fbpx

Hotel Consulting

รู้ให้จริง ทำให้เป็น เรื่องโรงแรม

คุยกับธนาคารให้รู้เรื่อง…โรงแรมต้องทำอย่างไร ?

เมื่อโรงแรมเลือกที่จะเดินทางต่อ หรือใครที่คิดจะทำโรงแรมใหม่ และต้องการปรึกษาธนาคารเพื่อขอเงินกู้หรือใช้บริการสินเชื่อประเภทต่าง ๆ ในการสนับสนุนโครงการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการเล็กหรือใหญ่ มีประเด็นอะไรที่เราในฐานะเจ้าของกิจการควรจะชี้แจงให้ชัดเจนกับธนาคารเพื่อให้ข้อมูลที่มีน้ำหนักและมีความชัดเจน

1. วัตถุประสงค์ในการใช้เงิน

คุณต้องการใช้เงินไปทำอะไร ชี้แจงให้ชัดเจน ถ้าต้องการก่อสร้างปรับปรุงโรงแรม ก็อธิบายให้ชัด เป็นที่ดินว่างเปล่า ก่อสร้างโรงแรมใหม่ หรือเป็นอาคารพาณิชย์เดิมและต้องการดัดแปลงเพื่อทำเป็นโรงแรม

สิ่งที่ธนาคารจะพิจารณามีความแตกต่างกันถึงแม้ประเภทสินเชื่ออาจจะใช้วงเงินกู้ระยะยาวเหมือนกันก็ตาม

หากเป็นที่ดินว่างเปล่าก็ต้องไปพิจารณาตั้งแต่ผังเมืองในพื้นที่นั้นอนุญาตให้ทำธุรกิจประเภทโรงแรมได้หรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเจ้าของโรงแรมก่อนที่จะไปพบสถาบันการเงินจะผ่านการหาข้อมูลในส่วนนี้แล้ว เพราะก่อนที่สถาปนิกจะออกแบบเขาก็จะต้องตรวจสอบกฎระเบียบที่ใช้บังคับในการก่อสร้างอาคารในพื้นที่นั้นๆ เช่น อนุญาตให้ก่อสร้างด้วยความสูงอาคารไม่เกินกี่เมตร พื้นที่ใช้สอยต่ออาคารไม่เกินกี่ตารางเมตร เป็นต้น

2. รูปแบบการทำธุรกิจโรงแรมเป็นอย่างไร

ประเภทโรงแรมที่พักของคุณเป็นแบบไหน จำนวนห้องพักกี่ห้อง วางแผนการตลาดในการหารายได้อย่างไร กลุ่มตลาดเป้าหมายเป็นใคร ใช้จำนวนพนักงานเท่าไหร่ ประมาณการค่าใช้จ่ายรายเดือนเป็นอย่างไร

และที่สำคัญตัวเลขในการประมาณการธุรกิจมีการแบ่งสถานการณ์หรือการทำฉากทัศน์ (Scenario) ไว้อย่างไร ตั้งแต่สถานการณ์ปกติที่ใช้เป็นฐาน (Base Case) สถานการณ์ดีมาก (Best Case) และในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด (Worst Case) โดยกำหนดอัตราการเข้าพัก และราคาห้องพักเฉลี่ยเป้าหมายอยู่ที่เท่าไหร่ แตกต่างกันในแต่ละสถานการณ์เพื่อให้ธนาคารเห็นภาพว่าคุณวางแผนรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างไร มีการจัดการด้านการเงินรองรับอย่างไร ถ้าสถานการณ์ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง

หลายโครงการทำตัวเลขไปเฉพาะที่ตัวเองคาดหวังหรือตัวเลขที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้ธนาคาร เรียกว่าเป็นตัวเลขที่ผ่านเกณฑ์ธนาคารแน่นอน ประมาณนั้น แต่ไม่เผื่อไว้ในกรณีฉุกเฉินว่าจะทำอย่างไร

3. ประสบการณ์

คุณมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจอะไรมาบ้าง ระยะเวลากี่ปี ทั้งที่เกี่ยวกับงานโรงแรม และไม่เกี่ยวกับงานโรงแรมกี่ปี ถ้าไม่มีประสบการณ์ในการทำโรงแรม เคยเข้ารับการอบรมหลักสูตรต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับโรงแรมหรือไม่อย่างไร ก็ใส่รายละเอียดไปให้ครบถ้วน

ทำไมธนาคารถึงพิจารณาเรื่องประสบการณ์ ….เพราะเขาต้องการมั่นใจว่าคุณจะสามารถนำพาธุรกิจไปรอด มีความรู้และความสามารถในการบริหารธุรกิจ บางธนาคารกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำว่าต้องมีประสบการณ์เท่านั้นเท่านี้ปี

แต่ถ้าคุณไม่มีประสบการณ์ คุณก็สามารถหาทีมที่ปรึกษามาอ้างอิงเพื่อนำเสนอให้ธนาคารพิจารณาได้ โดยให้รายละเอียดประสบการณ์ในการทำงานด้านโรงแรมของทีมที่ปรึกษา หรือโค้ชของคุณว่าทำอะไรมาบ้าง มีผลงานอะไรบ้าง ประสบความสำเร็จอะไรบ้างที่ผ่านมา กรณีนี้ก็ใช้ได้เช่นกัน

4. งบประมาณ

ข้อนี้สำคัญเพราะจะไปเกี่ยวโยงกับข้อ 1 คือวัตถุประสงค์ในการใช้เงิน และข้อ 2 รูปแบบการทำธุรกิจ ธนาคารจะพิจารณาว่างบประมาณที่คุณจะใช้มากน้อยเท่าไหร่ เหมาะสมกับรูปแบบที่คุณจะทำโรงแรมหรือไม่อย่างไร และธนาคารจะช่วยจัดสรรและวางแผนการจัดวงเงินเพื่อช่วยให้คุณเดินหน้าต่อไปได้

ถ้าจะทำโรงแรมราคาประหยัด แต่ใช้งบประมาณเกินเลยไปเทียบเท่าโรงแรมระดับตลาดบน ก็ควรจะปรับให้เหมาะสม เพราะงบลงทุนในการทำโรงแรม หรือทำธุรกิจอะไรก็ตาม ธนาคารจะต้องพิจารณาสัดส่วนการลงทุนระหว่างเงินทุนของเจ้าของและเงินกู้จากสถาบันการเงิน โดยปกติสำหรับธุรกิจโรงแรมก็จะพิจารณาในสัดส่วน 1:1

เพราะฉะนั้นการตั้งงบประมาณการลงทุนนั้น เจ้าของโรงแรมควรตั้งหลักให้ดีและบริหารความเหมาะสมระหว่างแพชชั่นในการทำกิจการ กับอนาคตของธุรกิจที่ไม่แบกรับภาระมากจนเกินไป รวมถึงการเตรียมการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

5. หลักประกัน

หลักประกันที่จะใช้ค้ำประกันวงเงินสินเชื่อกับธนาคาร โดยปกติเมื่อเป็นโรงแรมก็คือที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน ซึ่งธนาคารก็จะมีบริษัทประเมินราคามาทำการประเมินราคาหลักประกันเพื่อหามูลค่า และใช้พิจารณาร่วมกับปัจจัยอื่นๆว่าวงเงินที่เหมาะสมควรจะเป็นเท่าไหร่ มูลค่าหลักประกันเทียบกับวงเงินสินเชื่อเป็นเท่าไหร่ กรณีนี้ก็ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ของแต่ละธนาคาร

.

.

.

สำหรับใครที่มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารอยู่แล้ว และในช่วงโควิดปิดกิจการไป ต้องการวงเงินหมุนเวียนเพิ่มเติมเพื่อนำมาใช้เปิดกิจการอีกครั้งหลังสถานการณ์ดีขึ้น หลักการพูดคุยกับธนาคารก็ยังคงคล้ายกับหัวข้อข้างบนที่อธิบายไปแล้ว แต่ควรเน้นเรื่องแผนการทำธุรกิจ ทั้งการตลาดและการขายว่าจะขับเคลื่อนธุรกิจอย่างไรด้วยงบประมาณเท่าไหร่เพื่อให้ได้จำนวนลูกค้าตามเป้าหมาย รวมไปถึงแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินว่ามีอะไรบ้าง

แนะนำให้ทำตัวเลขประมาณการโดยนำทั้งตัวเลขในระดับมหภาคหรือการคาดการณ์จากธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักวิจัยของธนาคารต่าง ๆ มาเป็นปัจจัยในการทำตัวเลขด้วย และกลับมาดูในระดับไมโคร คือตัวเราและธุรกิจในพื้นที่ใกล้เคียง ในจังหวัดใกล้เคียงในเรื่องจำนวนโรงแรมที่ยังเปิดให้บริการมีจำนวนเท่าไหร่ จะทยอยเปิดอย่างไร และคุณวางแผนในเรื่องจำนวนลูกค้าอย่างไร

ลองทำดูนะคะ