fbpx

Hotel Consulting

รู้ให้จริง ทำให้เป็น เรื่องโรงแรม

PersuativeArchitect

จะทำอย่างไรให้ลูกค้าสนใจโพสต์ของโรงแรมที่พักเราบนสื่อออนไลน์ เมื่อเราไม่เข้าใจ และไม่อาจจะเข้าใจกลไกในการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ในระบบของเฟสบุ๊ก หรือที่เรามักจะเห็นบทความหลายๆบทความพูดถึงคำว่า “อัลกอริธึ่ม” (Algorithm)

เรารู้แค่เพียงว่าเมื่อเฟสบุ๊กมีการปรับเจ้าอัลกอริธึ่มทีไร ผลที่เราได้รับจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันใดเสมอ โดยเราจะสังเกตได้จากจำนวนรีช (Reach) ที่ลดลงอย่างแสนสาหัส การเข้าถึงของลูกค้าเป็นไปได้ยากมากขึ้น ถึงแม้จะเลือก “See First” หรือเห็นโพสต์ของแบรนด์หรือสินค้าที่ลูกค้าชอบ ซึ่งก็มีข้อจำกัดให้แต่ละคนเลือกได้ไม่เกิน 30 เพจ

เมื่อลูกค้าเข้าถึงยาก เราเข้าถึงลูกค้ายากขึ้น ก็หมายความว่าโอกาสที่จะสร้าง Engagement ซึ่งได้แก่ การกดปุ่มไลก์ การคอมเม้นท์ การแชร์ ก็จะลดลงไปด้วย ถึงขนาดบางบล๊อกเกอร์ชื่อดังที่มีคนติดตามหลักหลายแสน รีวิวการท่องเที่ยวถึงขั้นออกปากว่าอยากจะปิดเพจกันเลยทีเดียว

แล้วเพจโรงแรมที่พักเล็กๆอย่างเราจะทำอะไรได้บ้าง?

ลองมาตั้งข้อสังเกตและเปรียบเทียบสิ่งที่มองเห็นและจับต้องได้ กับโลกออนไลน์ที่ว่าด้วยข้อมูลมหาศาล (Big Data) กันดูเป็นข้อ ๆ แล้วค่อยกลับมาที่ตัวเราว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง

  • เวลาที่เราไปเดินซื้อของที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตจะเห็นที่เคาน์เตอร์ชำระเงินจะมีขนมขบเคี้ยว ลูกอม อมยิ้ม ช็อคโกแลตวางอยู่ตรงสายพานที่วางของที่จะคิดเงิน สินค้าเหล่านี้เลือกที่จะวางให้อยู่ในระดับสายตาของเด็กๆที่มีความสูงประมาณเคาน์เตอร์ เพื่อให้เด็กๆสนใจ และร้องให้พ่อแม่ซื้อให้ ณ จุดที่ลูกค้ามีสิทธิ์เลือกสินค้าสุดท้ายก่อนเข้ากระบวนการชำระเงิน

นี่คือความตั้งใจที่เป็นการเชื้อเชิญและเชิญชวนที่เราเห็นและจับต้องได้ในชีวิตประจำวันที่ใกล้ตัวที่สุด และวิธีแบบนี้ก็ใช้ได้ผลดีในระดับหนึ่งทีเดียว…..เชื่อว่าถึงไม่ใช่เด็ก ก็มีหยิบลูกอม หมากฝรั่งติดไม้ติดมือกันบ้าง

  • ในโลกออนไลน์ เมื่อเราใช้ google ค้นหาสินค้าหรือบริการ สิ่งที่เราเห็นตามมาคือ สินค้าประเภทนั้นจะตามเราไปถูกที่ในรูปแบบของการโฆษณาเป็นป้ายแปะอยู่บนหน้าจอตามมุมต่างๆ หรือเงื่อนไขโปรโมชั่นตามเราไปทุกที่ ยิ่งเราใช้ข้อมูล ใส่ข้อมูลที่เราต้องการมากเท่าไหร่ ข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บไว้ และนำไปประมวลผลว่า เราชอบอะไร ไม่ชอบอะไร มีความโน้มเอียงที่น่าจะสนใจในเรื่องอะไร เช่น ถ้าเราค้นหาโรงแรมตามสถานที่ท่องเที่ยวตามจังหวัดต่างๆ พวก agoda หรือ booking ก็จะแสดงโรงแรมที่พักต่างๆในเมืองท่องเที่ยวนั้น ตามเราไปทุกที่ทันที เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้ก็เป็นรูปแบบของความตั้งใจโดยใช้ข้อมูลของเราที่ป้อนเข้าไปในโลกออนไลน์ ยิ่งใส่ข้อมูลมากเท่าไหร่ ระบบก็จะใช้ข้อมูลของเราไปหาผลประโยชน์มากขึ้นเท่านั้น

ถ้าเราลองคิดโดยเริ่มจากตัวเราว่า “แล้วอะไรที่ทำให้เราสนใจพวกป้ายโฆษณา คำเชิญชวนเหล่านี้” เราจะเห็นว่าสิ่งที่เราสนใจจะว่าด้วยการสื่อถึงอารมณ์ในเรื่องต่างๆ หรือเรื่องราวที่ว่าด้วยความรู้สึกดีๆ น่าประทับใจ หรือเรื่องราวที่ร่วมสมัยนิยม เพราะทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ตกเทรนด์ มีส่วนร่วมกับยุคสมัยในเรื่องต่างๆ

  • ภาพสวย
  • กราฟิกดี
  • สีสันสวยงาม
  • คำโดนใจ
  • คลิกเข้าไปแล้วมีเรื่องน่าติดตาม หรือมีเงื่อนไขดีๆ ไม่ซับซ้อน ไม่ยุ่งยาก
  • อยากรู้ว่าคืออะไร ก็คลิกไปเรื่อย

คราวนี้กลับมาที่โรงแรมที่พักของเรากันบ้าง เรามีคุณสมบัติตามรายการข้างต้นหรือไม่ ? หรือคุณเป็นแบบนี้

  • รูปก็ไม่สวย ถ่ายเอง ถ่ายไปเรื่อง ไม่มีหลักเกณฑ์ อ้าว…ก็โรงแรมเล็กๆ จะให้จ้างช่างถ่ายภาพเลยเชียวหรือ ? คงไม่ต้องหรอกมั้ง
  • กราฟิกไม่มีหรอก ทำกันเอง อย่างมากก็ใช้พาว์เวอร์พอยท์ หรือแอพง่ายๆในโทรศัพท์ทำกันเอง
  • สีสัน ….โอ๊ย….ไม่มีหลักเกณฑ์อะไร วันนี้อยากใช้สีอะไรก็ใช้ตามใจชอบ
  • คำโดนใจ  ….ก็ใช้ตามกระแสนิยมไปเรื่อยๆแหละ จะให้คิดอะไรล่ะ
  • ทำรูปเดียว คลิกไปก็ไม่มีอะไร จะให้คลิกไปเจออะไรล่ะ

แล้วจะให้ทำอย่างไร?

  1. อย่าเพิ่งกังวลกับจำนวนรีช จำนวนไลก์ จำนวนแชร์ ประเด็นนี้ถือเป็นปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ หากเราจะบริหารจัดการเองโดยไม่ได้จ้างผู้ช่วยชาญด้านการตลาดดิจิทัลมาช่วยทำงานให้เรา
  2. กลับมาถามตัวเองว่าอยากให้ลูกค้ารู้จักอะไรเกี่ยวกับโรงแรมที่พักของเรา
  3. รวบรวมรายการต่างๆที่เราอยากให้ลูกค้ารู้จักเรา
    • ประวัติความเป็นมา ทำไมถึงสร้างโรงแรมนี้
    • บรรยากาศรอบ ๆ โรงแรมมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง
    • ในโรงแรมที่พักของคุณมีอะไรที่น่าสนใจ ที่สำคัญอย่ามองข้ามเรื่องเล็กๆน้อยๆที่น่าประทับใจในโรงแรมที่พักของคุณ นอกเหนือจากความสะดวกสบายที่เรามีให้ลูกค้า
    • คน หรือทีมงานของเรา
    • ลูกค้าที่มีความประทับใจในบริการของเรา
  4. เงื่อนไข ข้อเสนอ โปรโมชั่นต่างๆ หรือสิ่งที่เรามีให้กับลูกค้า
  5. เส้นทางและกระบวนการจองห้องพัก สะดวกเพียงพอกับลูกค้าหรือไม่อย่างไร เคยทดลองทำบุ๊กกิ้งบนเว็บไซต์ของคุณเองหรือเปล่า  หรือเคยคุยไลน์กับทีมงานที่รับจองห้องพักของเราบ้างหรือเเปล่า ว่าพูดรู้เรื่อง เขียนรู้เรื่อง มีมารยาท โต้ตอบแบบมีกึ๋น นำเสนอทางเลือกให้ลูกค้าตลอดเวลาหรือเปล่า

เริ่มจาก 4-5 ข้อนี้ก่อน และนำมาจัดเรียง รวบรวมให้เป็นหมวดหมู่ เรียงลำดับการนำเสนอให้มีความต่อเนื่อง และลองถ่ายรูปประกอบในประเด็นต่างๆ นำมาเรียงร้อยกันว่าใช้ได้หรือไม่ น่าสนใจเพียงพอหรือไม่อย่างไร อาจให้หลายๆคนในทีมงานลองถ่ายรูป แล้วนำมาเปรียบเทียบกันว่ารูปไหนจะเข้ากับเรื่องราวของเรามากที่สุด

การเขียนที่เป็นธรรมชาติ ออกมาจากความรู้สึกร่วมที่เรามีต่อสถานที่แบบจริงๆ และถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือ ลูกค้าสามารถสัมผัสและรับรู้ได้ถึงความจริงใจ ความเป็นธรรมชาติ และความน่ารักของโรงแรมที่พักของคุณ 

และสุดท้าย เวลาที่คุณรู้สึกว่ารีชของคุณ “น้อย” จัง คุณเคยถามตัวเองหรือเปล่าว่า ธุรกิจที่พักขนาดเล็กของคุณต้องการจำนวนรีชเท่าไหร่ บางครั้งเราก็ลืมนึกถึงจุดนี้ไปบ่อยครั้งเหมือนกัน เช่น มีห้องพักแค่ 4 ห้อง ต้องการเข้าถึงคนหลักหมื่น เพื่ออะไร?  เราเลือกที่จะเข้าถึงกลุ่มที่เป็นลูกค้าเป้าหมายเราจริงๆ ชื่นชอบโรงแรมในบรรยากาศแบบที่เราเป็นจริงๆ  จำนวนไม่ต้องมาก แต่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง ไม่ดีกว่าหรือ