fbpx

Hotel Consulting

รู้ให้จริง ทำให้เป็น เรื่องโรงแรม

วันก่อนหยิบหนังสือรวมเล่ม 100 ที่พักขนาดเล็กและโฮสเทล ที่ room ภายใต้อมรินทร์พริ้นติ้งรวบรวมมานำเสนอ ในเล่มมีที่พักมากมายทั้งในและต่างประเทศที่น่าสนใจ ซึ่งในประเทศเราก็แน่นอนว่ามีโรงแรมและที่พักขนาดเล็กผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด และเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีที่พักในลักษณะนี้

ลองนั่งไล่เรียงเฉพาะในส่วนที่เรียกกว่า Small Hotels ที่คัดเลือกมาลงมีเกือบ 40 แห่ง ไม่นับประเภทโฮสเทลอีกหลายสิบแห่ง มีตัวเลขที่น่าสนใจ

    จำนวนห้องพักเฉลี่ยเท่ากับ 21 ห้องพักส่วนตัว หมายถึงห้องพักที่มีห้องน้ำในตัว
    ถ้านำจำนวนพื้นที่ใช้สอยรวมของแต่ละโรงมาหาค่าเฉลี่ย (บางแห่งก็ให้ข้อมูลพื้นที่ใช้สอย บางแห่งก็ไม่ให้จำนวนพื้นที่ใช้สอย) และหักพื้นที่สวนกลาง สนาม และอื่นๆ โดยใช้สมมติฐานว่ามีพื้นที่เหล่านี้มากถึง 40% ของพื้นที่ใช้สอยรวม จะพบว่าพื้นที่ห้องพักเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 38-40 ตารางเมตรเลยทีเดียวซึ่งค่อนข้างจะกว้างขวางเมื่อเทียบกับการทำห้องพักโดยทั่วไป นั่นอาจเป็นการแสดงออกของโรงแรมเล็ก หรือบูติกโฮเต็ลถึงความพรีเมี่ยม ความโดดเด่น และความแตกต่าง
    ถ้าลองคำนวนค่าก่อสร้างต่อห้องบนพื้นที่ 40 ตร.ม. ในราคาตั้งแต่ตารางเมตรละ 15,000-25,000 บาท ก็เท่ากับค่าก่อสร้างต่อห้องมีตั้งแต่ 600,000-1,000,000 บาท
    ถ้าจำนวนห้องพักเฉลี่ยต่อโครงการเป็นไปตามข้อแรก ค่าก่อสร้างต่อโครงการก็เท่ากับ 21 x 600,000 คิดเป็น 12.6 ล้านบาท ไปจนถึง 21.0 ล้านบาทต่อโครงการเลยทีเดียว ถ้าทำจำนวนน้อยกว่านี้ ก็ใช้งบลงทุนต่ำลง
    ถ้าเราไปดูราคาขายต่อห้องของที่พักประเภทนี้จะเห็นว่าแต่ละแห่งสามารถตั้งราคาขายได้ค่อนข้างสูงเลยทีเดียว เรียกว่าเทียบเท่าโรงแรมระดับ 5 ดาวแต่ไม่ต้องเรียกตัวเองว่าเป็น 5 ดาวแต่อย่างใด
    ถ้าสมมติราคาขายสามารถทำได้ตั้งแต่ 3,500 บาทต่อห้องต่อคืนขึ้นไป ภายใต้อัตราการเข้าพักเฉลี่ยต่อปีที่ 50% เท่ากับว่าโรงแรมนี้จะมีรายได้ต่อปีเท่ากับ 21 ห้อง x 50% x 3,500 x 365 วัน คิดเป็น 13.4 ล้านบาทต่อปี เฉลี่ยเดือนละล้านกว่าบาท และถ้าสามารถเพิ่มอัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้นได้ถึง 65-70% จะมีรายได้ต่อปี 17.4 – 18.7 ล้านบาทเลยทีเดียว
    ลองหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ให้แบบสูงๆ 40-45% เลย โรงแรมนี้จะมีกำไรเบื้องต้นตั้งแต่ 8.0 ล้านบาทขึ้นไปต่อปีสำหรับอัตราเข้าพักที่ 50%

ถามว่าตัวเลขต่างๆข้างบนน่าสนใจหรือเปล่า?

ความน่าสนใจมีอยู่

แต่….

1) ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆที่ต้องทำเพื่อให้โรงแรมพร้อมเปิดอีกหลายสิ่งมาก ตั้งแต่ผ้าม่าน ที่นอน หมอน มุ้ง ถ้วยชามรามไห ของกระจุกกระจิกประดับตกแต่งเพิ่มเติม ไปจนถึงระบบบริหารจัดการ เป็นต้น

2) ค่าใช้จ่ายด้านการตลาดและการขาย ไปจนถึงการสร้างแบรนด์ เพื่อให้มั่นใจว่าจะทำให้ตัวเลขรายได้ข้างบนเกิดขึ้นจริง

3) ทีมงานที่ต้องฝึกฝนให้เข้าใจในคอนเซ็ปท์ของโรงแรม สไตล์การให้บริการ เพื่อตอกย้ำเอกลักษณ์และสร้างความแตกต่าง

.

.

.

โรงแรมเล็ก เรื่องไม่เล็กเลยจริงๆ แต่ก็เป็นสิ่งที่ท้าทายและสนุกทุกครั้งที่ได้ทำโครงการแบบนี้