


วันนี้อยากชวนให้โรงแรมใช้เวลาในการทบทวนการตลาดออนไลน์ การทำแคมเปญออนไลน์ การทำโฆษณาออนไลน์ ผ่านทาง Facebook ที่ผ่านมาเพื่อวิเคราะห์ว่าที่ผ่านมาโรงแรมใช้งบประมาณได้คุ้มค่าหรือไม่อย่างไรสำหรับคนที่ทำ ads เอง ส่วนโรงแรมไหนว่าจ้างบริษัท หรือ Freelance มาช่วยทำทั้งงานกราฟิก และการลงโฆษณาก็ควรทบทวนตัวชี้วัด หรือ KPI ที่กำหนดให้ในแต่ละช่วงเวลา หรือแต่ละโปรเจ็คให้ครอบคลุมและชัดเจนมากขึ้น
ก่อนอื่นเรามาดูกันก่อนว่าที่ผ่านมาโรงแรมขนาดเล็กถึงขนาดกลางมักใช้ช่องทางเพจ Facebook ในการสื่อสารกับลูกค้าอย่างไร
.
.
โรงแรมจะสร้างเพจและอัพเดทข้อมูลข่าวสารทั้งรูปภาพ และวิดีโอเผยแพร่ลงบนฟีดสัปดาห์ละ 2-3 ครั้งเป็นอย่างน้อย หรือมากกว่านั้น บางโรงแรมสามารถทำได้ทุกวันอย่างสม่ำเสมอ
สร้างบัญชี Facebook Ads เพื่อใช้ลงโฆษณาประชาสัมพันธ์แพ็คเกจต่าง ๆ ของโรงแรม เชื่อมกับระบบการจองของ Facebook หรือเชื่อมกับระบบการจองห้องพักของโรงแรม เพื่อเพิ่มยอดการจองตรง
การสร้าง Ads หรือชุดโฆษณา ด้วยแคมเปญต่าง ๆ กัน บางโรงแรมมีทีมงานผู้มีความชำนาญก็สามารถสร้างแคมเปญได้อย่างคล่องแคล่ว ใช้งานได้อย่างดี แต่บางโรงแรมที่ยังไม่คุ้นเคยกับระบบก็จะใช้การโพสบนหน้าฟีดเป็นหลัก ซึ่งอาจสร้างการเข้าถึงได้ไม่มากเท่าการลงโฆษณาที่ต้องใช้งบประมาณ
.
.
บางโรงแรม กด Boost Post เป็นหลัก แต่ฟังก์ชั่นในการกำหนดกลุ่มเป้าหมายและอื่น ๆจะไม่สามารถทำได้หลากหลายเหมือนกับการทำ Facebook Ads ทำให้งบประมาณที่ใช้ไปในการ Boost Post ดูเหมือนจะเสียเปล่า หรือไม่มีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ อาจไม่ค่อยได้มีการประเมินผลอย่างจริง ๆ จัง ๆ ว่าที่ลงโฆษณาไปได้ผลดีมากน้อยอย่างไร
การเข้าไปดู Insight หลังบ้าน ก็อาจไม่ได้ทำอย่างสม่ำเสมอจึงทำให้ไม่เข้าใจผลที่เกิดขึ้นว่าทำไมโพสหนึ่งจะได้รับการตอบรับดี ในขณะที่อีกโพสหนึ่งกลับมียอด Reach ที่ต่ำ



ถ้าโรงแรมที่ใช้ Facebook Ads ต้องการวัดผลให้ชัดเจนขึ้น โรงแรมควรทำอย่างไร ?
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจก่อนว่าโครงสร้างการทำแคมเปญโฆษณาบน Facebook เป็นอย่างไร
.
จากภาพข้างบนจะเห็นว่าแต่ละแคมเปญ โรงแรมสามารถสร้างชุดโฆษณาได้ และแต่ละชุดโฆษณาก็สามารถสร้างโฆษณาได้เช่นกัน เพราะฉะนั้น โรงแรมจึงสามารถวัดผลโฆษณาด้วยการสร้างชุดโฆษณาเพื่อนำมาเปรียบเทียบกันได้ หรือหากเข้าไปดูในระบบก็จะเห็นฟังก์ชั่น AB Testing
คำถาม – แล้วโรงแรมควรทำแคมเปญเพื่อเปรียบเทียบอะไรได้บ้าง ?
ก่อนที่จะไปถึงหัวข้อหรือประเด็นที่โรงแรมจะทำการเปรียบเทียบ โรงแรมควรตั้งเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ให้ชัดเจนก่อนว่าต้องการวัดอะไร และตัวชี้วัด หรือค่าที่จะใช้ชี้วัดคืออะไร เมื่อทราบเป้าหมายแล้วจึงค่อยพิจารณาว่าควรใช้ประเด็นไหนในการเปรียบเทียบ
ประเด็นที่สามารถเปรียบเทียบได้ มีดังนี้
- ภาพนิ่ง หรือวิดีโอที่ใช้ (Images/Videos)- ต้องการดูว่าการใช้ภาพที่แตกต่างกัน การนำเสนอด้วยวิดีโอที่แตกต่างกัน ภาพในสไตล์ไหนที่ลูกค้าให้ควาสนใจมากกว่ากัน วิธีการถ่ายวิดีโอแบบไหนที่ลูกค้าคลิกเข้ามาดูมากกว่ากัน
- งานกราฟิก (Graphic) – เช่นเดียวกับภาพนิ่งหรือวิดีโอ การใช้กราฟิกที่แตกต่างกัน ส่งผลอย่างไรกับจำนวนลูกค้าที่คลิกเข้ามาดู การวาง layout ต่างกัน ส่งผลอย่างไรต่อการตัดสินใจคลิกของลูกค้า
- วิธีการเขียน (Content/Copy style) – ต้องการวัดว่าเมื่อเปลี่ยนสไตล์การเขียนใหม่ ผลตอบรับแตกต่างกันอย่างไร เช่น เดิมใช้ข้อความสื่อสารกับลูกค้าในแบบค่อนข้างจะเป็นทางการ ต่อมาอยากวัดว่าเมื่อใช้การสื่อสารแบบเป็นกันเองมากขึ้น ลูกค้าสนใจแบบไหนมากกว่ากัน
- ช่องทางในการลงโฆษณา (Placements) – ต้องการเปรียบเทียบระหว่างการลงบน Facebook กับ Instagram ช่องทางไหนได้ผลดีกว่ากัน
- กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย (Targeting) – เปรียบเทียบผลตอบรับจากลูกค้า 2 กลุ่มที่แตกต่างกัน เช่น เคยทำแคมเปญกับกลุ่มอายุ 25-35 ปี แต่อยากทราบว่ากลุ่มอายุ 40+ สนใจโรงแรม และกิจกรรมของโรงแรมหรือไม่ อย่างไร
นอกจากนี้ก็ยังสามารถเปรียบเทียบอะไรก็ได้ที่คุณต้องการ ขอแต่เพียงตั้งเป้าหมายและการชี้วัดให้ชัดเจนว่าคุณต้องการวัดอะไร
ข้อควรระวัง
การจะเปรียบเทียบอะไรก็ตาม สิ่งที่ควรกำหนดให้เหมือนกัน คือ…
งบประมาณและระยะเวลาที่ใช้ในการลงโฆษณา
หากกำหนดงบประมาณที่ใช้บนโฆษณาที่ต้องการเปรียบเทียบ 2 ตัวแตกต่างกัน กรณีนี้ก็ชี้วัดไม่ได้เพราะถ้าโรงแรมทุ่มงบประมาณไปที่โฆษณาตัวใดตัวหนึ่ง แน่นอนผลที่ได้รับย่อมแตกต่างจากโฆษณาที่ได้งบประมาณน้อยกว่า และเวลาที่เหมาะสมคือไม่ควรน้อยกว่า 7 วันเพื่อให้เวลาระบบในการเรียนรู้และประเมินผลได้ หากกำหนดสั้นเกินไป ระบบยังไม่ทันได้เรียนรู้ เก็บข้อมูล และประมวลผล เพราะฉะนั้นผลที่ได้ก็จะไม่สามารถชี้วัดอะไรได้
.
.
.
สุดท้าย ในช่วงเวลาที่หลายโรงแรมปิดให้บริการ ลองเข้าไปดู Insight และรายงานบน Facebook Ads ของโฆษณาแต่ละตัวที่คุณใช้งบประมาณไปก้นดูนะคะ เพื่อที่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น คุณจะได้ลงโฆษณาได้ตรงเป้า โดนใจ ได้ผลชัดเจนมากขึ้นนะคะ