉลี่ยต่อวัน (ADR) ที่คุณตั้งเป้าหมายไว้ เช่น โรงแรมคุณมีห้องพัก 15 ห้อง และรายได้เฉลี่ยต่อห้องพัก 1,200 บาท เท่ากับว่าคุณสามารถที่จะทำรายได้ใน 1 ปี ได้เท่ากับ 15 x 365 x 1,200 เท่ากับ 6,570,000 บาท แต่นั่นหมายถึงอัตราการเข้าพัก 100% ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นตัวเลขนี้จะเป็นรายได้ที่โรงแรมคุณสามารถทำได้ใน 1 ปี

ส่วนรายได้ที่คาดว่าจะทำได้ หรือตั้งเป้าว่าจะทำ (Projected Revenue) คุณก็ใส่อัตราการเข้าพัก หรือ Occupancy Rate เพิ่มเข้าไปในสมการ เช่น คุณตั้งเป้าหมายปีนี้แค่ 45% สมการรายได้ที่คาดว่าจะทำได้จะเป็นดังนี้ 15 x 365 x 1,200 x 45% = 2,956,500 บาท

3. งบการตลาดและการขาย

งบประมาณรวมสำหรับกิจกรรมการตลาดและการขายแตกต่างกันไปในแต่ละโรงแรม เพราะตำแหน่งทางการตลาด กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย จำนวนห้องพัก และช่วงเวลาในการเปิดให้บริการ รวมไปถึงเป้าหมายประจำปี

หลายคนมักชอบสอบถามคนรู้จัก หรือเพื่อนฝูงที่ทำโรงแรม/รีสอร์ทว่าตั้งงบเท่าไหร่ต่อปี โดยไม่สนใจว่าเพื่อนทำโรงแรมแบบไหน บางคนตัวเองทำบูติกโฮเต็ลที่เน้นเรื่องดีไซน์อยากสร้างแบรนด์ แต่ไปถามเพื่อนที่ทำโรงแรมแบบมีห้องประชุมอยู่ภายใต้เชนโฮเต็ลต่างประเทศที่มีสาขาทั่วโลก และเปิดมากว่า 10 ปี แล้วนำตัวเลขนั้นมาเป็นเกณฑ์ หรือสร้าง Benchmark ในการใช้งบของโรงแรมขนาดเล็กของตัวเอง …..ถ้าจะเปรียบเทียบงบประมาณ ควรเลือกเปรียบเทียบกับโรงแรมที่พักที่มีลักษณะคล้ายกันนะคะ

สมมติเราตั้งต้นจากตัวเลข 5% ของรายได้รวมห้องพัก จากตัวอย่างข้างต้นงบประมาณด้านการตลาดและการขายรวมจะอยู่ที่ 2,956,500 x 5% เท่ากับ 147,825 บาทต่อปี หรือเดือนละ 12,318.75 บาท หากนำ 12 เดือนไปหารตัวเลขทั้งปี

สิ่งที่คุณควรพิจารณาต่อไปจากตัวเลขตุ๊กตาข้างต้นคือ กลับไปเทียบกับเป้าหมายที่วางไว้ว่าถ้าคุณต้องการอัตราเข้าพักเฉลี่ย 45% เท่ากับว่าทุกวันคุณควรมีลูกค้าเข้าพัก 6-7 ห้องต่อวัน การหาลูกค้ามาพักเฉลี่ยวันละเท่านี้ห้อง หรือวันธรรมดาต่ำกว่านี้ แต่วันศุกร์-เสาร์ วันหยุดยาวทำได้มากกว่านี้และเพียงพอที่จะมาเฉลี่ยทำให้อัตราการเข้าพักถึง 45% นั้น คุณควรทำกิจกรรมการตลาดอะไรบ้าง สื่อสารการตลาดกับลูกค้าอะไรบ้างภายใต้งบประมาณที่มีจากการคำนวนที่ 5% แล้วลองเล่นกับตัวเลขไปเรื่อยๆ พร้อมกับประมาณการค่าใช้จ่ายที่จะต้องใช้ในแต่ละกิจกรรม

4. งบสำหรับดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง

จากตัวเลขที่ได้มาในข้อ 3 ถ้าต้องการแยกงบประมาณให้ชัดเจนมากขึ้นสำหรับการทำดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง ซึ่งรวมทุกสิ่งบนกิจกรรมออนไลน์ งบประมาณขั้นต่ำที่ควรจัดสรรคือ 40-50% ของงบประมาณรวมการตลาดและการขาย ขึ้นกับเป้าหมายของแต่ละโรงแรม

จากตัวอย่าง ถ้างบการตลาดและการขายรวมอยู่ที่ 147,825 บาท/ปี งบสำหรับดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งก็ควรจะอยู่ที่ 59,130 – 73,912.50 บาท/ปี เป็นต้น ซึ่งถ้าตามตัวอย่างตัวเลขนี้ ลองมาหาร 12 เดือน คุณก็จะเห็นว่าคงจะทำอะไรมากไม่ได้นัก

ตัวเลขในข้อนี้ไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายในกรณีที่คุณจะทำเว็บไซต์ใหม่ ถ่ายรูปใหม่ ทำ Line Official ใหม่นะคะ เป็นกิจกรรมการตลาดออนไลน์ในแต่ละเดือน และควรแยกค่าคอมมิชชั่นที่คุณเสียให้ OTA ออกด้วยค่ะ

.

.

ดูตารางตัวอย่างการคำนวณสรุปข้อ 1-4 ตามนี้นะคะ