fbpx

Hotel Consulting

รู้ให้จริง ทำให้เป็น เรื่องโรงแรม

แผนการทำงานสำหรับโรงแรมอีก 6 เดือนข้างหน้า

ต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมาที่เราสรุปสถานการณ์โควิดและธุรกิจโรงแรมให้เห็นภาพว่าเป็นอย่างไร มาถึงกลางเดือนสิงหาคม 2564 ลองมาพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อการวางแผนการทำงานที่เหมาะสมสำหรับโรงแรมที่ยังเปิดให้บริการบางส่วน หรือโรงแรมที่ยังปิดให้บริการอยู่ในช่วงนี้กันค่ะ

  • ถ้านับไทม์ไลน์ในการตั้งเป้าเปิดประเทศใน 120 วันก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้า เราผ่านมาแล้วประมาณหนึ่งเดือนครึ่ง เหลือเวลาอีกประมาณ 2 เดือนครึ่ง ก็จะถึงต้นเดือนพฤศจิกายน 2564
  • ความรุนแรงของการระบาดยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลงถึงแม้ตัวเลขผู้ป่วยหายกลับบ้านจะสูงกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่มาได้เกือบหนึ่งสัปดาห์ แต่ตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ยังอยู่ในหลักสองหมื่นกว่า และผู้เสียชีวิตในแต่ละวันยังอยู่ในระดับที่สูง
  • โครงการภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์ที่ค่อย ๆ ขับเคลื่อนไปตามจังหวะและการผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ ก็ต้องมาชะลอตัวลงเพราะการแพร่ระบาดทำให้จังหวัดต้องบังคับใช้มาตรการเพื่อการลดความเสี่ยง ลดการแพร่กระจายกลับมาใช้ต่ออีกครั้ง

ดังนั้นในช่วงระยะเวลานี้ไปจนถึงอีก 6 เดือนข้างหน้า สิ่งที่โรงแรมควรจะทำได้แก่

1. แผนการบำรุงรักษาทรัพย์สินของโรงแรมทั้งในส่วนตัวอาคาร และระบบต่าง ๆที่ใช้ภายในโรงแรม

โดยทั่วไปแผนกช่างจะมีแผนบำรุงรักษาตามปกติ และแผนบำรุงรักษาตามระยะเวลาเพื่อลดความเสียหายให้กับอุปกรณ์และระบบต่าง ๆ ในโรงแรม แนะนำให้หยิบแผนเหล่านั้นออกมาพิจารณาทบทวนอีกครั้งว่าเราควรจะปรับแผนอย่างไรภายใต้สถานการณ์ของโรงแรมคุณ เช่น หากคุณยังเปิดให้บริการ 50% แผนการในดูแลบำรุงรักษาในส่วนที่เปิดให้บริการ และในส่วนที่ปิดให้บริการจะเป็นอย่างไร บนความถี่ที่เท่าไหร่ ต้องใช้อุปกรณ์เครื่องมือ น้ำยาทำความสะอาดชนิดต่าง ๆ เท่าไหร่ เพื่อประมาณตัวเลขค่าใช้จ่ายที่จะต้องใช้ทั้งเป็นก้อน และรายเดือนสำหรับ 6 เดือนข้างหน้า

ส่วนใครที่ปิดโรงแรม 6 เดือน – 1 ปี ก็เช่นกันการดูแลทรัพย์สินในช่วงที่ปิดโรงแรมจะทำอย่างไร ยิ่งในสภาพอากาศปัจจุบันที่มีความชื้นสูงจากฤดูฝนในหลายภูมิภาคของประเทศไทย แผนการทำงานต้องเข้มข้นมากขึ้นเพื่อลดความเสียหาย เช่น ความชื้นของพรม เชื้อราที่อาจจะขึ้นตามบริเวณต่าง ๆ ภายในห้องพัก การสลับกันเปิดหน้าต่างเพื่อระบายอากาศ การใช้เครื่องโอโซนในการอบห้องพักพร้อมใช้ผ้าพลาสติกคลุมเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ เป็นต้น

ทีมช่างที่ยังคงเหลืออยู่จะเข้ามามีบทบาท หรือหากจะใช้บริการจากบริษัทภายนอกก็ควรกำหนดกรอบในการทำงาน และงบประมาณให้

2. บริหารจำนวนทีมงาน

หากพิจารณากลุ่มตัวอย่างจากรายงานที่จัดทำร่วมกันระหว่างสมาคมโรงแรมไทยและธนาคารแห่งประเทศไทยจะเห็นว่าในจำนวนโรงแรมที่เปิดให้บริการปัจจุบันและไม่ได้ปรับโรงแรมเป็น ASQ นั้นจะมีอัตราการจ้างงาน 53% ของจำนวนแรงงานก่อนช่วงโควิด-19 ดังนั้นสำหรับโรงแรมขนาดเล็ก – ขนาดกลางที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสมาคมโรงแรมไทยที่ยังมีอีกเป็นจำนวนมากนั้นควรกลับมาประเมินสถานการณ์ตามข้อเท็จจริงของโรงแรมตนเอง

ถ้าแผนงานในอีก 6 เดือนข้างหน้ามีหัวข้อที่เกี่ยวข้องตามแผนภาพข้างต้น คุณควรจะจัดสรรกำลังคนอย่างไรให้เพียงพอกับปริมาณงานประเภทต่าง ๆ ภายในโรงแรมของคุณ

ส่วนสำหรับใครที่เพิ่งเริ่มลงทุนทำโรงแรม และกำลังเตรียมเปิดโรงแรมในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ กรณีนี้เป็นอีกประเด็นที่การจัดสรรทีมงานและกำลังคนต้องพิจารณาอีกแบบ แต่ทั้งนี้ไม่ควรนำปัจจัยเรื่องสถานการณ์และข้อจำกัดการเดินทาง รวมทั้งข้อกำหนดต่าง ๆ ของจังหวัด บวกกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของคุณในส่วนลูกค้าในประเทศและในพื้นที่ใกล้เคียงเป็นตัวแปรในการตัดสินใจ

3. การจัดสรรสภาพคล่อง

ต่อเนื่องจากข้อ 1 และข้อ 2 เมื่อรวบรวมตัวเลขค่าใช้จ่ายได้แล้วก็ลองมาจัดสรรและเรียงลำดับความจำเป็น ความสำคัญ ความยากง่ายภายใต้กรอบเวลา 6 เดือนข้างหน้า เพื่อที่คุณจะได้จัดสรรงบประมาณได้เหมาะสมมากขึ้น

สำหรับโรงแรมไหนที่มีภาระสินเชื่อกับสถาบันการเงินอยู่แล้ว การได้รับการลดหย่อนในเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินต้น อัตราดอกเบี้ย หรือการยืดระยะเวลาชำระหนี้ ให้เปิดตารางเอ๊กซ์เซลขึ้นมาหยอดตัวเลขภาระหนี้ที่มีปัจจุบันตั้งเป็นหลักไว้ก่อน แล้วค่อยตามด้วยตัวเลขประมาณการค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้า แล้วมาเทียบกับเงินทุน หรือความต้องการเงินทุนเพื่อสนับสนุนว่าจะสามารถนำมาจากแหล่งใดได้บ้าง ภายใต้เงื่อนไขอะไร แล้วจึงใส่ตัวเลขเข้าไปเพื่อให้คุณเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นนะคะ

4. ทางเลือกอื่น ๆ

ถ้าย้อนกลับไปเมื่อโควิด-19 รอบที่สอง เราเห็นประกาศขายกิจการประเภทโฮสเทลมากขึ้น และเชื่อว่าหากสถานการณ์ยังไม่กระเตื้องขึ้นเราก็ยังคงเห็นการประกาศขายกิจการเพิ่มขึ้นในขนาดธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นเช่นกัน

นั่นหมายถึงผู้ประกอบกิจการเหล่านั้นเขาได้ประเมินในหลาย ๆ ด้านแล้ว หรือเขามี Exit Plan ที่เตรียมไว้และถึงเวลาที่ต้องนำขึ้นมาใช้ กรณีนั้นก็เป็นทางเลือกของโรงแรม

แต่ถ้าไม่พูดถึง Exit Plan การพิจารณาทางเลือกอื่น ๆ ในการบริหารทรัพย์สินที่มีอยู่มีอะไรเป็นทางเลือกได้อีก อาจจะต้องเรียกหุ้นส่วนเข้ามาช่วยกันระดมสมองเพราะข้อจำกัดและปัจจัยของแต่ละกิจการแตกต่างกัน ใครจะตัดสินใจอย่างไรขึ้นอยู่กับความจำเป็นเร่งด่วนของแต่ละบุคคลแต่ละกิจการ

.

.

.

ลองหยิบกระดาษขึ้นมาขีดเขียนความคิดและทางเลือกที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ลองหยิบกระดาษขึ้นมาขีดเขียนแผนงานในอีก 6 เดือนข้างหน้าและประเมินความเสี่ยงและความเป็นไปได้

.

.

อย่าอ่านแล้วผ่านไป

การเขียนจะทำให้คุณเห็นภาพมากขึ้น

และการเขียนในแต่ละวัน การปรับภาพในแต่ละวันจะทำให้คุณตกผลึกได้ดีขึ้น

.

.

เป็นกำลังใจให้ผู้ประกอบการโรงแรมทุกท่านค่ะ