fbpx

Hotel Consulting

รู้ให้จริง ทำให้เป็น เรื่องโรงแรม

เชื่อว่าหลายคนเดินทางท่องเที่ยวญี่ปุ่นกันหลายครั้ง หรือบางคนเป็นแฟนพันธุ์แท้ขนาดมาทุกปี หรือมาปีละหลายครั้ง รอบรู้ทุกอย่างว่าจะซื้ออะไรต้องไปที่ไหน จะหาราเมงร้านอร่อยต้องไปเมืองไหน เรียกได้ว่า ดีกรีนักเดินทางและนักชิมระดับต้นๆกันเลยทีเดียว

แต่สำหรับคนที่เดินทางมาเพื่อบุกตลาดญี่ปุ่นหาลูกค้าไปเข้าพักที่โรงแรมของตนแล้ว แน่นอนว่าแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับการมาเที่ยวเล่นกับเพื่อนๆ

ลองนึกภาพย้อนกลับไปในการเดินทางล่าสุดของคุณในญี่ปุ่น เช่น โตเกียว โอซาก้า เป็นต้น เวลาเดินผ่านตามท้องถนนเคยเห็นสำนักงานหรือหน้าร้านบริษัทนำเที่ยวบ้างหรือเปล่า หรืออาจไม่ทันสังเกต…ใครเคยเห็นภาพแบบนี้บ้างคะ

นี่คือ JTB บริษัทนำเที่ยวขนาดใหญ่อันดับต้นๆของญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงมายาวนานประกอบธุรกิจทั้งอินบาวน์ดและเอ้าท์บาวน์ด และมีสำนักงานหลายแห่งทั้งในและต่างประเทศ

ที่หน้าร้านจะมีโบรชัวร์นำเสนอแหล่งท่องเที่ยวต่างๆเช่น Wedding จะนำเสนอเมืองท่องเที่ยวที่สามารถจัดงานแต่งงาน มีแพ็คเกจสำหรับงานแต่งงาน หรือ Beaches & Islands นำเสนอเมืองท่องเที่ยวที่อยู่ชายทะเลหรือเป็นเกาะตามประเทศต่างๆ เป็นต้น

เวลาเราไปเที่ยวญี่ปุ่นเราไม่ค่อยได้แวะร้านเหล่านี้กันนักเพราะคนละวัตถุประสงค์ในการเดินทาง เรียกได้ว่า ไปเที่ยวคือไปเที่ยวจะมาแวะทำไม?? หลายคนอาจคิดในใจแบบนั้น…

ไม่เป็นไร วันนี้หยิบตัวอย่างโบรชัวร์มาให้ดูกันเบื้องต้นว่าในเล่มหน้าตาเป็นอย่างไร

จากภาพด้านบนมาจากโบรชัวร์รวมหลายประเทศในแถบบ้านเรา และแน่นอนมีส่วนของประเทศไทยที่นำเสนอที่พักในหลายแห่งที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวญี่ปุ่น เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต เกาะสมุย กรุงเทพ กระบี่เป็นต้น

ถ้าดูที่หน้าปกดีๆ เราจะสังเกตเห็นว่าโบรชัวร์นี้ออกมาสำหรับช่วงเดือนพฤศจิกายนปีนี้ถึงมีนาคมปี 2020 เท่านั้น เรียกว่าออกมาเป็นซีซั่น ซึ่งจะต่างจากทางยุโรปที่โบรชัวร์ออกมาล่วงหน้าเป็นปีหรือปีครึ่ง

แล้วโบรชัวร์ญี่ปุ่นต่างจากโบรชัวร์ฝรั่งอย่างไร?

ลองมาดูภาพต่อไปนี้กันค่ะ

สิ่งแตกต่างชัดเจนคือ ความละเอียดของข้อมูลโรงแรมแต่ละแห่ง เห็นได้จากพื้นที่ที่ให้แบบเต็มที่ ถ้าโรงแรมไหนเป็นที่นิยมจะมีรายละเอียดมากมายรวมไปถึงแบบแปลนพื้นที่สัดส่วนในห้องพักหรือในวิลล่ากันทีเดียว

นอกจากนี้ยังมีการแนะนำแพ็คเกจและโปรโมชั่นรวมถึงสถานที่แนะนำใกล้เคียงเพิ่มเติมอีกด้วย โบรชัวร์บางเอเย่นต์มีถึงขนาดถ่ายรูปเครื่องใช้ในห้องพัก หรือพวกอะเมนนิตี้มาให้ดูกันทีเดียว หรือของตกแต่งกระจุกกระจิกเล็กๆน้อยๆต่างๆ คนญี่ปุ่นก็ชอบเช่นกัน

การทำการตลาดญี่ปุ่นอาจไม่ใช่เรื่องง่าย อันเนื่องมาจากข้อจำกัดเรื่องภาษาที่จะใช้สื่อสารกัน เราจึงมักเห็นโรงแรมในระดับห้าดาวมักว่าจ้างตัวแทนการขาย หรือ Sales Representative ในประเทศญี่ปุ่นเพื่อทำหน้าที่ติดต่อกับเอเย่นต์ขนาดใหญ่ต่างๆในญี่ปุ่น หากได้เซ็นต์สัญญาทำธุรกิจร่วมกัน แต่ละรายจะมีเอเย่นต์ในประเทศไทยที่จะรับช่วงดูแลลูกค้าในระหว่างที่ส่งลูกค้ามาบ้านเรา

บางโรงแรมนอกจากจะว่าจ้างตัวแทนการขายในญี่ปุ่น ยังมีพนักงานชาวญี่ปุ่นหรือคนไทยที่สามารถพูดภาษาญี่ปุ่นได้เป็น Guest Service Agent ประจำที่โรงแรมเลยก็มี หากตลาดญี่ปุ่นเป็นตลาดที่สำคัญและมีสัดส่วนทางการตลาดในระดับต้นๆของโรงแรมนั้นๆ

สำหรับใครที่ยังไม่พร้อมที่จะออกมาทำตลาดในลักษณะนี้ หากสนใจตลาดนักท่องเที่ยวญี่ปุ่น อาจเริ่มจากชุมชนคนญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศไทย หรือผู้บริหารญี่ปุ่นที่ถูกส่งไปประจำในประเทศไทยก่อนก็ได้ค่ะ ลองเริ่มสัมผัสกับตลาดนี้ดูก่อนว่าเราจะสามารถรองรับ และรับรองลูกค้าได้อย่างประทับใจหรือไม่

ข้อสำคัญคือการให้บริการ ชาวญี่ปุ่นอาจไม่ตำหนิกับเราโดยตรงที่โรงแรม หรือเราสอบถามก็อาจจะบอกว่าทุกอย่างเรียบร้อยดี แต่จริงๆเขาอาจไม่พอใจก็เป็นไปได้ เพราะการสื่อสารที่ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง แต่ก็นับว่าเป็นอีกตลาดที่น่าสนใจและมีจำนวนนักท่องเที่ยวกลับมาพอสมควร

สุดท้าย ปีหน้าญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพโอลิมปิค 2020 จะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางเข้าญี่ปุ่นในช่วงกลางปี เราจะเตรียมพร้อมเพื่อให้จำนวนนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นยังคงเดินทางเข้ามาเที่ยวในบ้านเราเพิ่มขึ้นอย่างไร? ยังคงต้องคิดและเร่งลงมือต่อไป